ชนชั้นนำและแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : องค์ประกอบ โครงสร้าง และพลวัตในยุคเปลี่ยนผ่าน (1)*

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

กรอบคิดและโจทย์วิจัย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political change) ต่อเนื่องและหลายรูปแบบ กัมพูชามีการเลือกตั้งทั่วไป (28 กรกฎาคม 2013) มาเลเซีย (16 เมษายน 2018) ไทย (24 มีนาคม 2019) อินโดนีเซีย (9 พฤษภาคม 2019) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีการประชุม 12th National Congress 20-28 มกราคม 2016 การเลือกตั้งและประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายรูปแบบ

กล่าวคือ มีทั้งการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง รวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดีย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อโครงสร้างทางการเมืองและชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน โดยที่ผู้ใช้แรงงานมีอยู่ถึง 350 ล้านคน แรงงานจึงเป็นทั้งกำลังการผลิต คนชายขอบที่สะท้อนความด้อยสิทธิทางการเมืองและสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีผู้ศึกษาน้อย

ชุดโครงการวิจัยนี้จึงพยายามแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับบทบาทของชนชั้นนำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งพยายามหาจุดวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relation) ระหว่างขบวนการแรงงานกับรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อำนาจนิยม เสรีนิยมใหม่ และชนชั้นนำ

เรื่องชนชั้นนำ (Elite) ทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาทางรัฐศาสตร์มาโดยตลอด ผลงานการศึกษาเรื่องนี้ในยุคร่วมสมัยมีเป็นจำนวนมาก หนังสือที่กล่าวได้ว่าเป็นผลงาน “คลาสสิค” เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชนชั้นนำทางการเมืองคือ Power Elite ของ C. Wright Mills นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ชนชั้นนำมักเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ (patronage) ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานสำคัญทางสังคมประการหนึ่งในภูมิภาคนี้ และระบบนี้ก็ถือว่าเป็นต้นตอหลักของปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในลักษณะเครือข่ายความสัมพันธ์และอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและพวกพ้องใกล้ชิดซึ่งรวมไปถึงเครือญาติและสมุนบริวาร (cronyism)

แม้ปรากฏการณ์เช่นนี้จะมีให้เห็นอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่โครงสร้าง พัฒนาการ และสิ่งท้าทายอาจแตกต่างกัน

 

อำนาจนิยม เสรีนิยมใหม่และการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และ Professor Dr. Andrew Brown ได้นำเสนอเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน่าสนใจดังนี้

ทำความรู้จักแรงงานในอุษาคเนย์ (ดูรูปที่ 1)

กรอบคิดทฤษฎี แรงงานสัมพันธ์ Industrial Relation

 

เพื่อควบคุมและจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล จึงได้เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ขึ้น โดยทั่วไปนักวิชาการด้านแรงงานสัมพันธ์จะจำแนกกรอบคิดที่สำคัญด้านแรงงานสัมพันธ์ออกเป็น 3 กรอบใหญ่คือ

1. กรอบแบบเอกภาพนิยม (Unitarism)

2. พหุนิยม (Pluralism)

และ 3. กรอบคิดแบบ (Marxism)

แต่ละกรอบคิดมีฐานความเชื่อที่แตกต่างกันซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการมอง การทำความเข้าใจ การวิเคราะห์ การบริหารจัดการและแก้ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป

โดยทั่วไปคำว่า “อำนาจ” หมายถึงความสามารถของตัวแสดง A ในการทำให้ตัวแสดงอีกตัวคือ B ยอมทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งปกติแล้ว B จะไม่ทำ1 สำหรับอำนาจของฝ่ายแรงงานหมายถึงการที่ผู้ใช้แรงงานหรือสหภาพแรงงานสามารถมีอิทธิพลต่อทุนและรัฐซึ่งมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากแรงงานให้ต้องยินยอมดำเนินการตามความต้องการของผ่ายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงงาน สถานประกอบการ ไปจนถึงอุตสาหกรรมหรือประเทศ อำนาจของฝ่ายแรงงานในแต่ละช่วงเวลา แต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรมหรือแต่ละโรงงานหรือสถานประกอบการมีไม่เท่ากัน

ช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมาขบวนการแรงงานและผู้ใช้แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ มากมายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและกระบวนการผลิต โครงสร้างของตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้างงานที่เป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่ได้บีบบังคับให้ตลาดแรงงานต้องมีความยืดหยุ่นมากเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนที่รุนแรงมากขึ้น

มีความพยายามที่จะลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการลดต้นทุนคือมุ่งไปที่การควบคุมต้นทุนที่เกี่ยวกับแรงงาน ได้แก่ ค่าจ้าง สวัสดิการ สภาพการจ้าง สหภาพแรงงานได้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุน บางครั้งก็ถูกมองเป็นภัยต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเลยทีเดียว

จึงมีขบวนการที่มีเป้าหมายที่จะลดทอนอำนาจของฝ่ายแรงงานและขบวนการแรงงานลงอย่างต่อเนื่อง

————————————————————————————————————————-
หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย “ชนชั้นนำและแรงงานสัมพันธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผู้วิจัยประกอบด้วย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา Professor Dr. Andrew Brown วินิสา อุชชิน อดิสร เสมแย้ม ณัฐพล ตันเจริญทรัพย์ ดร.ธีระ นุชเปี่ยม ดร.ดิเรก หงษ์ทอง ศิริภัสสร์ พึ่งความสุข ปภังกร เลขะกุล ปรางทิพย์ ดาวเรือง สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แก่ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย