สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : ยุทธการ “ตีเหล็กเมื่อยังร้อน”และ “ปืนจ่อหัว” ของสหรัฐ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (2)

ยุทธการ “ตีเหล็กเมื่อยังร้อน”และ “ปืนจ่อหัว” ของสหรัฐ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ถือได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้แสดงนำ

ชนชั้นนำสหรัฐโดยทั่วไปเห็นด้วย มีวัตถุประสงค์ใหญ่อยู่ที่การดัดแปรให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่และกระบวนโลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์และรักษาสถานะการเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐไว้ดุจเดิม

ที่ทรัมป์ยังสามารถรักษาอำนาจการบริหารของตนไว้ได้แม้อย่างทุลักทุเลเป็นเวลากว่าสองปี สะท้อนว่ากลุ่มอำนาจแฝงเร้นหรือรัฐลึกเร้นของสหรัฐไม่ได้ทรงอิทธิพลอย่างที่กล่าวขวัญถึง

เนื่องจากว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่และอนุรักษนิยมใหม่ที่ดำรงมานานหลายสิบปี ไม่สามารถคิดนโยบายใหม่ที่เหนือกว่าของทรัมป์ได้

อย่างมากเพียงแค่บ่นถึงหลักการและค่านิยมเดิมที่ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ในอีกด้านหนึ่งทรัมป์ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือต้องการล้มล้างลัทธิเสรีนิยมใหม่

เพียงแต่ต้องการทำข้อตกลงใหม่ที่ให้ประโยชน์แก่สหรัฐมากขึ้น

ทำให้สหรัฐไม่ถูก “สวมกุญแจมือ” ด้วยสถาบัน องค์การและข้อตกลงใดๆ และหันมายึดหลักการ “อเมริกันเหนือชาติใด” แทน

นอกจากนี้ แม้แนวทางทรัมป์จะเป็นแบบลัทธิขวาทางเลือกไม่ต้องการทำสงครามราคาแพงและไม่ชนะอย่างที่ลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ได้ก่อขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วทรัมป์ก็ไม่ได้ปฏิเสธ

กลับรับสืบทอดมรดกสงครามในมหาตะวันออกกลางและเข้าเผชิญหน้ากับจีน-รัสเซียอย่างเอาเป็นเอาตาย

กับทั้งเพิ่มงบฯ การทหารให้สูงขึ้น ความแตกต่างสำคัญระหว่างโอบามากับทรัมป์ก็คือ

ขณะที่โอบามาขู่รายวันว่าจะทิ้งระเบิดประเทศต่างๆ ทรัมป์ขู่รายวันว่าจะทำสงครามเศรษฐกิจและขึ้นภาษีศุลกากรกับประเทศทั่วโลก รวมทั้งขู่เรื่องการทิ้งระเบิดด้วย

ในเรื่องของสงครามการค้านั้น ทรัมป์ได้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น จึงควรจะเข้าใจความคิดชี้นำของสหรัฐเกี่ยวกับสงครามการค้าจากถ้อยคำของทรัมป์เอง ซึ่งจะคัดมาสามตอนด้วยกัน ได้แก่

ก) ขณะหาเสียงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการลงสมัครประธานาธิบดี ทรัมป์กล่าวว่า “เราไม่สามารถปล่อยให้จีนมาข่มขืนชาติของเรา หรือทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไปได้อีก มันคือการปล้นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก” (02.05.2016)

ข) ต้นปี 2018 ทรัมป์ลั่นกลองรบสงครามการค้า ทวีตว่า “เมื่อประเทศหนึ่ง (สหรัฐ) ต้องสูญเสียเงินมหาศาลเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์กับเกือบทุกประเทศที่ทำธุรกิจด้วย สงครามการค้าย่อมเป็นสิ่งดีและชนะโดยง่าย”

ค) เดือนกันยายนปี 2018 ทรัมป์กล่าวว่า จีนได้เงินมหาศาลที่ไหลออกจากสหรัฐมาใช้ในการสร้างชาติจีนใหม่

และว่า “สหรัฐเหมือนกระปุกออมสินโลก” ที่ใครรวมทั้งสหภาพยุโรปก็มาแคะเอาเงินไป

ที่ทรัมป์กล่าว เป็นการมองจากสหรัฐด้านเดียว และเน้นผู้ที่สนับสนุนลงคะแนนเสียงให้ ซึ่งยิ่งทำให้ตื้นและแคบขึ้นไปอีก บางคนวิจารณ์ว่าสหรัฐมีแต่อาวุธภาษีศุลกากรอย่างเดียว แต่ไม่มียุทธศาสตร์ มีการพูดและพฤติกรรมแบบชักเข้าชักออกจนไม่น่าเชื่อถือ แต่มองอีกด้านหนึ่ง สารที่ทรัมป์ส่งไปทั่วทั้งโลกชัดเจน ตรงไปตรงมา และจริงจัง สรุปได้ดังนี้คือ

(1) สหรัฐเสียเปรียบดุลการค้าจำนวนมหาศาลและยาวนาน ดังนั้น ถึงเวลาที่ผู้นำประเทศซึ่งขณะนี้คือตัวเขาต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่เลยเถิดไปอยู่ที่ทรัมป์โจมตีประธานาธิบดีคนก่อนได้แก่บุชผู้ลูก และโดยเฉพาะโอบามา ว่าไม่แก้ปัญหานี้อย่างแข็งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ประธานาธิบดีทั้งสองได้พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของสหรัฐไว้ ซึ่งในหลายเรื่องทรัมป์เองได้สืบทอด บุชมีนโยบาย “มหาตะวันออกกลาง” ถึงขั้นส่งกองกำลังเรือนแสนเข้ายึดครองอิรัก ด้วยความหวังว่าหากครอบงำมหาตะวันออกกลางได้ ก็จะสามารถกดชาติคู่แข่งของตนได้ทั้งหมดไม่ให้ขึ้นมาท้าทาย

ทุกวันนี้ทรัมป์ที่เคยแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามอิรัก ก็ยังคงกองกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย ท้ายสุดยังเสริมกำลังไปที่ตะวันออกกลางอีก รวมทั้งสืบทอดการสนับสนุนแกนอิสราเอล-ซาอุดีอาระเบียต่อจากประธานาธิบดีคนก่อนอย่างเข้มข้นกว่า

สำหรับประธานาธิบดีโอบามาได้เข้าแก้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐ จนสามารถผ่านพ้นมาได้ และทรัมป์ก็ได้สืบทอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากโอบามาอย่างเต็มตัว ประเด็นที่น่าคิดก็คือ บุชที่ได้พยายามครอบงำมหาตะวันออกกลางก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ การที่ทรัมป์เหมือนก่อสงครามกับประเทศต่างๆ จะทำได้ดีกว่าหรือไม่ คงต้องรอให้ประธานาธิบดีคนต่อจากเขาว่าจะพูดถึงทรัมป์อย่างไร

(2) สงครามการค้าเป็นเรื่องดีสำหรับสหรัฐ สามารถจบลงได้รวดเร็ว และชนะอย่างง่ายดาย โดยใช้เพียงมาตรการภาษีศุลกากรและการแซงก์ชั่น นี่เป็นการมองที่ตื้นและง่ายเกินไป คล้ายคลึงกับฝ่ายบริหารของบุชที่เห็นว่าการรุกรานอิรักเป็นเรื่องดี จบลงอย่างเร็ว และชนะง่ายดาย เหมือน “ลีลาศไปกินเค้ก” แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น สงครามการค้าที่ทรัมป์ก่อขึ้น เห็นได้ชัดว่ามีความยอกย้อนวกวน โดยเฉพาะสงครามการค้ากับจีน ที่จีนตอบโต้อย่างไม่ละลด ไม่รู้ว่าจะต้องติดหล่มสงครามเหมือนในอัฟกานิสถานและอิรักหรือไม่

(3) สหรัฐเป็นเหมือนกระปุกออมสินให้แก่โลกที่มาเอาเปรียบและนำความมั่งคั่งนี้ไปสร้างชาติของตน การทำสงครามการค้าเท่ากับยุติการเอาเปรียบดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันก็ทำให้การพัฒนาของชาติเหล่านี้ชะลอตัวลง กระทั่งกลับเป็นตรงข้าม

สหรัฐเหมือนได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ช่วยทำให้สหรัฐดูมีอำนาจเพิ่มขึ้นในเชิงเปรียบหรือกลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง ดังนั้น การทำสงครามการค้าจึงเป็นเรื่องดีและควรตีเหล็กกำลังร้อน ใช้ปืนจ่อหัวประเทศต่างๆ ให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา ทำข้อตกลงใหม่

มุมมองของทรัมป์ดังกล่าวแม้ว่าจะมีจุดอ่อนอย่างมาก แต่ก็มีเหตุผลและสถานการณ์รองรับบางประการ ได้แก่

1) ประเทศจีนไม่ได้รุ่งเรืองในอัตราสูงดังเก่าก่อน และมีแนวโน้มลดต่ำลง อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจจากการเติบโตโดยเน้นการลงทุนและการส่งออก ไปสู่การลงทุนและบริโภคภายในประเทศ ต้องการความสงบราบรื่นทางเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย การโจมตีทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าจะเป็นการทำลายโอกาสทองในการยกระดับการพัฒนาของจีน นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญสูงต่อความมั่นคงทางการเมืองและความชอบธรรมในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สงครามการค้าที่บังเกิดผลสามารถสั่นคลอนระบอบสีจิ้นผิงที่กำลังรวมศูนย์อำนาจ

ในด้านสหภาพยุโรปตกอยู่ในความระส่ำระสายยิ่งกว่าสหรัฐ ทางเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ทางการเมืองเกิดขบวนการต่อต้านสถานะเดิม ได้แก่ การรวมตัวเป็นสหภาพ และการสร้างเงินยูโร ทางการทหารยังต้องพึ่งแสนยานุภาพของสหรัฐ

ดังนั้น จึงเป็นการง่ายที่จะใช้ปืนจ่อหัว นำมาสู่การทำข้อตกลงใหม่ ให้สหรัฐเป็นผู้นำแต่ผู้เดียว ซึ่งแม้ว่าผู้นำของสหภาพหลายคนประกาศว่าจะไม่เจรจากับสหรัฐ ตราบเท่าที่ใช้ปืนมาจ่อหัว (คือขึ้นภาษีศุลกากร) และต้องการความเป็นอิสระทางนโยบายมากขึ้น แต่ก็ยังมีการโอนอ่อนตามแรงกดดันของสหรัฐปรากฏให้เห็น เช่นกรณีการแซงก์ชั่นอิหร่าน และการสร้างท่อส่งก๊าซจากรัสเซีย

2) เศรษฐกิจของสหรัฐได้รับการกระตุ้นจากมาตรการลดภาษีและการสร้างงานในสมัยทรัมป์ ซึ่งใช้เวลาตลอดปี 2017 จึงทำสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐมีความเข้มแข็ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำสถิติสูงสุดหลายครั้ง อัตราการว่างงานต่ำในรอบหลายสิบปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2019 สูงกว่าร้อยละ 3 อยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบ และทรัมป์ก่อสงครามจริงจังในปี 2018

3) การฟื้นตัวในการผลิตน้ำมันและก๊าซในสหรัฐโดยเทคนิคแฟรกิ้ง ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา และสูงขึ้นในสมัยทรัมป์ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมถึงอุตสาหกรรมถ่านหิน คาดว่าการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐปี 2019 จะพุ่งสูงกว่า 12 พันล้านบาร์เรลต่อวัน การฟื้นการผลิตนี้ก่อผลสำคัญคือ

ก) การทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทในพลังงานโลกอีกครั้ง ลดบทบาทของรัสเซียและกลุ่มโอเปค

ข) ใช้เรื่องพลังงานมากดดันต่อยุโรปได้

ค) สามารถเดินนโยบายต่อประเทศส่งออกน้ำมัน ได้แก่เวเนซุเอลาและอิหร่านได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น

ง) มีต้นทุนทางพลังงานต่ำ ได้เปรียบทางการผลิตและการค้า และการไหวตัวทางราคาและความไม่แน่นอนของโซ่อุปทานจะส่งผลอย่างสูงต่อจีน ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ โดยพื้นฐานสหรัฐมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การค้ามากกว่าชาติอื่นหลายประการ เช่น

ก) เป็นผู้ผูกขาดทางการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงิน ตลาดการเงินและตลาดทุน

ข) เป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน โดยบริษัทของอเมริกันทั้งหมดได้แก่ ไมโครซอฟท์ กูเกิล และแอปเปิ้ล

ค) มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นตัวเงิน เป็นตลาดรองรับสินค้าของโลก เป็นแหล่งลงทุนเปิดแก่เศรษฐีทั้งโลก รวมทั้งจากจีนและรัสเซีย

เศรษฐกิจสหรัฐ : แข็งนอก ในเป็นโพรง

ในท่ามกลางความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจดังกล่าว มีนักวิชาการสหรัฐหลายคนทำงานวิจัยชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโพรงข้างในหลายประการ

ข้อแรก ได้แก่ ช่องว่างทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างน่ากังวล โรเบิร์ต แมนดูคา นักสังคมวิทยาสหรัฐ ชี้ว่า หลังจากที่ทรัพย์สมบัติทางเศรษฐกิจในสหรัฐที่เบนเข้าหากันมานานเป็นศตวรรษ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมากลับถ่างออกอย่างน่าตกใจ

และพบว่าประชากรราวหนึ่งในสามของสหรัฐที่อาศัยอยู่ในมหานครจะรวยกว่าหรือจนกว่า ค่าเฉลี่ยของชาติอย่างน้อยร้อยละ 20 เป็นช่องว่างที่ขยายตัวเกือบสามเท่าจากที่เป็นอยู่ในปี 1980 โดยตัวเลขปี 1980 อยู่ที่ร้อยละ 12 ขณะที่ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 30 การถ่างตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่และผู้ที่ร่ำรวยที่สุด ได้แยกตัวออกจากส่วนที่เหลือของประเทศ สร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ยิ่งทำให้สมบัติทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ถ่างตัวขึ้นอีก

(ดูงานวิจัยของ Robert A. Manduca ชื่อ The Contribution of National Income Inequality to Regional Economic Divergence ใน acadamic.oup.com 25.03.2019)

ข้อต่อมาคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอและยิ่งขยายช่องว่างดังกล่าว ทั้งนี้ จากการศึกษาของกลุ่มนวัตกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสำนักคิดมีพันธกิจสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายจากทุกฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็งของรากฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐ พบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐจากการถดถอยใหญ่ปี 2008 เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ถึงขั้นที่เปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์การอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยพื้นที่ฟื้นตัวจริงใช้เวลาเกือบห้าปีในการแก้ปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้น ขณะที่พื้นที่จำนวนไม่น้อยที่ทนทุกข์จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัว

จอห์น เลทเทียรี ประธานและซีอีโอของกลุ่มกล่าวว่า “สิบปีหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ การค้นพบจากการศึกษาเหล่านี้ได้เตือนสติว่า ยังมีชุมชนจำนวนมากที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างแท้จริง ขณะที่มีสิ่งที่น่ายินดีเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่ท้องถิ่นน้อยลง เราต้องทำให้ดีกว่านี้อีกมาก ในการประกันว่าโอกาสได้ขยายไปทุกส่วนของแผนที่”

(ดูข่าวงานวิจัยของ Economic Innovation Group ชื่อ New Study Shows How Recovery From the Great Recession Transformed the Geography of U.S. Economic Well-Being ใน eig.org 14.10.2018)

การกระจุกตัวของความเจริญความมั่งคั่งและอำนาจดังกล่าว ลดความเข้มแข็งและการเป็นพลวัตทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นอย่างมาก ก่อความไม่พอใจคุกรุ่นในหมู่ประชาชน ที่เห็นว่าเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่เป็นไปเพื่อคนรวยจำนวนน้อยเท่านั้น