วงค์ ตาวัน | เมื่อประยุทธ์ 2 ไม่มี ม.44

วงค์ ตาวัน

ในสมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ต่างจากการเป็นรัฐบาล คสช.ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง แทบไม่มีอะไรเหมือนเดิม

“โดยเฉพาะอำนาจในมือทั้งในฐานะหัวหน้า คสช.และดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 จะไม่มีให้ใช้ได้อีกแล้ว!”

รัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้นำต่อไปนี้ จะประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรค หลากหลายมุ้งและกลุ่ม จะสั่งซ้ายหันขวาหันย่อมเป็นไปไม่ได้

ขณะเดียวกันการทำงานในสภา จะต้องเผชิญกับ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ไม่ใช่สภาฝักถั่วแบบ 5 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว

ลีลาการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน การตรวจสอบขุดคุ้ยของเหล่า ส.ส.พรรคตรงข้ามรัฐบาล ไปจนถึงการยื่นกระทู้ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องประเดประดังเข้ามาเป็นระลอก

ยังไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นผู้นำทหาร จะควบคุมตัวเองเพื่อรับมือสิ่งเหล่านี้ได้ดีพอหรือไม่

“ขณะเดียวกันเสถียรภาพของรัฐบาล ก็เห็นได้ชัดว่าน่าจะยากเย็นยิ่งในการจะอยู่ยืนยาว!!”

โดยรัฐบาล 19 พรรคมีเสียงในสภาผู้แทนฯ 254 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 246 เสียง ปริ่มน้ำสุดๆ

จนคาดหมายกันว่าอายุรัฐบาลนี้น่าจะไม่เกิน 1 ปี

แม้จะมีการจัดหางูเห่ามาเสริมช่วยได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างความมั่นใจให้ได้ในทุกครั้ง แถมต้องคิดด้วยว่า โอกาสที่จะเกิดงูเห่าในฝ่ายรัฐบาลเอง ไปโหวตให้ฝ่ายค้าน หรือใช้วิธีหายหน้าหายตาลาประชุมไป ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

“แต่ที่บรรดากองเชียร์กองหนุนรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 หนักอกหนักใจกันมาก เห็นจะเป็นแรงเสียดสีจากฝ่ายค้านในสภา ซึ่งอาจทำให้ความอดทนพังทลายแล้วจะกลายเป็นเรื่อง!?!”

คงจำกันได้ ในวันโหวตเลือกนายกฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บรรดาขุนพลฝ่ายพรรคเพื่อไทยและขั้วเดียวกันดาหน้าอภิปรายปมประเด็นคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างดุเดือด

โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐต้องคอยลุกขึ้นเบรกลุกขึ้นประท้วงเพื่อตัดเกมการอภิปรายชำแหละ พล.อ.ประยุทธ์

มีอยู่จังหวะหนึ่ง ที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.รุ่นเก่าที่ย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย

“นายวีระกรใช้คำอภิปรายประกอบการประท้วงว่า ความจริงจะประท้วงตั้งแต่เริ่มอภิปรายแล้ว ที่มีการพูดถึงกบฏ แต่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ฟังการถ่ายทอดอยู่ที่บ้าน เลยอยากให้ท่านซ้อม เพราะตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจจะหนักกว่านี้เยอะ เลยอยากให้ท่านเข้าใจ”

เรียกเสียงฮาได้ลั่นสภา

แต่ก็เป็นความจริงว่า วันนั้นเพียงแค่เริ่มโหมโรง ฝ่ายค้านยังไม่เดินเครื่องเต็มสูบ จากนี้ไปเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเข้าทำงานในสภา จะต้องเจอหนักกว่านี้

“โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ตอนนี้ฝ่ายค้านเตรียมประเด็นข้อมูลเอาไว้พร้อมแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลใหม่ยังไม่ทันเริ่มทำงาน”

เพราะนักการเมืองทุกคนรู้ดีว่า นายกฯ ที่มาจากผู้นำทหารนั้น จะอดทนนั่งฟังการถูกอภิปรายเชือดเฉือนตัวเองอย่างนิ่งสงบได้ยากที่สุด

ไปจนถึงจะไม่ยอมแม้แต่จะให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยด้วยซ้ำ!

มีแนวโน้มว่า การจัด ครม.รัฐบาลประยุทธ์ 2 อาจต้องดึงยาวไปจนถึงหลังการประชุมอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน เพราะเป็นจังหวะเวลาที่ก้ำกึ่งมาก หากให้รัฐบาลชุดเดิมทำหน้าที่ในการลงนามต่างๆ ในการประชุมผู้นำอาเซียนดังกล่าว น่าจะสอดคล้องมากกว่า

อีกประการก็คือ เป็นการจัด ครม.ที่เต็มไปด้วยการขัดแย้งอลหม่านที่สุด จนต้องใช้เวลายาวนาน

“แต่ที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลใหม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว ครม.ใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือเป็นเวลาสิ้นสุดของอำนาจ คสช.และอำนาจกฎหมายพิเศษมาตรา 44”

พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นนายกฯ ของรัฐบาลพลเมือง ที่ไร้อำนาจพิเศษในมือ รวมทั้งอำนาจ คสช.จะหมดไป เพียงแต่เป็นที่รู้กันว่าจะยังเป็นนายกฯ นายพลเอกที่มีกองทัพเป็นแบ๊กให้อยู่

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า 2 สิ่งนี้ คือ อำนาจ คสช.และ ม.44 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้สงบ

ประกอบกับขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามเอง ก็วางตัวนิ่งเฉย เพื่อให้สถานการณ์ราบเรียบ จะได้นำไปสู่การเลือกตั้ง กลับสู่ประชาธิปไตยเสียที

เหล่านี้ทำให้กองหนุนกองเชียร์ และพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เป็นจุดโฆษณาหาเสียงว่า เพราะประยุทธ์เป็นผู้นำ จึงทำให้ประชาชนมีชีวิตอย่างสงบสุข ไม่มีม็อบออกมาตีกัน ไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิด ทั้งหากประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ต่อไป ความสงบก็ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม

“เอาเข้าจริงๆ 5 ปีที่ผ่านมาสงบเพราะอำนาจ คสช.และ ม.44 รวมทั้งทุกฝ่ายก็ยอมนิ่งเฉยเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการคืนประชาธิปไตย แต่จากนี้จะไม่ใช่อีกแล้ว”

เมื่อถึงวันที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 เริ่มมีผล สิ่งเหล่านี้จะหมดสิ้นไปทั้งหมด ไม่มีอำนาจหัวหน้า คสช. ไม่มี ม.44 และไม่มีความเกรงใจจากขั้วตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลชุดใหม่ พล.อ.ประยุทธ์คงจะนั่งควบรัฐมนตรีกลาโหมเอง เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีปัญหาด้านสุขภาพ คงจะขอนั่งเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงตัวเดียว โดยยังดูแลงานความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนอำนาจในกองทัพคงจะไปขึ้นกับนายกฯ โดยตรง

นอกจากนี้ก็ยังมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยต่อไป

“ยังเหลือความเป็นกลุ่มอดีตผู้นำทหาร “3 ป.” ที่ยังเกาะเกี่ยวกันแน่น และยังกุมกระทรวงที่ยังมีอำนาจน่าเกรงขามอยู่”

แต่ก็ไม่มี คสช. ไม่มี ม.44 และจะต้องรับมือเกมการเมืองในสภา

ไปจนถึงปัญหาม็อบนอกสภา ที่น่าจะเริ่มกลับมาชุกชุมอีกอย่างแน่นอน!

ประเมินได้ไม่ยากว่า ทันทีที่หมดอำนาจมาตรา 44 ยุคประยุทธ์ 2 จะต้องเริ่มพบกับกลุ่มมวลชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ทุกคนรู้ดีว่าเดือดร้อนกันกว้างขวาง

ปัญหาราคาพืชผล ปัญหาความเดือดร้อนจากเรื่องต่างๆ จะปะทุขึ้นมาเป็นระลอก

“เพราะทั้งหมดนี้อัดอั้นสั่งสมมายาวนานตลอด 5 ปีที่มีอำนาจ คสช.และ ม.44 นั่นเอง”

ส่วนม็อบทางการเมืองยังไม่มีวี่แววให้เห็น เพราะการเมืองไทยได้เข้าสู่ระบบรัฐสภา มีเวทีให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้เคลื่อนไหวตามวิถีประชาธิปไตย ถ้าการเมืองในสภายังคงเดินไปได้ ก็ช่วยให้ไม่เกิดม็อบการเมือง

ยกเว้นว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้น หรือใช้อำนาจบางอย่างจนทำให้เกิดปัญหาความคับแค้นและขัดแย้งรุนแรง นั่นอาจทำให้ไปเกิดการเคลื่อนไหวบนถนนได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้กระบวนการเล่นงานพรรคการเมืองบางพรรคอย่างจงใจและโจ่งแจ้งมากไป

“นั่นก็อาจทำให้ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคนั้น ซึ่งรู้กันว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง ไม่กลัวแดดกลัวฝน อาจจะก่อการเคลื่อนไหวขึ้นได้”

ถ้ากลุ่มอำนาจฉลาดพอ ต้องรู้ว่า ถ้าไม่ปิดกั้นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในวิถีทางสภา นั่นจะช่วยให้บ้านเมืองเราต่อสู้กันในวิถีทางสงบสันติในสภาต่อไปได้

“ถ้าหน้ามืดตามัว ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม เพื่อปิดกั้นกีดกั้นผลักไสผู้คนออกจากวิถีทางสภาอันสันติ”

จะทำให้กลุ่มผู้กุมอำนาจต้องเผชิญกับการเมืองนอกสภาอย่างช่วยไม่ได้

แล้วที่แน่ๆ เมื่อไม่มีอำนาจ คสช. เมื่อไม่มี ม.44 ย่อมไม่เหมือนเดิม!