เคน นครินทร์ : 11 วัฒนธรรมป๊อปแห่งปี 2016 (1)

ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่กำลังจะผ่านเข้ามา ตามธรรมเนียมของสำนักข่าวก็มักจะทำการสรุปข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ในรอบปีที่ผ่านมาเพื่อทบทวนและก้าวเดินต่อไป

ผมเองที่เฝ้ามองวัฒนธรรมป๊อปก็อยากจะรวบรวม “วัฒนธรรมป๊อปแห่งปี 2016” ในแบบของตัวเองเช่นกัน

จุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมว่าในปีๆ นี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในขณะเดียวกันก็จะได้ถอดบทเรียนที่น่าสนใจไปปรับใช้ต่อได้ในอนาคต

ต้องย้ำก่อนว่า “11 วัฒนธรรมป๊อปแห่งปี 2016” นี้ผมไม่ได้มีเกณฑ์ตัดสินหรือคัดเลือกอะไรเป็นพิเศษ เพราะเลือกจากความรู้สึกและมุมมองส่วนตัวล้วนๆ

เพราะฉะนั้นก็อาจจะไม่สามารถเอาไปอ้างอิงอะไรได้ และคุณผู้อ่านก็มีสิทธิที่จะเห็นต่างได้นะครับ (ใครคิดว่ามีวัฒนธรรมป๊อปไหนตกหล่นก็ส่งอี-เมลมาคุยกันนะครับ)

 

วัฒนธรรมป๊อปที่ผมเลือกมานั้นจะเป็นปรากฏการณ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ผมจะมองจากสิ่งที่เชื่อมโยงกับคนไทยเป็นหลัก

พูดง่ายๆ ก็คือคนไทย “อิน” ด้วยง่าย ส่วนปรากฏการณ์อื่นๆ ที่แม้จะเป็นสิ่งที่พูดถึงระดับโลก หากคนไทยไม่ค่อยรู้จัก ผมก็อาจจะไม่ได้เลือกมา

กรอบอีกอย่างในการมองของผมคือผมจะเลือกวัฒนธรรมป๊อปที่มี “อะไร” เป็นหลัก ความหมายก็คือมีประเด็น มีสิ่งที่น่าเรียนรู้พอที่จะพูดถึง หรือมีการสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นปรากฏการณ์ที่โด่งดังมากๆ

เท่าที่ดูภาพรวมผมคิดว่าปีนี้เป็นปีของ “วัฒนธรรมป๊อปบนโลกออนไลน์” เพราะหลายๆ ปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือไม่ก็มีความเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบันนั่นเอง

และนี่คือ “11 วัฒนธรรมป๊อปแห่งปี 2016” ของผมครับ

jr01

11.#จินยองอ่าน

ท่ามกลางกระแสหนังสือที่ค่อนข้างซบเซา และงานสัปดาห์หนังสือที่เหงาๆ ปรากฏการณ์ #จินยองอ่าน ก็เกิดขึ้น

ปาร์ก จิน ยอง (Park Jin-Young) เป็นหนึ่งในสมาชิกของ GOT7 วงศิลปินเกาหลีที่มีแฟนคลับล้นหลาม นิสัยส่วนตัวของเขาเป็นคนที่รักการอ่าน มักจะพกพาหนังสือเล่มโปรดติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ

หรือบางครั้งก็ถึงขั้น live รีวิวหนังสือที่เพิ่งอ่านจบด้วยซ้ำ

แฟนคลับชาวไทยจำนวนหนึ่งได้ทำการรวบรวมลิสต์หนังสือที่จินยองเคยอ่าน และจัดทำแผนผังแสดงพิกัดหาซื้อหนังสือเหล่านั้นในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้อย่างละเอียด

จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #จินยองอ่าน ในทวิตเตอร์ที่ขึ้นอันดับ 1 ระหว่างการจัดงานอย่างรวดเร็ว

และสุดท้ายหนังสือเหล่านี้ก็เป็นขุมสมบัติที่นักอ่านจำนวนมากตามล่า

แม้ในจำนวนนั้นจะเป็นหนังสือวรรณกรรมที่ค่อนข้างอ่านยากก็ตาม

หนังสือ #จินยองอ่าน ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในงานมหกรรมหนังสือปีนี้มีทั้ง สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดะไซ โอซามุ โดยสำนักพิมพ์ JLIT, จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น J.D. Salinger โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง

และอีกหลายต่อหลายเล่มที่ผู้ขายส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า “เติมกี่ครั้งก็หมดอย่างรวดเร็ว”

z27sw

ocq385pd1ldh6zraqex-o

10.หลวงพี่แจ๊ส 4G และแฟนเดย์

บางคนบอกว่าปีนี้หนังไทยค่อนข้างเงียบเหงา ซึ่งก็อาจจะมีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะไม่ได้มีหนังเรื่องไหนที่ดังเปรี้ยงปร้างจนเป็นกระแสเหมือนปีก่อนๆ แต่อย่างน้อยก็ปีนี้ก็มีหนังเข้าประมาณ 50 เรื่อง

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของหนังไทยปีนี้มีทั้งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของหนังนอกกระแส (เช่น ดาวคะนอง ปั๊มน้ำมัน โรงแรมต่างดาว)

การทำหนังเพื่อคนท้องถิ่นโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากรุงเทพฯ (เช่น เทริด ของคุณเอกชัย ศรีวิชัย ที่ฉายในโซนภาคใต้)

หรือกระแสหนังสารคดีที่มีแฟนคลับอยู่เป็นจำนวนมากจนหนังสารคดีวงโอเอซิสอย่าง Supersonic ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ล้านบาท

แต่ปรากฏการณ์ที่ใหญ่ที่สุดคงต้องยกให้กับหนังเกินร้อยล้านเรื่องแรกของปีอย่าง หลวงพี่แจ๊ส 4G ที่ตอนแรก คุณพจน์ อานนท์ ไม่ได้เปิดเผยว่าตนเองเป็นผู้กำกับฯ ก่อนที่จะมาเผยในภายหลัง หลังจากที่หนังได้ร้อยล้านไปแล้ว

ความสำเร็จของหลวงพี่แจ๊ส 4G เป็นภาพสะท้อนรสนิยมในการดูหนังของคนไทยได้เป็นอย่างดี

อีกปรากฏการณ์ที่คนจับตามากเช่นกันก็คือหนังเรื่องแรกของค่ายหนัง GDH ที่เพิ่งแยกออกมาจาก GTH ซึ่ง แฟนเดย์ ก็ทำได้ไม่เลวหนัก แม้ว่ากระแสจะไม่ได้ตูมตามเหมือนหนังเรื่องก่อนๆ ของโต้ง-บรรจง ผู้กำกับฯ

แต่ก็ฟาดไปร้อยล้านบาทสบายๆ

maxresdefault

adidas-nmd-release-date

9.ปรากฏการณ์ไอศกรีมกูลิโกะและรองเท้าอาดิดาส NMD

ปรากฏการณ์ “ซอมบี้แย่งรองเท้าอาดิดาส” และปรากฏการณ์ “ตามล่าไอศกรีมกูลิโกะ” เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงต้นปี

อาดิดาสใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ limited edition คือสินค้ามีคุณภาพสวยงาม เป็นรองเท้ารุ่นใหม่ที่น่าสนใจ (Adidas NMD R1) นำเข้ามาน้อย 51 คู่ จำหน่ายที่เดียวเท่านั้นคือสยามเซ็นเตอร์ แถมราคายังไม่สูงมากแค่ 6,990 บาท จนภายหลังมีคนเข้าไปประมูลในเว็บไซต์ต่างๆ สูงจนถึงหลายหมื่นบาท

ส่วนกูลิโกะนั้นใช้จุดเด่นเรื่องสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และการออกแบบแพ็กเกจจิ้งสไตล์ญี่ปุ่นเป็นตัวดึงดูด

นอกจากนี้ ยังเลือกตั้งราคา 20-40 บาท ซึ่งเป็นช่วงราคาที่ตลาดไอศกรีมในบ้านเรายังมีไม่มากนัก วางขายตามร้านสะดวกซื้อก่อนในช่วงเริ่มต้น ที่สำคัญคือต้องลงทุนทำตู้แช่ของตัวเองแยกออกมาโดยเฉพาะ

แม้ว่ากรณีของอาดิดาส และกูลิโกะ จะไม่ใช่สิ่งเดียวกันนัก แต่ผมคิดว่าก็มีประเด็นที่น่าพูดถึง เพราะนอกจากจะน่าสนใจแล้ว ยังสะท้อนสังคมไทยได้หลายอย่าง

maxresdefault-1

8.ซูเปอร์มาริโอ รัน และการปรับตัวของนินเทนโด

นินเทนโด (Nintendo) ค่ายผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นได้ประกาศปล่อยเกม “Super Mario Run” ลงบนแพลตฟอร์มสมาร์ตโฟนเป็นครั้งแรกบนระบบปฏิบัติการ iOS

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การเคลื่อนไหวของนินเทนโดในครั้งนี้ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ คือการกระโจนเข้ามาจับตลาดเกมสมาร์ตโฟนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท!

รูปแบบของเกมยังคงรักษาเอกลักษณ์ของมาริโอแบบเก่าๆ ได้ดี มีการปรับการเล่นให้เข้ากับเกมบนมือถือ นั่นคือมาริโอจะวิ่งแบบอัตโนมัติ และเราบังคับได้แค่กระโดด (แต่ก็มีลูกเล่นเช่นการสัมผัสหน้าจอค้างไว้จะเป็นการกระโดดสูงหรือทำท่าอื่นๆ) ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถเล่นเกมนี้ได้ด้วยการใช้เพียงแค่ “มือเดียว”

แม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรใหม่ หวือหวา หรือตื่นเต้นแบบโปเกมอน โก แต่สำหรับผม ก็ยังเป็นเกมที่สนุก และไว้ลายแบบนินเทนโด ถือว่า “สอบผ่าน” ได้เลย

สิ่งต้องติดตามต่อหลังจาก Super Mario Run คือแผนการของนินเทนโดที่จะเริ่มทวีคูณความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งก้าวแรกในการบุกตลาดเกมมือถือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท กับเครื่องเล่นเกมพกพา

โดยเฉพาะแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับ Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมคอนโซลพกพาแบบไฮบริด ที่พวกเขาจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2017 นี้

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2020 พวกเขายังวางแผนที่จะเปิดตัวสวนสนุกในธีม Super Nintendo World ที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ (Universal Studios) ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก

เพื่อให้ทันต้อนรับเทศกาลโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะรับหน้าที่ปูเสื่อเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

2144-151130025743

7.บิงซู น้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี

บิงซูเริ่มเป็นที่คุ้นลิ้นคนไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนมาบูมสุดๆ ก็ตอนเข้าสู่หน้าร้อน

ปีนี้บิงซูฮ็อตฮิตมากในเมืองไทย ไปที่ไหนก็เจอแต่บิงซู จากที่มีขายไม่กี่ร้าน กระจุกอยู่ในแค่หัวเมืองอย่างสยาม-ทองหล่อ ก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ มีตั้งแต่คาเฟ่เกาหลีแท้ๆ ร้านขนมสำหรับคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงร้านอาหารไทยบ้านๆ ก็ยังอดแทรกเมนูบิงซูเข้าไปด้วยไม่ได้

บิงซูคือน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี มีจุดเด่นที่ตัวน้ำแข็งไสนั้นไม่ใช่น้ำแข็งธรรมดาเหมือนน้ำแข็งไสในบ้านเรา แต่ใช้นมสูตรพิเศษที่เข้าเครื่องทำออกมาเป็นเกล็ดน้ำแข็งเลย

น้ำแข็งไสของบิงซูจึงมีความหวาน หอม มัน และละเอียดเนียนนุ่มละลายในปาก นอกจากนี้ ยังจัดเต็มด้วยท็อปปิ้งหลากหลาย เช่น ผลไม้สด ไอศกรีม ซีเรียล ราดด้วยนมข้นหวาน วิปครีม และน้ำหวานรสผลไม้

บิงซูมีหลายรสชาติแตกต่างกันไป เช่น สตอว์เบอร์รี่ ช็อกโกแลต เมลอน แต่รสชาติยอดฮิตที่สุดต้องยกให้บิงซูมะม่วง

ผมคิดว่าความน่าสนใจของบิงซูไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่ผมมองในประเด็นที่ว่ามันกำลังเป็นอีกพลังที่ช่วยยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีใต้

จากเคป๊อป เคดราม่า เคเกม เคฟู้ด มาถึงเคสวีต

กระแสบิงซูที่ขยายต่อไปเรื่อยๆ น่าจะช่วยเปิดประตูให้กับขนมอื่นๆ ของเกาหลีใต้ที่คนไทยอาจจะยังรู้จักไม่มากนักได้มากขึ้น เหมือนกับที่ขนมญี่ปุ่นทำได้มาแล้ว ซึ่งนั่นก็เหมือนเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่ช่วยขยายอำนาจของเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญคือ เขาไม่ได้ปล่อยให้วัฒนธรรมบิงซูอยู่นิ่งแช่แข็งเหมือนน้ำแข็ง แต่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา ทั้งในแง่เทคโนโลยีการผลิตหรือการเพิ่มเติมวัตถุดิบนั่นเอง

(มีต่อ)