เทรนด์ฮ็อตมาแรง รับปีระกา เปิดวาร์ปฝ่าหลุม ศก. ไทยก้าวข้าม…โตต่ำ โตช้า

เทรนด์ฮ็อตมาแรง รับปีระกา เปิดวาร์ปฝ่าหลุม ศก. ไทยก้าวข้าม…โตต่ำ โตช้า

หลังจากปีลิง 2559 อันเต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ผ่านไป

ปีไก่แข็งขัน 2560 ก็เคลื่อนเข้ามา พร้อมความคาดหวังว่า เศรษฐกิจไทยปีระกาจะกลับมาฟื้นตัวสดใสเสียที

เมื่อดูจากการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประมาณการจีดีพีปี 2560 อยู่ที่ 3-4% หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเติบโต 3.2%

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยและสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินเท่ากันว่าจะขยายตัว 3.3% แล้ว

ถ้าดูจาก “ตัวเลข” บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องจากจีดีพีระดับ 0.8% ในปี 2557 มาเป็น 2.8% และ 3.2% ในปี 2558 และ 2559 ซึ่งน่าจะเป็นโมเมนตัมที่ดีสำหรับเศรษฐกิจปี 2560

แต่อย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยเคยมีศักยภาพการขยายตัวได้ถึง 4-5%

แล้วเราจะพึงพอใจกับการขยายตัวเพียง 3% ต้นๆ เท่านั้นหรือ

เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังไม่ได้พ้นบ่วง “โตช้า โตต่ำ” ภาคธุรกิจก็ยังต้องเหนื่อยกันต่อไปอีกปี แต่ในทุกความยากลำบาก ย่อมมีโอกาสให้แสวงหา

ดังนั้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวน ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งปี 2560 ประเทศไทยจะอยู่ในขั้นตอนเตรียมการสู่กฎกติกาใหม่ รองรับการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัชสมัยใหม่ ซึ่งทุกคนทราบดีนั้น การมองหาโอกาสเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว เท่าทัน และชิงจังหวะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ฉายภาพกระแสใหม่ หรือ 10 Trend มาแรงปี 2560 ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นกระแส “ปกป้องทางการค้า” ที่ประเทศต่างๆ จะนำมาใช้กันมากขึ้น โดยมี “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถเอาชนะเลือกตั้งด้วยแนวคิด “อเมริกัน เฟิร์สต์” เน้นปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหัวหอก รวมถึงกรณีอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) กระแสปกป้องการค้านี้จะทำให้แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศชะลอลง

เมื่อการค้าโลกชะลอลงจากมาตรการปกป้องทางการค้าที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ยุทธศาสตร์ด้านการค้าของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจึงต้องเปลี่ยนไปใช้ “การลงทุนนำการค้า” (Investment-induced Trade) เน้นขยายการลงทุนและสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อเจาะตลาดและสร้างช่องทางการค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น

ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนไป เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงแน่ๆ คือ “การค้าขายบนอินเตอร์เน็ต”

จากเมื่อปี 2559 อี-คอมเมิร์ซของไทยมีมูลค่าสูงถึง 40% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเกิน 50% ในอีกไม่ช้า

เช่นเดียวกับ “ฟินเทค” เทคโนโลยีทางการเงิน อาทิ อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจแทนการใช้เงินสดๆ ในรูปแบบเดิมมากขึ้น

และที่กำลังมาแรงทั่วโลกก็คือ การทำธุรกิจในรูปแบบของการ “แบ่งปัน” ผ่านช่องทางออนไลน์ (Sharing Economy) อาทิ อูเบอร์ (บริการรถ) Airbnb (ที่พัก) และ Kickstarter (ตัวกลางระดมทุน) ซึ่ง PwC บริษัทวิจัยชั้นนำคาดว่ามูลค่าธุรกิจ Sharing Economy ในปี 2568 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับปี 2557

ขณะที่กลยุทธ์ในการผลิตสินค้า และบริการจะมุ่งสร้างความหลากหลาย (Business Ecosystem) เชื่อมโยงระหว่างสินค้าและบริการต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ แอปเปิ้ล ที่มีทั้ง ไอพอด ไอโฟน ไอแพด และแม็คบุ๊ก

 

ทางด้านธนาคารเพื่อการส่งออก หรือ เอ็กซิมแบงก์ ชี้ให้เห็นด้วยว่าในปี 2560 นี้ในภาคอุตสาหกรรม จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทรนด์ใหม่ๆ ได้แก่ การนำหุ่นยนต์, โดรน และออโตเมชั่น มาใช้มากขึ้นในกระบวนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ช่วยลดต้นทุนการผลิต สอดคล้องไปกับกระแสความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

และหากมองในระดับผู้บริโภค ก็มีเทรนด์ของผู้บริโภคที่จะมาแรงในปี 2560 ได้แก่

“สมาร์ต ไลฟ์สไตล์” Smart Lifestyle เพื่อตอบสนองยุคสังคมเมือง (Urbanization) เติบโตขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องเร่งรีบมากขึ้น อาทิ การสั่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ การอ่านนิตยสารผ่านอี-บุ๊ก การเรียกรถโดยสารผ่านแอพ

และที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือ ผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

เมื่อประมวลแนวโน้ม (ด้านดี) ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ ดร.สมคิด จาตรุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มองภาพประเทศไทยในปี 2560 ว่าจะสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน

ด้วยปัจจัยทั้งการลงทุนของรัฐ การลงทุนของเอกชน การบริโภค และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ราคาสินค้าเกษตร การส่งออก และงบประมาณที่เพียงพอต่อการประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น จะเป็นอานิสงส์ให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้

ขณะที่คลื่นลูกใหม่ๆ ที่หมายมั่นปั้นมือกันมานานอย่าง “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” หรือ creative economy เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เริ่มผลิดอกออกผล

ว่ากันว่าเฉพาะเชียงใหม่ที่เดียวกระแสนี้ปกคลุมไปทั่วทั้งพื้นที่ กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเรื่องนี้อย่างเต็มตัว

 

เช่นเดียวกับกระแส “สตาร์ตอัพ” จะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในอนาคต ถ้าทำให้ดีๆ เมืองไทยมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดเช่นกัน เพราะเป็นแนวทางที่เปิดกว้างให้กับทุกๆ คน โดยมีธุรกิจใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยง เป็นแหล่งทุนสนับสนุน ช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ มีโอกาสแจ้งเกิด

เมื่อมองจากว่า โทรศัพท์มือถือ 4จี ที่เกิดขึ้นทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างรวดเร็ว พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์เกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง

เพราะฉะนั้น อย่าได้ดูแคลนคลื่นลูกใหม่เหล่านี้เป็นอันขาด

อะไรก็เกิดขึ้นได้ในปี 2560 นี้ และอาจเป็นจุด “พลิกฟื้น” ของเศรษฐกิจไทยก็เป็นได้