อภิญญา ตะวันออก / “เอฟซีซี” ไทย-แขฺมร์ : ปรากฏการณ์อ่อนแอก็แพ้ไป

อภิญญา ตะวันออก

ในที่สุด “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย” (FCCT- Foreign Correspondents Club) ซึ่งมีสำนักงานชั้น 23 อาคารมณียาเช็นเตอร์ ถนนเพลินจิต ก็กลับมามีชีวิตชีวาในกิจกรรมต่างๆ สำหรับคลับเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่กลางทศวรรษ “50 แห่งนี้ที่ใจกลางมหานครกรุงเทพฯ ที่เคยเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสำนักข่าวดังๆ นานา อาทิ บีบีซี สำนักตะวันตกและภูมิภาคเอเชีย

สำหรับกระแสแห่งพลวัตข่าวสารและการมองย้อนรอบสิบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนพลังขับแห่งสหัสวรรษใหม่ที่มาพร้อมกับอานุภาพการสื่อสารและเทคโนโลยี ตลอดจนวิถีการเสพสื่อของพลเมืองโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากอดีต และนั่น มีส่วนทำให้สโมสรของชาวสำนักสื่อฯ หรือคลับเอฟซีซีที (FCCT) กรุงเทพฯ

ที่เคยคึกคักหนักหนาในอดีต จนมาถึงยุคตบยุง เงียบเหงา รวมทั้งกระแสใหม่แห่งโซเชียลที่ถาเข้ามาให้อาสัญ

กระนั้น ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังไม่เท่าการถูกนโยบายการเมืองเข้ามากดดัน เช่นกรณีรัฐประหาร (ไทย) หรือระบอบฮุน เซนของกัมพูชา โดยเฉพาะนโยบายแข็งกร้าวต่อเสรีภาพขององค์กรสื่อสารมวลชน และบี้ จี้ ยุติการทำกิจกรรมทุกประเภทอันเกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมประเทศ

ดังนี้ เราจึงสิ้นโอกาสได้เห็นกิจกรรมของ “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งกัมพูชา” (FCCC – Foreign Correspondents Club of Cambodia) จะไม่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 ร่วม 26 ปีทีเดียวสำหรับคลับแห่งนี้ ซึ่งถือกำเนิดพร้อมกับกระบวนการประชาธิปไตยในกัมพูชาในปี 1993/2536

ปีที่ชาวเขมรได้สัมผัสการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังจากสิ้นสุดสงครามการเมือง และตลอด 2 ทศวรรษครึ่งของการถือกำเนิดที่คลับแห่งนี้ มีนัยยะความหมายมากมายที่ตามมา

ทว่าไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยของกัมพูชา FCCC-พนมเปญจึงเผชิญหน้ากับพายุทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะเดียวกันทางด้านธุรกิจก็กลับมีความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

ส่งผลให้คลับในชื่อเดิม “FCCC” ถูกตัดทอนให้เหลือเพียง “FCC” รวมทั้งเสรีภาพของผู้สื่อข่าวท้องถิ่นและต่างประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพนมเปญ ที่ค่อยๆ เฟดตัวเองออกไปอย่างเงียบๆ

ทั้งหมดนี้ยังพบว่า ภายใต้การปกครองในระบอบฮุน เซนที่ปกครองประเทศยาวนานอย่างไม่เคยผลัดเปลี่ยนผู้นำ ได้ส่งผลต่อความก้าวหน้าธุรกิจที่สวนทางต่อความถดถอย ในเจตจำนงของการก่อตั้งคลับฯ แห่งนี้

มิพักต้องกล่าวถึงปรัชญาการก่อตั้งและอุดมการณ์ที่ค่อยๆ เหือดแห้งและหดหายไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน สถานะแห่งการดำรงอยู่และเหลือรอดในกิจการ ยังคงดำเนินไปอย่างก้าวหน้า เยี่ยงเดียวกับระบอบการเมืองกึ่งเผด็จการแบบฮุน เซนที่เป็นปึกแผ่นและรุ่งเรือง

 

อาจไม่ยุติธรรมเลยที่กล่าวว่าการเมืองกัมพูชาได้สร้างความกดดันและเปลี่ยนแปลงต่อองค์กรแห่งนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งในบางครั้ง การ “แขวนตัวเอง” กึ่งถาวรเช่นกรณีคลับ FCC-กัมพูชา และเช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งในช่วงรัฐประหารและรัฐบาลก่อนหน้าที่สานสัมพันธ์ในลักษณะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะลดบทบาท FCC-แห่งพนมเปญแล้วยังลามไหลมาถึงคลับ FCCT แห่งกรุงเทพฯ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เคยและไม่มีโอกาสเห็นผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา นายสัม รังสี เคยใช้คลับ FCCT แห่งนี้เปิดการแถลงข่าวหรือแม้แต่จะแวะเวียนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีความคิดตรงข้ามกับสมเด็จฯ ฮุน เซน แทบจะเรียกว่า ไม่มีเลยที่นักการเมืองฝ่ายค้านหรืออิสรชนชาวกัมพูชาทั้งหมด ไม่เคยมีใครเลยที่จะแวะเวียนมาที่คลับแห่งนี้

แลเป็นความจริงอีกว่า ณ คลับทั้งสองดังกล่าว สำหรับชาวกัมพูชาแล้ว พวกเขาถูกล็อบบี้ในเสรีภาพว่าด้วยในกิจการภายในและนอกราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคลับ FCC พนมเปญจึงไม่เคยกลับมาดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อปรัชญาการก่อตั้งอย่างถาวร

แน่นอน มันเป็นความเสี่ยงที่สูงเกินกว่าจะแลกด้วยกิจกรรมทางสังคม หากว่าธุรกิจร้านอาหารและบาร์จะถูกรัฐบาลพนมเปญงัดกฎหมายพิเศษออกมาเล่นงาน หากว่าพวกเขายังดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ผู้นำกัมพูชาไม่สบอารมณ์

 

แต่ในความโชคร้ายกลับถูกชดเชยด้วยโชคดีแห่งความสำเร็จในธุรกิจ ที่พบว่า “คลับ FCC” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสีโสวัตริมแม่น้ำตนเลสาบ ได้กลายเป็นร้านอาหารและบาร์ที่เหล่านักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างพากันไปเยือนและ “เช็กอิน” ทันทีนับแต่ปีแรกก่อตั้ง

สำหรับตึกสีโทปาสสไตล์โคโลเนียลมุมถนนพระสีโสวัต ที่สร้างความหลงใหลต่อนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนพนมเปญ จนทำให้ “คลับ FCC-พนมเปญ” ประสบความสำเร็จทำกำไรมหาศาลทางธุรกิจ

จนสามารถขยายสาขาข้ามไลน์ไปเป็นกิจการโรงแรมและร้านอาหารที่นครเสียมเรียบ

แน่นอน นอกเหนือจากความน่าทึ่งของสถานที่อันพิเศษสุดแล้ว ผู้คนทั่วไปต่างไม่ทราบเลยว่า “คลับผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งกัมพูชา” นั้น ได้สิ้นสุดแห่งความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใดๆ ในด้านสื่อและสังคมมานานร่วมทศวรรษ

และนานเท่าใดแล้วไม่ทราบ ที่กิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับการเมืองได้กลายเป็นยาขมอันรุนแรงของคลับแห่งนี้ ตลอดจนเจตจำนงที่ไม่เคยได้รับการปลุกเร้า การตอบสนอง และการหยัดยืนในอุดมการณ์ของการก่อตั้ง

ฉะนั้น การมีอยู่ของ FCC-พนมเปญ จึงไม่ต่างจาก “การจมหายและกลายเป็นอื่น” ซึ่งสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้บุกเบิกอุดมการณ์ของการก่อตั้ง ซึ่งบ้างล้มหายตายจาก และบ้างก็เป็นเพียงการไปเยือนอนุสรณ์สถานอันวังเวงแห่งจิตใจ

จนฉันเองนั้นยังนึกถึงบรรยากาศอันล่องลอยและอบอวลไปด้วยกลิ่นของผู้คนและความคิด

ณ มุมหนึ่งฉันเคยพบนายจิวานนี่นักข่าวอิตาลีร่างผอมบางเคยอยู่ตรงนั้น ด้วยท่าทีที่แตกต่าง เขายืนกรานปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของพล พต ท่ามกลางคนข่าวทั้งคลับที่ต่างฟังอย่างขบขัน (1998)

แต่สำหรับจิวานนี่แล้ว เขายืนยันในสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่พล พต ควรได้รับ

แน่นอนเรา นั่นไง อัล ร็อกออฟ ในวันที่เขาเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่าย บางคนตีสนุ้กในห้องถัดไป และบริเวณด้านหน้าของบาร์ที่คลาคล่ำด้วยผู้คนในตอนค่ำ

เราเคยได้เห็นนักแสดงดังอย่างแม็ตต์ ดิลลอน ในมุมหนึ่ง ตอนที่เขาบินมาสิงสู่กับผู้คน และต่อมากลายเป็นพล็อตภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องแรกที่ถ่ายทำในกรุงพนมเปญ “City of Ghosts” (2002) โดยมีตำหนักของพระราชวังเขมรินทร์ที่เร้นลับและสวยงามเป็นฉากหลัง

ไม่มีความสำเร็จแบบนั้นหลงเหลืออีกต่อไป สำหรับวิถีสมัยใหม่แห่งนครพนมเปญที่ถูกกลืนกินไปทุกหนแห่ง

เช่นเดียวกับคลับ FCCC บนถนนสีโสวัตที่ยังปรากฏ แต่ราวกับหายไปในกาลเวลา

ที่เหลือให้เห็นก็แค่ร้านอาหารสไตล์โคโลเนียล อย่างดาษดื่นทั่วไปบนถนนสายนั้น

 

แต่ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ตกต่ำในกิจการ กระนั้น เจตนารมณ์ของการก่อตั้ง “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย” ที่ใกล้จะครบ 70 ปีอีกไม่ช้า กลับพบว่ามีบริบทเคลื่อนไหวที่แตกต่างไปจากกัมพูชา

โดยเฉพาะการกลับมาของเหล่านักการทูต นักเขียน นักข่าว นักมานุษยวิทยา นักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ต่างพากันปรากฏตัวพร้อมกับชุดความคิดในการเปิดหัวข้อเสวนา ปาฐกถา การแสดงผลงานและทัศนะแห่งความรู้ในแขนงชำนาญอย่างอุฬาริก ทั้งการเมือง สิทธิมนุษยชน เพศสภาพ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การทูต ที่ครอบคลุมหัวข้อเสวนาประเด็นทั้งในและนอกภูมิภาค

กิจกรรมหลากหลายอันแตกต่างเหล่านี้ ที่เคยเป็นนิมิตหมายต่อบทบาทนำของไทยในอดีต โดยเฉพาะความชื่นชมต่อแนวคิดที่เปิดกว้างต่อเวทีประชาธิปไตยเมื่อเทียบกับประเทศร่วมภูมิภาค

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในไทยนี้ เป็นกรณีที่น่าศึกษา เมื่อเทียบกับแรงโน้มถ่วงแห่ง “การจมหายและกลายเป็นอื่น” ที่เกิดขึ้นกับ “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งกัมพูชา”

เถอะ แม้จะสำเร็จในธุรกิจอย่างน่าอิจฉา แต่สำหรับชาวกรุงเทพฯ อย่างเรา ความยินดีปรีดาต่อการกลับมาของ FCCT-แห่งกรุงเทพฯ

แม้จะเล็ก เรียว บาง ไม่ยิ่งใหญ่ เหมือนสำนักงานแห่งนั้นในกัมพูชา

แต่ก็พอจะอุ่นใจ ที่ยังไม่ “จมหาย” และกลายเป็นอื่น