เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พันธะที่ทุกรัฐบาลต้องทำ

สมัยที่เป็นสมัชชาปฏิรูปประเทศ มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ งานเปิดพื้นที่วัฒนธรรม โดยเฉพาะเวทีศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้งานศิลปวัฒนธรรมเข้าถึงประชาชน และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงงานศิลปวัฒนธรรม

เราสุ่มเลือกจังหวัดที่คิดว่าน่าจะเป็นพื้นที่นำร่องในเรื่องนี้ได้

ติดต่อท่านผู้รู้เพื่อขอเข้าพบผู้มีอำนาจของจังหวัดนั้น

นี่คือบรรยากาศเหตุการณ์จริงที่คณะเราได้พบในวันนั้น

ห้องโถงใหญ่หน้าห้องของท่านผู้มีอำนาจคือแถวนั่งตั้งโต๊ะเรียงราย เต็มไปด้วยคณะผู้รอเข้าพบ ดีที่คณะเราได้อยู่ลำดับต้นๆ สักครู่มีเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ท่านกำลังมาแล้ว ขอโทษที่ทำให้ต้องรอ

ครู่ต่อมาก็มีขบวนที่นำโดยท่านผู้มีอำนาจเข้ามาโดยท่านพนมมือยิ้มร่าผ่านแถวคณะผู้นั่งรอตรงเข้าห้อง

เจ้าหน้าที่คนเดิมมาบอกคณะเราอีก

“รอสักครู่ค่ะ ท่านกำลังเข้าห้องน้ำอยู่”

เราชักได้กลิ่นทะแม่งๆ ชอบกลแล้วซี

ก็อีกครู่ใหญ่นั่นแหละที่คณะถัดๆ ไปทยอยเข้าพบโดยผ่านคณะเราซึ่งอยู่ลำดับต้นเฉยเลย

เป็นชั่วโมงก็มีชายผู้หนึ่งเดินมายังคณะเรา ขณะคณะอื่นตัดหน้าเข้าพบอีก

“มีเรื่องจะเข้าเรียนท่านอย่างไรหรือครับ”

เราชี้แจงว่าเป็นใครและประสงค์จะมาขอความร่วมมือเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งต้องปรึกษาหารือกันกับท่านผู้มีอำนาจโดยตรง

“แจ้งเรื่องคร่าวๆ กับผมก่อนได้ครับ”

เอาละซี เอาไงดี เอาก็เอาวะ

คณะเราสรุปเรื่องคร่าวๆ ให้ฟังพอเป็นพื้น ซึ่งเขาทำหัวหงึกหงักพยักรับ ที่สุดเขาก็ตอบกลับ

“อ้อ เรื่องศิลปวัฒนธรรมเข้าใจละครับ แต่เสียใจที่คุณมาช้าไป เมื่อเดือนที่แล้วทางเราอนุมัติงบฯ ให้บริษัทค่ายเพลงเขาเสนอมาจัดประกวดนักร้องลูกทุ่งหนึ่งล้านบาท หมดงบฯ ปีนี้พอดีเลยครับ”

จบกัน

พวกเราจึงลากันตรงนั้น โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพบผู้มีอำนาจท่านนี้อีกต่อไป

นี่คืองานศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนที่ไม่มีวันได้ผุดได้เกิดจริงในประเทศนี้ ตราบที่ยังเป็นอยู่เช่นนี้

คือตราบที่เห็นงานศิลปวัฒนธรรมเป็นแค่ขนมหวานชุบแป้งทอดขายเป็นชิ้นๆ เอากำไรกันเป็นหลัก

ก็เหมือนเรื่องนางกากีไง

คือกากีเนื้อหอมอยู่กับท้าวพรหมทัตถูกพญาครุฑคร่าไปจนคนธรรพ์แปลงเป็นตัวไรแทรกขนพญาครุฑสู่วิมานฉิมพลี กระทั่งความแตก กากีต้องถูกลอยแพในที่สุด โดยที่ทั้งสามบุรุษ ทั้งท้าวพรหมทัต พญาครุฑ และคนธรรพ์ล้วนได้เสพสุขจากนางเดียวกัน แล้วต่างประณามกากีว่าเป็นหญิงแพศยามากชู้หลายใจ กลายเป็นตำนานหญิงร้ายชายดีมาจนวันนี้

จากเหตุการณ์ข้างต้นพอจะเทียบได้ก็คือ

งานศิลปวัฒนธรรมนั้นเปรียบเสมือนกากีเนื้อหอม ผู้มีอำนาจคือท้าวพรหมทัต พญาครุฑคือนายทุน คนธรรพ์นั้นเปรียบเสมือนลิ่วล้อบริวารของท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย

สภาพงานศิลปวัฒนธรรมในบ้านเราก็ดูเหมือนจะตกอยู่ในสภาพนี้

สมัชชาปฏิรูปประเทศคณะเราจึงกำหนดโครงร่างหลักไว้ห้าข้อคือ

หนึ่ง ดุลยภาพสามภาคส่วน คืองานศิลปวัฒนธรรมต้องขับเคลื่อนด้วยพลังสามภาคส่วน คือ ราชการ เอกชน (ธุรกิจ) ประชาสังคม สานสามพลังอย่างมีดุลยภาพ

สอง มีองค์กรขับเคลื่อนดุลยภาพของสามภาคส่วนเป็นรูปธรรม

สาม กำหนดแผนแม่บททั้งระยะสั้นและระยะยาว

สี่ เปิดพื้นที่โดยกำหนดให้มีลานวัฒนธรรมและเวทีศิลปวัฒนธรรมทุกจังหวัด และหรือทุกชุมชนที่มีความพร้อม

ห้า มีกองทุนหรืองบประมาณด้วยการสร้างรายได้หลากหลาย เช่น การตั้งมูลนิธิและบริษัทในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม

โครงร่างห้าข้อนี้ได้ยกขึ้นเป็นพันธกิจสืบเนื่องในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปรีบด่วน (Quick Win)

และเมื่อสภานี้ล้มไป แต่เนื้อหาที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปงานศิลปวัฒนธรรมห้าข้อดังกล่าวได้รับบรรจุเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หมวด 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” จำเพาะมาตราสำคัญคือมาตรา 51 ที่กำหนดให้ทุกมาตราในหมวดนี้ เป็น “หน้าที่” ของ “รัฐ” ที่ “รัฐต้อง” ทำ ซึ่งถ้ารัฐไม่ทำ ประชาชนมีสิทธิติดตามเร่งรัดถึงขั้นฟ้องร้องถ้าก่อให้เกิดความเสียหายได้ด้วย

จำเพาะงานศิลปวัฒนธรรมโดยตรงนั้น มีดังนี้

“มาตรา 57 รัฐต้อง

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ทั้งหมดนี้คือเจตนารมณ์ของการเข้ารับเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพราะ

เป็นพันธะสืบเนื่องการปฏิรูปงานศิลปวัฒนธรรมที่ได้ทำมา

และต้องทำต่อ