ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
ผู้เขียน | นายดาต้า |
เผยแพร่ |
ตามความเข้าใจแบบเดิมๆ โครงสร้างอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย โดยที่แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ในการถ่วงดุลหรือตรวจสอบซึ่งกันและกัน
ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ
ด้วยบทบาทที่กำหนดไว้ ทำให้มีความจำเป็นต้องทำให้แต่ละฝ่ายมีอิสระในการทำหน้าที่
แต่ “รัฐธรรมนูญ” ที่บางพวกบางฝ่ายประกาศว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และถึงกับตอกย้ำว่า “ดีไซน์มาเพื่อให้พรรคที่ตัวเองสังกัดเท่านั้นเป็นรัฐบาลได้ พรรคอื่นไม่มีทาง”
โครงสร้างอำนาจที่ดีไซน์แบบนี้ เมื่อมองผ่านเลนส์ประชาธิปไตย จึงให้ความรู้สึกแปลกประหลาดในระดับพิลึกกึกกือ
ด้วยมีอำนาจนอกเหนือ 3 อำนาจอธิปไตยขึ้นมา นั่นคือบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมามากมาย
เป็นองค์กรที่แสดงบทบาทกันอย่างคึกคัก เพื่อให้เห็นว่า “รัฐสภา” โดยเฉพาะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เหลือความหมายในเชิงผู้มีอำนาจน้อยมาก
เท่านั้นยังไม่พอ กระบวนการที่ทำให้เห็นว่า “สมควรจะเป็นเช่นนั้น” ถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
น่าเศร้าตรงที่ ขณะเหตุผลที่ว่า “เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้” ได้จัดการตอกย้ำให้เกิดความรู้สึกว่า “นักการเมืองคือความเลวร้าย” แทนที่นักการเมืองจะรู้สึกตัวว่า “ถูกจัดการให้เป็นจำเลยของความดีงามทางการเมือง” กลับกลายเป็นมีพฤติกรรมเหมือนจะส่งเสริมเส้นทางที่ “อาชีพตัวเอง” ถูกเหยียดหยันอย่างเต็มอกเต็มใจ
การจัดตั้งรัฐบาลที่ดำเนินไป เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า “นักการเมือง” ยอมที่จะถูกสร้างภาพให้ดูย่ำแย่
จากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “ความอึดอัดของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล”
ในคำถามที่ว่า “ประชาชนคิดว่าปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อ เกิดจากสาเหตุอะไร?” ประชาชนมากถึงร้อยละ 67.45 เห็นว่า “เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว แย่งเก้าอี้ไม่ได้ตามข้อเสนอที่ต้องการ”
นั่นหมายถึงการตอกย้ำให้ภาพของนักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่ประชาชนมองว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมประสบความสำเร็จ
ซึ่งยืนยันในเรื่องนี้ซ้ำได้จากคำตอบในคำถามที่ว่า การจัดตั้งรัฐบาลทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองมากน้อยเพียงใด ซึ่งปรากฏว่าคำตอบร้อยละ 76.29 บอกว่าเบื่อหน่ายมากขึ้น
นักการเมืองเป็นผู้ถูกกระทำ
“ดีไซน์ที่ทำให้ไม่มีทางสู้” ควรจะเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนน่าจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจแบบอภิสิทธิ์ชน
ทว่าประชาชนกลับโฟกัสมาที่ท่าทีของนักการเมืองออกมาในทางลบ
ทั้งที่ความพิลึกกึกกือควรจะเป็นภาพของ “การดีไซน์โครงสร้างอำนาจ” และ “การใช้อำนาจอย่างไม่สะดุ้งต่อคำวิจารณ์เรื่องสำนึกคุณธรรม”
แต่การทำให้ “นักการเมือง” เป็นความเลวร้ายและน่ารังเกียจ กลายเป็นความสำเร็จ
โดยที่ “นักการเมือง” ดูจะสมรู้ร่วมคิดกับการทำลายอนาคตระยะยาวของตัวเอง
เพียงแค่ขอให้ได้ประโยชน์เฉพาะหน้า