เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (6)

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของไทยและชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน (ต่อ)

หากนำข้อมูลข้างต้นนี้มาพิจารณาผ่านแนวคิดกระจกสะท้อนตัวตนของ Charles Horton Cooley ซึ่งเป็นรากเหง้าของแนวคิดการขัดเกลาทางสังคมจะพบว่าสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและจิตวิทยาในประเทศไทยกำลังสะท้อนภาพในเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยเชื้อสายมลายูกับชาวไทยเชื้อสายไทยและรัฐบาลไทย

ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและจิตวิทยาในประเทศมาเลเซียก็กำลังสะท้อนภาพในเชิงบวกระหว่างชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยกับชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูและรัฐบาลมาเลเซีย

สภาพแวดล้อมดังกล่าวเปรียบได้กับกระจกสะท้อนตัวตนของชนทั้งสองกลุ่ม

ซึ่งกระจกสะท้อนบานนี้อาจสะท้อนภาพในเชิงลบหรือบวก ตรงไปตรงมาหรือบิดเบี้ยวก็ได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือกระจกสะท้อนบานนี้สะท้อนภาพที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่าบรรยากาศในการสื่อสารของชาวไทยเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่มีลักษณะในเชิงลบ

ขณะที่บรรยากาศการสื่อสารของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยส่วนใหญ่มีลักษณะที่เป็นเชิงบวก

การศึกษาสภาพแวดล้อมทางสังคมของชาวไทยเชื้อสายมลายูพบว่าความเป็นมลายูของชาวไทยเชื้อสายมลายูมักไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมไทย

ขณะที่ความเป็นไทยของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยค่อนข้างได้รับการยอมรับจากสังคมมาเลเซีย

นอกจากนี้ เอกลักษณ์บางอย่างของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยก็ยังลงรอยกับเอกลักษณ์ของความเป็นชาติมาเลเซีย เช่น การเป็นภูมิบุตร

แต่ความลงรอยดังกล่าวแทบไม่พบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบกับแนวคิดของ Brown {David Brown, The State and Ethnic Politics in South East Asia, (London and New York : Routledge, 1994) pp. 260-261 อ้างถึงใน พีรยุทธ โอรพันธ์ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของไทยและมาเลเซียเชื้อสายไทยรัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย, อ้างถึงแล้ว, หน้า 16} จะพบว่าความเป็นชาติของทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างชาติในเชิงการเมืองและชาติในเชิงวัฒนธรรม

แต่หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าประเทศมาเลเซียมีลักษณะของความเป็นชาติในเชิงการเมืองมากกว่าประเทศไทย

เนื่องจากสังคมมาเลเซียยังคงยืนยันในความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปันและร่วมกันทำงานเพื่อชาติที่เป็นจุดรวมของชาวมาเลเซีย

สำหรับประเทศไทยแม้รัฐบาลจะพยายามให้สิทธิแก่พลเมืองในชาติเท่าเทียมกัน แต่ประเทศไทยก็มิได้เป็นพหุสังคมอย่างแท้จริง

เอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีศูนย์รวมอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศก็ยังคงต่อต้านเอกลักษณ์ทางสังคมของชาวไทยเชื้อสายมลายูอยู่ในหลายรูปแบบ

ข้อมูลที่ได้ตอกย้ำแนวความคิดของ Brown ที่ว่าความเป็นชาติในเชิงการเมืองเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าความเป็นชาติในเชิงวัฒนธรรม

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยแสดงภาพรวมที่เหมือนกัน ได้แก่ การสื่อสารในลักษณะที่ไม่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน และการแสดงออกให้เห็นชัดเจนเป็นอย่างมาก

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยสามารถใช้เอกลักษณ์ร่วมกันกับชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูได้ในหลายลักษณะ

แต่ชาวไทยเชื้อสายมลายูแทบไม่มีการใช้เอกลักษณ์ใดๆ ในการสร้างความเป็นพวกพ้องเดียวกันกับชาวไทยเชื้อสายไทยเลย

ดังนั้น ควรมีการค้นหาเอกลักษณ์ร่วมของคนในพื้นที่ (เช่น ความเป็นคนพื้นที่ดั้งเดิมเหมือนกัน) และเน้นย้ำเอกลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นเสมือนอุดมการณ์ที่สามารถทำให้ชนทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่มีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน (โดยจะต้องเป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของชาติพันธุ์)

อุดมการณ์ดังกล่าวจะผลักดันให้ชนทุกกลุ่มมีความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตน

 

ข้อค้นพบจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าขณะที่ความเป็นไทยของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยค่อนข้างได้รับการยอมรับในสังคมมาเลเซีย

แต่ความเป็นมลายูของชาวไทยเชื้อสายมลายูยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร

ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการยอมรับความเป็น “คนมลายู” ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ ทั้งที่เป็นการยอมรับในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อาทิ การส่งเสริมให้มีการยอมรับการใช้ภาษามลายูถิ่นในพื้นที่มากขึ้น ส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในวิถีชีวิตแบบอิสลาม การแสดงการยอมรับดังกล่าวจะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่บรรยากาศแห่งการสื่อสารที่ดีระหว่างกัน

จากการศึกษาพบว่าในประเทศมาเลเซียมีการหยิบใช้ความแตกต่างทางด้านเอกลักษณ์ของกลุ่มชนในเชิงบวก ขณะที่ในประเทศไทยการหยิบใช้เอกลักษณ์ในลักษณะดังกล่าวแทบไม่มีให้เห็น ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้คนในพื้นที่และคนในส่วนอื่นของประเทศไทยมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในลักษณะที่เป็นจุดเด่นมากกว่าจุดด้อย โดยมุ่งไปที่การชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างสามารถนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าบริบทรอบข้างในด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาของชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายไทยแม้จะทำให้ชนทั้งสองกลุ่มต้องแยกตัวออกจากกันบ้างแต่ก็มิได้ส่งผลกระทบเทียบเท่าการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ไม่สงบและการใช้อำนาจที่มีมากกว่าของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางที่ผิด

ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้นก็คือการยุติเหตุการณ์ไม่สงบ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่และการทำให้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่วนผลกระทบที่เกิดจากอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นก็ควรแก้ไข โดยการสร้างความยุติธรรมที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยการบังคับใช้กฎหมายทุกรูปแบบให้มีความยุติธรรมต่อชนทุกกลุ่มในพื้นที่

ความยุติธรรมดังกล่าวจะทำให้อำนาจที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศแห่งการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในที่สุด

(จรัญ มะลูลีม, มองลอดแว่นความสัมพันธ์ไทย-มาเลย์ ผ่านวิทยานิพนธ์ของ พีรยุทธ โอรพันธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมไทย-มาเลย์ (3) มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 กุมภาพันธ์ ปี 2008, หน้า 69)