สถานการณ์สื่อ 2559 ถดถอย – ปรับตัว รับมือศึกหนัก 2560

ปี2559 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งการระส่ำระสายของวงการสื่อไทย โดยเฉพาะนิตยสารต่างๆ ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ระบุก่อนสิ้นปี 2559 ว่า นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ ถือเป็นอันดับ 3 ในธุรกิจ “ร่วง” แห่งปี สะท้อนภาพความสุ่มเสี่ยงที่คนในธุรกิจนี้ จะต้องประคองตนเองด้วยความระมัดระวัง

ในปี 2559 มีนิตยสารต่างๆ ทยอยปิดตัวดังนี้

ต้นปี มกราคม 2559 เริ่มจาก Candy นิตยสารวัยรุ่น ในเครือโมโนกรุ๊ป, จากนั้น เดือนกุมภาพันธุ์ เป็นคิวของ Volume นิตยสารแฟชั่นที่วางแผงมาหลายปี

เดือนพฤษภาคม Image แม็กกาซีนแฟชั่นที่ถือว่าเป็นหัวยอดนิยม ประกาศปิดตัวไป

ตามมาด้วย Cosmopolitan นิตยสารหัวนอก

เดือนมิถุนายน “บางกอกรายสัปดาห์” นิตยสารนิยายแนวแอ๊กชั่นระดับมหาอำนาจ ที่เคยมียอดจำหน่ายสูงสุด นิยายในเล่มกลายเป็นภาพยนตร์มาแล้วมากมาย นักเขียนดังๆ มากมายฝากฝีไม้ลายมือไว้ในหนังสือเล่มนี้ ประกาศปิดตัวลง

เดือนสิงหาคม Seventeen หัวนอกอีกเล่มปิดตัว

หลังจากนิตยสารร่วงไประลอกใหญ่ มาถึงสื่อทีวี CTH ที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยการประมูลฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกของอังกฤษด้วยมูลค่าสูงลิ่ว ประกาศยุติออกอากาศตั้งแต่ 1 สิงหาคม

“ทีนิวส์” ยุติออกอากาศ 1 ตุลาคม แล้วย้ายไปรับจ้างผลิตข่าวในไบรท์ทีวี

นิตยสารสกุลไทย ที่อยู่คู่สังคมการอ่านของไทย สร้างความทรงจำให้กับนักอ่านมากมายหลายรุ่น ลาโรงไปอีกเล่มในระยะนี้ ท่ามกลางความอาลัยอาวรณ์ของผู้อ่านจำนวนมาก

ทีวี MCOTWORLD ช่องภาษาอังกฤษของ อสมท ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2555 หยุดออกอากาศ 15 ตุลาคม

คลื่นวิทยุวัยรุ่น SEED 97.5 FM ม้วนเสื่อตามมาติดๆ

เดือนพฤศจิกายน อมรินทร์พริ้นติ้ง เพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น ขายหุ้นให้กับ 2 ทายาทเบียร์ช้าง ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท ราคาหุ้นละ 4.25 บาท ทำให้ทั้งคู่ครองหุ้นของอมรินทร์ถึง 47.62%

สำหรับอมรินทร์ มีหนังสือในเครือได้แก่ นิตยสารแพรว บ้านและสวน และอมรินทร์ทีวี อันเป็นช่องทีวีดิจิตอล

ทีวีเคเบิล Media 84 เน้นภาพยนตร์ บันเทิง ยุติออกอากาศอีกช่อง ในตอนปลายเดือนพฤศจิกายน

นิตยสาร Lips แนวแฟชั่นไฮโซของ ศักดิ์ชัย กาย ปรับเป็นฟรีก๊อบปี้

นิตยสารไฮโซชื่อดัง พลอยแกมเพชร โดย บ.ก.ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล ยุติตั้งแต่ฉบับ 16 ธันวาคมเป็นต้นไป

เช่นเดียวกับ นิตยสารภาพยนตร์บันเทิงที่ยุติไป

และตั้งแต่ 1 มกราคม ศกใหม่ จะไม่ปรากฏหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่ยืนยาวมา 44 ปี บนแผงอีก เป็นรายวันฉบับแรกที่ปิดตัวลงไป

นั่นคือปี 2559 ที่กลืนกินนิตยสารและหนังสือพิมพ์ไปในระดับประวัติการณ์

 

สําหรับวงการหนังสือพิมพ์ หลังการรัฐประหาร 2557 ก็ประสบปัญหาเรื่องการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ เพราะต้องเป็นไปตามกรอบประกาศ คสช.

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลดังกล่าวได้อย่างอิสระเสรี เห็นได้จากการที่นักข่าวตั้งฉายารัฐบาลแต่ละชุดได้อย่างเต็มที่

แต่กลับต้องเว้นวรรคการตั้งฉายาในห้วงรัฐบาล คสช.

ระหว่างการชัตดาวน์ของกลุ่ม กปปส. ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 สื่อส่วนหนึ่งสนับสนุนการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลเพื่อไทยอย่างเต็มที่

หลายคนขึ้นเวทีวิพากษ์รัฐบาลเพื่อไทยในขณะนั้น แสดงความชิงชังออกมาเต็มเหยียด

กระทั่งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป

สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ทำให้มีปัญหางบฯ โฆษณา ขณะที่ข่าวสารในเล่มอยู่ในข้อจำกัด จังหวะเดียวกับการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ การกระจายข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ที่รวดเร็ว และมีความ “แหลม” มากกว่า เพราะสายตาผู้มีอำนาจล้วงเข้ามาไม่ถึง

ปี 2559 ทุกค่ายประสบปัญหารายได้ ข่าวสารการปรับองค์กร ยุติการรับพนักงานเพิ่ม ตัดค่าใช้จ่ายของค่ายต่างๆ เป็นประเด็นโอชะที่ตีคู่มากับการเติบโตของสื่อออนไลน์

ขณะที่องค์กรสื่อ กำลังเหน็ดเหนื่อยกับการติตตามคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ภาครัฐผลักดัน มีข้อกำหนดเพิ่มอำนาจภาคการเมืองและรัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อ

เป็นผลงานของคนทำงานสื่อกลุ่มหนึ่งไปร่วมมือกับ คสช. และกำลังย้อนกลับมาเป็นปัญหาของวงการ

สื่อหลายค่าย ต้องปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตของสื่อออนไลน์ มีทั้งโมเดลใช้กองบรรณาธิการเข้ามารับงานออนไลน์เพิ่ม

และอีกโมเดล ได้แก่ การตั้งกองบรรณาธิการออนไลน์ขึ้นมาใหม่ แยกงานกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน

สภาพความเป็นจริงในปี 2559 ชัดเจนว่า สื่อออนไลน์ คืออนาคตที่มองเห็นชัดอยู่แล้ว ขณะที่สื่อกระดาษ ยังมีผู้อ่านอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

ผลทางปฏิบัติ ก็คือ การขยายตัวออกไปทางสื่อออนไลน์ ปรับความเคยชินในการทำงานข่าวของกองบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวใหม่

ส่วนทีวีดิจิตอล ที่ทุ่มเทเม็ดเงินเข้าประมูล ในช่วงปลายรัฐบาลเพื่อไทย และมาเปิดตัวจังหวะเดียวกับที่เกิดการรัฐประหาร 2557 กลายเป็นปัญหาที่ต้องมีการเยียวยา

คสช. ได้ออกประกาศเมื่อ 20 ธันวาคม ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เลื่อนการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จาก 6 ปีเป็น 9 ปี แต่คิดดอกเบี้ยเพิ่มจากระยะเวลาที่ยืดด้วย

สนับสนุนค่าส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายดาวเทียมให้กับผู้ประกอบการเป็นเวลา 3 ปี โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัย (กทปส.)

สื่อทีวี ยังเป็นสื่อที่ประชาชนนิยมและเข้าถึงได้ง่าย แต่ปัญหาคือ เม็ดเงินโฆษณาคงเดิมและมีแนวโน้มลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ช่องต่างๆ มีมากขึ้นภายหลังการประมูลทีวีดิจิตอล

 

ในภาพรวม สื่อทั้งหลายต้องปรับตัวรับการเติบโตของสื่อออนไลน์ ที่นำพาผู้อ่านจำนวนมากไปอยู่ในจุดนั้น

ปมสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การรับผลกระทบจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจ หลังรัฐประหาร

รัฐประหาร 2549 สื่อมีส่วนไม่น้อยในการสนับสนุน และชื่นชมทหาร ภายหลังรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นล้มไป

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ นายกสมาคมนักข่าวฯ รับเชิญไปนั่งในสภาแต่งตั้ง

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารครั้งนั้น ไม่มีการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพสื่อมากเท่าครั้งปัจจุบัน

และยังมีการคืนอำนาจหลังจาก 1 ปี ทำให้สื่อที่สนับสนุนอาจยังไม่เห็นพิษภัยของรัฐประหาร สามารถกลับมาใช้เสรีภาพได้อย่างกว้างขวาง ตลอดยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมเวลาเกือบ 7 ปี

แต่รัฐประหาร 2557 แตกต่างออกไป ทั้งความยืดเยื้อภายใต้สถานการณ์พิเศษที่กินเวลามากกว่า 2 ปี

ผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจน และกลายเป็นอีกปัจจัยที่เร่งความถดถอย นอกเหนือจากการมาถึงและขยายตัวอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์

ปี 2559 จึงเป็นปีแห่งความเสื่อมถอยของสื่อเก่า และถูกทดแทนโดยสื่อใหม่หรือนิวมีเดีย

มองไปในปี 2560 ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น จะทรงตัว หรือดีขึ้น

สังคมยังต้องเสพข่าวสาร และต้องการข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ แต่จะเสพผ่านช่องทางใด และจะสร้างธุรกิจสื่อที่คุ้มค่าขึ้นบนช่องทางนั้นอย่างไร เป็นการบ้านยากเย็นของสื่อในปีใหม่ 2560 นี้