วิรัตน์ แสงทองคำ : เรื่องของสอง “เจริญ”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ในสังคมธุรกิจไทยเวลานี้ คงไม่มีความเคลื่อนไหวใดคึกคักเช่นเรื่องราวเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี

กับกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี

ซีพีปรับโครงสร้างบริหาร

ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำซีพีแห่งยุค เพิ่งได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทสำคัญแห่งสุดท้ายในเครือซีพีที่เหลืออยู่

“ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 รับทราบการลาออกของกรรมการบริษัท 2 ท่าน คือนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และนายสุภกิต เจียรวนนท์ กรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2562 พร้อมแต่งตั้งนายศุภชัย เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2562” บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เรื่องราวนั้นเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เครือซีพี ตั้งแต่ต้นปี 2562

ธนินท์ เจียรวนนท์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทแกนของธุรกิจหลักสำคัญทั้ง 3 แห่ง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อเนื่องจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF (24 เมษายน 2562) และบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด หรือ CPALL (9 พฤษภาคม 2562)

ซีพียุคธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดฉากขึ้นอย่างจริงจังราวๆ 4 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อเขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำ นำพาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างมหัศจรรย์ อย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเมื่อเขากำลังเข้าสู่วัย 80 ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ การปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ด้วยการส่งต่ออำนาจการบริหารเชิงสัญลักษณ์ให้กับบุตรทั้งสาม ด้วยการก้าวจากตำแหน่งประธานเครือซีพีไปเป็นประธานกิตติมศักดิ์

เมื่อผ่านอีกช่วงหนึ่งเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งบริหารในกิจการหลักๆ ถือเป็นความตั้งใจครั้งสำคัญ ส่งผ่านอาณาจักรธุรกิจใหญ่สู่รุ่นที่สามอย่างจริงจัง

 

ทีซีซีเข้าตลาดหุ้นไทยครั้งสำคัญ

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กิจการหลัก หนึ่งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี ดำเนินธุรกิจโรงแรมและการบริการ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้ยื่นข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการตามขั้นตอนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (11 มิถุนายน 2562)

สาระสำคัญในข้อมูลนำเสนออย่างคร่าวๆ ระบุว่า AWC ถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางเมือง มีโรงแรมเปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง จำนวน 3,432 ห้อง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนา 5 แห่ง จำนวน 1,528 ห้อง

และอ้างว่าได้เซ็นสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่งเพื่อพัฒนาในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โดยรวมข้อมูลโรงแรมที่มีอยู่มากถึง 8,000 ห้อง

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีพื้นที่รวมกันราว 6 แสนตารางเมตร แบ่งเป็นกิจการค้าปลีก 10 โครงการ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย ที่สำคัญคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เกตเวย์ แอท บางซื่อ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

ส่วนสำนักงานมีทั้งสิ้น 4 โครงการ พื้นที่รวม 2.7 แสนตารางเมตร โครงการสำคัญๆ คือ เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และแอทธินี ทาวเวอร์

กลุ่มทีซีซีกับตลาดหุ้นไทย อาจกล่าวได้ว่ากรณีบริษัท แอสเสท เวิรด์ฯ ถือเป็นกรณีแรกตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2540

กรณีแรกซึ่งดำเนินการเองเพื่อนำกิจการในเครือข่ายเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากความพยายามครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในกรณีบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ในราวปี 2548 ด้วยเผชิญกระแสต้าน จนต้องหันเหนำเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน

อันที่จริงกลุ่มทีซีซีมีกิจการในเครือข่าย เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเกือบๆ 10 แห่ง แต่ทั้งนี้เป็นกิจการซึ่งกลุ่มทีซีซีได้มาภายหลังด้วยการเข้าครอบงำ (takeover) กิจการเหล่านั้น มีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

ผู้คนซึ่งช่างสังเกตกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ทั้งซีพีและทีซีซีข้างต้น เกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (อันที่จริงคือคนเก่า) เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 อย่างเป็นทางการ (เมื่อ 9 มิถุนายน 2562)

อาจตีความได้ว่า ทั้งซีพีและทีซีซีมีความมั่นใจในสถานการณ์ สถานการณ์ซึ่งเอื้ออำนวย ทั้งต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

โดยเฉพาะยิ่งเชื่อว่าเป็นช่วงสถานการณ์สร้างความมั่นใจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นตลาดอ่อนไหว ผันแปรตามสถานการณ์อย่างยิ่ง

หากย้อนมองกลับไป สำหรับซีพีและทีซีซีในสังคมไทยแล้ว โดยเฉพาะอ้างอิงกรณีและดีลสำคัญ น่าจะมีบทสรุปว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมไทยจะเป็นอย่างไร ทั้งสองเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยก็สามารถข้ามขี่ผ่านมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษแห่งความผันแปรทางการเมืองที่ผ่านมา

 

ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร( 2544-2549)

ในช่วงปลายๆ รัฐบาล ภายใต้สถานการณ์ผันแปร ทั้งสองเครือข่ายธุรกิจใหญ่มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอย่างน่าสนใจ

ซีพีเดินหน้า สร้างภาพยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจสื่อสารกระจ่างขึ้น (ปี 2547) เมื่อผู้ร่วมทุนต่างชาติถอนตัว หลังการปรับโครงสร้างหนี้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นทรู (TRUE) ด้วยกระบวนการสร้างแบรนด์ใหม่ พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสื่อสารครบวงจร (ปี 2549) ควบรวมกับธุรกิจสื่อสารไร้สายจึงเปลี่ยนชื่อเป็น TRUE MOVE และทีวีแบบบอกรับ (ปี 2550) เปลี่ยนชื่อเป็น TRUE VISION

อีกด้านหนึ่งการผนึกกำลังธุรกิจดั้งเดิมอย่างเป็นกระบวนภายใต้ CPF เดินหน้ามาถึงจุดสำคัญ เปิดฉากผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานสร้างแบรนด์ CP (ปี 2549) เข้าสู่ตลาดผู้บริโภค

ทีซีซี ก็เดินหน้าเช่นเดียวกัน ปรับโครงสร้างธุรกิจ ผนึกรวมกิจการซึ่งมาจากกระบวนการเจข้าครอบงำ (Merger&Acquisition) สร้างโฮลดิ้งคัมปะนี พร้อมๆ กับทายาททยอยเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร

ที่สำคัญได้นำบริษัทสำคัญ-ไทยเบฟเวอเรจ เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (ปี 2549)

 

ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง (2549-2557)

หลังการรัฐประหารครั้งหนึ่งได้มาซึ่งรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ (วาระ : 2549-2551) สู่การเลือกตั้งทั่วไปอันสับสนวุ่นวายเป็นระยะๆ มีรัฐบาลอายุสั้นๆ จากสมัคร สุนทรเวช (29 มกราคม-9 กันยายน 2551) และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (18 กันยายน-2 ธันวาคม 2551) ก่อนมาสู่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554)

เลือกตั้งอีกครั้งได้มาได้ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2554-2557) มาสักพักหนึ่ง วงจรวุ่นวายยิ่งเพิ่มขึ้น ก่อนจะมาถึงการเกิดรัฐประหารอีกครั้ง

เครือซีพีเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้สมมุติฐานความเชื่อมั่นสังคมไทย CPF เข้าถือหุ้นใหญ่ C.P.Pokphand หรือ CPP บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (ตั้งแต่ปี 2531)

ในแผนการผนวกธุรกิจหลักของ CPP อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม เข้าเป็นเครือข่ายธุรกิจอาหารชั้นนำของโลก ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ธุรกิจสำคัญ วางรากฐานในฐานะบริษัทไทยอย่างมั่นคง (ปี 2554)

ตามมาด้วย CPALL ธุรกิจค้าปลีกเครือซีพี เปิดดีลสำคัญ ซื้อเครือข่าย Makro ในประเทศไทยด้วยมูลค่าสูงเกือบ 2 แสนล้านบาท (ปี 2556)

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทีซีซีสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ซื้อกิจการในระดับภูมิภาค เข้าถือหุ้นใหญ่ Fraser and Neave หรือ F&N แห่งสิงคโปร์ (ปี 2556) ในบางมิติบางคนอาจตีความว่าเพื่อก้าวพ้นสังคมไทยอันวุ่นวาย ทว่าความเป็นไปจากนั้นมา ผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างจาก F&N ได้ทยอยมาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย

 

ช่วงรัฐบาลทหาร (2557-ปัจจุบัน)

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 จากกระบวนการรัฐประหาร รัฐบาลซึ่งสร้างบุคลิกพิเศษบางอย่าง โดยเฉพาะสร้างโมเดลความร่วมมืออย่างเฉพาะเจาะจง ระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจ เรียกกันว่าสานพลังประชารัฐ (ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้มาแล้ว หากสนใจโปรดหาอ่านในมติชนสุดสัปดาห์ในช่วงปี 2561)

ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจสำคัญ ซีพีมุ่งหน้าสู่ก้าวสำคัญในความพยายามจากผู้ตาม จะเป็นผู้นำในธุรกิจสื่อสาร ด้วยการร่วมประมูลครั้งใหญ่ ประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือที่เรียกว่า 4G) ทรูสามารถคว้าใบอนุญาต ได้ทั้งย่านความถี่ 900 และ 1800 MHz ด้วยต้นทุนที่สูงเอาการ (ปี 2558)

แผนการทุ่มทุนร่วมมือกับรัฐบาลยังคงเป็นไป จนจวบช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังมาถึง ในโครงการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบ (28 พฤษภาคม 2562)

ฝ่ายทีซีซีย่อมไม่น้อยหน้า มีโครงการ มีแผนการ มีดีลสำคัญๆ เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่น้อยเช่นกัน

ขยายเครือข่ายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอย่างเต็มตัว ด้วยการซื้อกิจการ BigC จากกลุ่ม CASINO แห่งฝรั่งเศส ใช้เงินไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท (ปี 2559)

ต่อด้วย One Bangkok โครงการใหญ่ (เปิดตัว 2560) ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม บนพื้นที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ ที่ตั้งเดิมโรงเรียนเตรียมทหาร และสวนลุมไนท์บาซาร์ พื้นที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คาดกันว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

ภาพข้างต้น แค่ฉากใหญ่ๆ มีฉากย่อยประกอบอีกไม่น้อย เรื่องของเรื่องสอง “เจริญ” คงจะมีอีก มีอย่างต่อเนื่อง อย่างมิพักต้องสงสัย

โปรดติดตามตอนต่อไป