ธงทอง จันทรางศุ | สหชาติของผม

ธงทอง จันทรางศุ

มีความลับที่ปิดบังมาเป็นเวลานานแล้วและขออนุญาตเปิดเผยคราวนี้ว่า ผมเป็นคนเกิดเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2498 ก่อนยุคกึ่งพุทธกาลเล็กน้อย

และผมมีสหชาติที่เกิดเดือนเดียวกัน ปีเดียวกันอยู่หนึ่งราย แต่ไม่ได้เป็นคนนะครับ

สหชาติของผมเป็นโทรทัศน์

ขยายความอีกหน่อยหนึ่งว่า การแพร่ภาพทางโทรทัศน์ให้ประชาชนได้รับชมทั่วไปในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2498 ซึ่งครั้งนั้นกำหนดเป็นวันชาติไทย ผู้ดำเนินการคือบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด หมายเลขช่องโทรทัศน์เวลานั้นคือช่อง 4 มีที่ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่งของวังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในเวลานี้

นี่แปลว่าผมแก่กว่าโทรทัศน์ของเมืองไทยประมาณสองสัปดาห์เศษ

เรียกว่าคุ้นกันมาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว

แน่นอนว่าโทรทัศน์ไม่ใช่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย หากแต่เป็นเรื่องที่ฝรั่งเขาคิดกันมาแต่ก่อน

ในราวปีคริสต์ศักราช 1925 ตรงกันกับปีแรกแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ผู้ที่ทรงสนพระทัยในเรื่องนี้เป็นพระองค์แรกคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

เจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นทหารช่างและทรงใส่พระทัยในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น วิทยุกระจายเสียง การถ่ายภาพยนตร์ การถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องแบบต่างๆ

แต่ความสนพระทัยนี้ก็ยังไม่คืบหน้าไปข้างไหน

พอดีเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน เรื่องจึงค้างคาอยู่เพียงนั้น

อีกประการหนึ่งผมคิดว่าเทคโนโลยีเรื่องโทรทัศน์นี้ในยุคเริ่มต้นก็คงยังมีราคาสูง และมีข้อจำกัดหลายอย่าง

การที่จะด่วนรับวิทยาการเรื่องนี้เข้ามาในเมืองไทยของเราเห็นจะเกินกำลังของเรา

เรื่องจึงรั้งรอต่อมาอีกยี่สิบกว่าปี หลังจากตระเตรียมความพร้อมกันมาหลายยก

ในที่สุดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2498 ดังที่ผมว่ามาแล้วข้างต้น

และถัดมาอีกไม่ถึงสามปี ในวันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2501 สถานีโทรทัศน์แห่งที่สองก็เกิดขึ้น

คราวนี้ใช้หมายเลขช่องว่า ช่อง 7 มีที่ตั้งอยู่ตรงสนามเป้า ถนนพหลโยธิน

โดยแบ่งใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของหน่วยทหารม้าที่ตั้งอยู่แล้วตรงนั้นมาเป็นที่ตั้งของสถานี

ตอนที่จะมีโทรทัศน์เกิดขึ้นในเมืองไทย มีปัญหาว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไรดี

เพราะภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Television แถมมีคำเรียกย่อว่า TV แรกทีเดียวมีความเห็นว่าน่าจะเรียกว่าวิทยุภาพหรือวิทยุโทรภาพ

แต่ในที่สุดพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงคิดศัพท์ประทานว่า “วิทยุโทรทัศน์”

อยู่ไปนานวันเข้าก็เหลือแต่คำว่าโทรทัศน์ แถมคำย่อก็เรียกทับศัพท์ว่า ทีวี ดังที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้

โทรทัศน์ทั้งสองช่องคือช่องสี่บางขุนพรหมและช่องเจ็ดสนามเป้าแพร่ภาพเป็นภาพขาวดำ และไม่ได้ออกอากาศกันทั้งวันทั้งคืนมากมายอย่างเดี๋ยวนี้นะครับ

เท่าที่ผมพอระลึกนึกได้ เขาออกอากาศเป็นเวล่ำเวลา

วันปกติก็เริ่มออกรายการตอนบ่ายแก่ กะว่าเด็กกลับมาจากโรงเรียนแล้ว ผู้ใหญ่กลับจากทำงานถึงบ้านแล้ว ก็ดูโทรทัศน์กันเรื่อยไปจนถึงดึกพอสมควรแก่เวลาก็ปิดสถานี

ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ก็มีการออกรายการตั้งแต่ช่วงเช้าเรื่อยไปจนเย็นจนค่ำ

มีแถมพิเศษอีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม จะมีรายการโทรทัศน์เอาใจเด็กโดยออกอากาศตอนช่วงกลางวันตั้งแต่สายไปจนถึงบ่ายต้น แล้วหยุดพัก รอออกอากาศอีกทีหนึ่งตอนเย็น โดยกลับเข้าสู่รายการปกติ

แล้วก็ว่ากันยาวไปจนปิดสถานี

นี่ว่าทางฝ่ายผู้ออกอากาศ

กลับมาดูทั้งฝ่ายผู้รับชมรายการกันบ้าง เครื่องรับโทรทัศน์ในยุคแรกนั้นมีขนาดใหญ่โตพอสมควร

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือมีราคาพอสมควรด้วย

ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโทรทัศน์ไว้ดูเล่นได้ บ้านที่มีโทรทัศน์ต้องเป็นคนมีสตางค์พอสมควรเลยทีเดียว

บางบ้านใจดี มีโทรทัศน์แล้วก็ยอมให้เพื่อนบ้านมาดูโทรทัศน์ร่วมกันด้วย

ประมาณว่าแบ่งปันสมานฉันท์อะไรทำนองนั้น

รายการโทรทัศน์มีทั้งที่ผลิตเองโดยสถานี และผู้ผลิตภายนอกที่เข้ามาเป็นผู้จัดรายการ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศ

เช่น เป็นหนังภาพยนตร์จากญี่ปุ่นหรือหนังฝรั่ง

มาถึงเมืองไทยแล้วญี่ปุ่นกับฝรั่งก็พูดไทยปร๋อ เพราะจะมีการพากย์ภาษาไทยทับเสียงภาษาต้นฉบับตั้งแต่ต้นจนจบ

รายการที่ผลิตโดยสถานีหรือผู้ผลิตภายนอกมีนานาสารพันชนิด ไม่ว่าจะเป็นละคร การแสดงนาฏศิลป์ รายการสาระบันเทิงต่างๆ เช่น รายการสัมมนานักสืบของช่องเจ็ด ที่ไปเชิญผู้มีชื่อเสียงมาเป็นนักสืบซักไซ้ไล่เลียงปรัศนี ผู้มีอาชีพแปลกๆ

ปรัศนีนั้นก็มีทั้งตัวจริงตัวปลอม ตอนขมวดจบรายการนักสืบก็ต้องทายว่าใครคือตัวจริงกันแน่

รายการแบบนี้ในยุคหลังผมก็เห็นว่ามีอยู่บ้างในโทรทัศน์บางช่อง แต่ความเข้มข้นมันแตกต่างกัน

นักสืบสมัยก่อนท่านมีความรู้ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนตึงเครียด

คำถามคำตอบจึงประเทืองปัญญาและน่าฟัง

ขณะที่รายการยุคหลังมาเน้นความเฮฮาเสียมากกว่า

พอเน้นเฮฮาปัญญาก็ไม่ค่อยเกิด ของอย่างนี้มักเป็นปฏิภาคผกผันกันอยู่เสมอ

ลองคุยถึงเรื่องรายการละครบ้างไหมครับ การถ่ายทำละครนอกสถานที่แล้วบันทึกเป็นเทปมาฉายออกอากาศในรายการโทรทัศน์นั้นเป็นเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ยังไม่มีใครรู้จัก

ละครโทรทัศน์ยุคนั้นหมายถึงละครที่เล่นกันสดๆ ในสถานี

ฉากก็สร้างขึ้นในห้องส่งนั้นเอง ถ้ามีหลายฉากก็ต้องแบ่งห้องส่งเป็นหลายมุม จัดพื้นที่ให้เพียงพอก็แล้วกัน พระเอกนางเอกตัวประกอบทุกคนมาพร้อมกันหมดในเวลาออกอากาศ ไม่ได้ออกอากาศทีละคิวสองคิว

แถมยังมีคนคอยบอกบทเพื่อช่วยประคับประคองตัวละครที่ไม่สามารถจำบทได้คล่องแคล่วแม่นยำให้สามารถแสดงได้ตลอดรอดฝั่ง

คนบอกบทนี้ต้องออกเสียงดังพอที่ตัวละครจะได้เห็นและนำไปใช้ประโยชน์ได้

แต่ก็ไม่ควรดังเกินไปจนกระทั่งเสียงมาเข้าไมโครโฟน และคนทางบ้านสามารถเล่นละครได้พร้อมกับตัวละครในทีวี แบบนั้นจะสนุกมากเกินไปเสียละกระมัง

นี่แหละครับบรรยากาศการดูทีวีตอนผมเป็นเด็ก โทรทัศน์สีนั้นตามมาทีหลังราวพุทธศักราช 2513 เห็นจะได้

และเป็นต้นกำเนิดของช่องสามกับช่องเจ็ดในปัจจุบัน

ส่วนสองช่องที่มีมาแต่ก่อนก็ปรับเลขช่องกันใหม่ ช่องสี่บางขุนพรหมย้ายไปเป็นช่องเก้า ช่องเจ็ดสนามเป้าย้ายมาเป็นช่องห้า

แถมยังมีช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมาอีกช่องหนึ่ง

คราวนี้คงจำกันได้แล้วนะครับว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่โทรทัศน์บ้านเรามีห้าช่อง เป็นเลขคี่เรียงกันตั้งแต่ช่องสามไปจนถึงช่อง 11

หากจะให้ผมลำดับความเป็นรายละเอียดวิวัฒนาการของกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ก็เห็นจะเกินความจำเป็น

และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือจะเกินความสามารถของผมไปด้วย เอาแต่พอโดยสรุปว่า จากเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2498 มาจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 เป็นเวลา 64 ปีบริบูรณ์ โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายในทุกมิติ โทรทัศน์พบกับคู่แข่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน โทรทัศน์ดิจิตอลหลายช่องล้มหายตายจากไปก่อนวัยอันสมควรภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

อย่าว่าแต่คนอื่นคนไกลเลยครับ ทุกวันนี้ผมเองก็ดูโทรทัศน์น้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก

ข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงได้ย้ายไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือแบบใหม่หลายชนิด

รายการโทรทัศน์บางรายการที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็สามารถดูย้อนหลังได้ ไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้นอย่างแต่ก่อน

สำหรับคนวัย 64 ปีอย่างผม จะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใดแค่ไหนก็ไม่น่ากังวลนัก ลำพังตัวคนเดียวเห็นจะพอเอาตัวรอดอยู่ เป็นห่วงอยู่ก็แต่สหชาตินี่ล่ะครับ จะรอดไปได้สักกี่น้ำก็ไม่รู้

เอาใจช่วยทุกช่องทุกคนนะครับ อย่างไรเสียโทรทัศน์ก็เป็นเพื่อนเล่นของผมมาตั้งแต่เด็กๆ

รักนะ จุ๊ฟๆ