ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระแสงขรรค์ชัยศรี คือสัญลักษณ์เครือข่ายอำนาจขอม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“พระจักรพรรดิราช” ตามมติในพุทธศาสนาหมายถึง พระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือมวลมหากษัตริย์ทั้งหลายในสากลจักรวาล

และก็เป็นปรัมปราคติในพระพุทธศาสนาอีกเช่นกันที่ระบุเอาไว้ด้วยว่า “พระจักรพรรดิราช” จะเป็นผู้ถือครองแก้ววิเศษทั้งเจ็ดประการ อันได้แก่ จักรแก้ว, ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, รัตนะ (หรือที่ในอุษาคเนย์เรียกอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปว่า แก้วมณีโชติ), ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว โดยแก้วแต่ละประการก็มีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างกันไป อันได้แก่

จักรแก้ว, ช้างแก้ว และม้าแก้ว เป็นสัญลักษณ์ของพระราชพาหนะ ที่จะนำเสด็จองค์พระจักรพรรดิไปยังสถานที่ต่างๆ โดยรวดเร็วตามพระทัยปรารถนา

แก้วมณีโชติ เป็นสัญลักษณ์แห่งการทำมาหากินของราษฎร

นางแก้ว เป็นที่จำเริญพระทัย

ขุนคลังแก้ว ทำให้เจริญพระราชทรัพย์

ส่วนขุนพลแก้วนั้น ทำให้สำเร็จซึ่งสรรพกิจทั้งปวง และก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่ต้องเป็น “ราชบุตรผู้ใหญ่แห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราช” นั่นเอง

และก็ด้วยคุณลักษณะของแก้ววิเศษทั้ง 7 ประการนี้เอง ที่ทำให้พระจักรพรรดิราช บรรลุถึงชัยชนะในสกลแผ่นดินทั่วทั้งสิ้น

 

แน่นอนว่าในโลกนอกปรัมปราคติที่พวกเราใช้ชีวิต ดื่ม กิน เที่ยวเล่น และเกิด แก่ เจ็บ ตายกันอยู่นั้น การจะหาแก้วทั้ง 7 ประการที่ว่า แม้เพียงสักประการใด ประการหนึ่ง มาประดับบุญญาธิการให้กับพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนๆ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลยทั้งนั้นนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว แก้วทั้ง 7 ประการดังกล่าวก็คงจะมีอยู่เฉพาะในโลกของอุดมคติเท่านั้นแหละ

แต่สิทธิธรรมในการครองราชย์ของกษัตริย์ ในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะกษัตริย์ในยุคก่อนสมัยใหม่ (Modernity) สัมพันธ์อยู่กับพระศาสนาอย่างแยกกันไม่ขาด ปรัมปราคติเกี่ยวกับพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ และทรงธรรม อย่างเรื่อง พระจักรพรรดิราช จึงถูกเน้นย้ำ และกล่าวถึงอยู่โดยไม่ขาดสายมาโดยตลอด

ดังนั้น อันที่จริงแล้ว คติเรื่อง “พระจักรพรรดิราช” จึงไม่ได้ล่องลอยอยู่เฉพาะในโลกของปรัมปราคติเท่านั้นหรอกนะครับ แต่ถูกนำมาสวมทับเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อผลประโยชน์การใดการหนึ่งอยู่เสมอ

และการที่ “กษัตริย์” จะมีสถานะเป็น “พระจักรพรรดิราช” ได้นั้น จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้กษัตริย์มีฐานะประดุจดั่งพระเป็นเจ้า

 

ส่วนพระเป็นเจ้าที่ผมกล่าวถึงในที่นี้นั้น มีความหมายตามอย่างเก่าว่า หมายถึง พระอินทร์ ผู้เป็นราชาเหนือหมู่เทพทั้งหลาย แล้วค่อยเกลื่อนกลายมาเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังพระเวทอย่าง พระศิวะ และพระวิษณุ อย่างที่คุ้นเคยกันมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีของพระวิษณุนั้น คัมภีร์ปุราณะบางฉบับถึงกับถือว่า พระจักรพรรดิราชนั้นเป็นอวตารหนึ่งของพระองค์เลยทีเดียว

ส่วนพิธีกรรมที่ว่านี้ก็จะมีชื่อเรียก และรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละตำรา แต่อนุโลมเรียกรวมๆ กันว่า “พิธีราชสูยะ” ซึ่งได้แพร่หลายเข้าไปในหมู่ชนที่ยอมรับนับถือพระศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธ หรือว่าพราหมณ์ก็ดี อาจกล่าวได้ด้วยว่า พิธีดังกล่าวเป็นต้นเค้าที่มาของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปัจจุบันนั่นเอง

และการสร้างความชอบธรรมของกษัตริย์ ให้มีฐานะประดุจเทพเจ้า ในพิธีกรรมเหล่านี้ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์บางอย่าง ในการสร้างสิทธิธรรมนั้นด้วย

ลักษณะอย่างนี้อาจเห็นได้ชัดจาก เครื่องราชูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งก็คือแนวความคิดที่ไม่ต่างไปจาก แก้ววิเศษ 7 ประการ ที่จะมีเฉพาะพระจักรพรรดิราชที่ถือครองไว้นั่นแหละครับ

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ถึงจะไม่มีแก้ววิเศษทั้ง 7 ประการ อยู่ในโลกนอกปรัมปราคติ แต่มนุษย์เราก็สามารถสถาปนาข้าวของ หรือวัตถุสำคัญบางชิ้น ให้เป็นสมบัติที่มีเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่มีสิทธิในการถือครอง จนต้องใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนั้นวัตถุเฉพาะเหล่านี้ย่อมมีนัยยะเป็นภาพสะท้อนถึงความสำคัญบางอย่าง

อย่างน้อยก็ในโลกสมัยที่ได้ริเริ่มนำเอาวัตถุชิ้นนั้นมารวมเข้าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เพื่อแสดงพระราชอำนาจ บารมี และสิทธิธรรม ของผู้รับมอบข้าวของชิ้นนั้น ในประกอบพระราชพิธีบรมราชภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์นั่นเอง

 

แนวคิดเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงเป็นเรื่องที่มีปรากฏมาตั้งแต่โบราณแล้วนะครับ อย่างน้อยก็มีปรากฏอยู่ในบันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ ของจิวตากวน ชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในในเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา เมื่อราว พ.ศ.1839

จิวตากวนได้กล่าวถึง “พระขรรค์” ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏความว่า

“…พระเจ้าแผ่นดินองค์พ่อตาทรงมีพระสิเนหาในพระราชธิดา พระราชธิดาจึงได้ทรงลักเอาพระขรรค์ทองคำไปให้พระสวามี เป็นเหตุให้พระโอรสาธิราชทรงสืบสันติวงศ์ต่อไปไม่ได้…”

จากข้อความในบันทึกของจิวตากวน แสดงให้เห็นว่า พระขรรค์ทองคำที่ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ของสิทธิธรรมสำหรับการครองราชย์ จนถึงขนาดที่ถ้าหายไป แม้กระทั่งผู้เป็นรัชทายาทก็ไม่สามารถสืบราชสมบัติต่อไปได้

มีข้อสันนิษฐานมากมายที่ว่า พระขรรค์ทองคำในบันทึกของจิวตากวนนี้ คือพระแสงขรรค์ชัยศรี อันเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสยาม ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคอยุธยา และสืบเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ เพราะปรากฏความจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ซึ่งได้มาจากวัดศรีชุม จ.สุโขทัย ซึ่งกล่าวถึงพระขรรค์แสงชัยศรี ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับพระราชทานมาแต่กษัตริย์แห่งนครธม

แม้ว่ารายละเอียดในบันทึกของจิวตากวน จะไม่ต้องตรงกันกับข้อความในจารึกวัดศรีชุมทั้งหมด แต่ก็พอจะเปรียบเทียบกันได้ และชวนให้เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน (แม้ว่าอาจจะดูเป็นความจริงคนละด้านก็ตาม) ดังความในจารึกหลักนี้ที่ว่า

“…เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรียโสธรปุระ ให้ลูกสาวชื่อนางสิขรมหาเทวีกับขันชัยศรีให้นามเกียรติแก่พ่อนขุนผาเมือง…”

ข้อความในจารึกข้างต้น แปลความหมายตรงตัวได้ว่า ผีฟ้า เจ้าเมืองยโสธรปุระ (หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง) ได้พระราชทาน พระแสงขรรค์ชัยศรี พร้อมกับนางศิขรเทวี อันเป็นพระราชธิดาของพระองค์ ให้กับพ่อขุนผาเมือง

พระแสงขรรค์ชัยศรี จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับอำนาจของผีฟ้าแห่งเมืองยโศธรปุระ พร้อมๆ กับที่เชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองพระแสงขรรค์องค์นั้น เข้าอำนาจของอารยธรรมอันเรืองรองของเมืองพระนครหลวงนั่นเอง

 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม พระแสงขรรค์ชัยศรี ได้ถูกโอนถ่ายมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในราชสำนักอยุธยา จนกระทั่งเมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตก ในปี พ.ศ.2310 พระแสงขรรค์ชัยศรีก็ได้หายสาบสูญไปด้วย

ต่อมาใน พ.ศ.2327 ได้มีชาวประมงทอดแหได้พระขรรค์เก่า ที่ตนเลสาบเขมร ละแวกเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่าเป็น พระแสงขรรค์ชัยศรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) จึงให้พระยาพระเขมร เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองคำลงประดับอัญมณี และใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในราชวงศ์จักรีมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

มีเกร็ดเล่าเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่เชิญมาถึงกรุงเทพฯ ได้มีอสนีบาตตกลงมาถึง 7 แห่ง โดยสองแห่งในที่นี้เป็นประตูพระบรมมหาราชวัง คือประตูวิเศษไชยศรี และประตูพิมานไชยศรี

เป็นเหตุให้ประตูทั้งสองแห่งนี้ได้สร้อยนามตามชื่อ พระแสงขรรค์ชัยศรีด้วย

 

น่าสังเกตนะครับว่า พระแสงขรรค์ชัยศรีด้ามนี้ก็ต้องได้มาจากตนเลสาบเขมร บริเวณละแวกเมืองเสียมเรียบ ซึ่งก็คือที่ตั้งของเมืองนครธมมาแต่เดิม ลักษณะอย่างนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างพระแสงขรรค์ชัยศรี กับอารยธรรมอันรุ่งเรืองของพวกขอมในอดีตอย่างเห็นได้ชัดเจน

นอกจากพระแสงขรรค์ชัยศรีแล้ว เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ ในยุครัตนโกสินทร์ยังประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน นับรวมห้าประการจึงเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ และใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาธิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนองค์พระจักรพรรดิราช ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา

ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็เชื่อได้ว่ามีต้นเค้าที่มาอยู่ไม่มากก็น้อย