นีลส์ โฮเกล : บุรุษพยาบาลฆาตกร 100 ศพ

นีลส์ โฮเกล อดีตบุรุษพยาบาลชาวเยอรมัน วัย 42 ปี ต้องเข้าฟังคำตัดสินโทษ หลังก่อเหตุฆาตกรรมคนไข้ที่อาจมีมากถึง 200 รายในวันที่ 6 มิถุนายน ในคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจากภาวะหลงตัวเอง เสพติดความมีอำนาจเหนือผู้ป่วยซึ่งถูกสุ่มเลือกจากความ “เบื่อหน่าย” จากการทำงาน

โฮเกลยอมรับว่าตนฉีดยาที่ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย หรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ให้กับคนไข้เพียงเพื่อที่ตนจะปั๊มหัวใจช่วยชีวิตคนไข้ให้ฟื้นคืน และเสพติดเสียงชื่นชมในฐานะ “ฮีโร่” จากเพื่อนร่วมงาน

“เกมมรณะ” ดำเนินไปเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้คนไข้ในความดูแลของโฮเกลเสียชีวิตไปอย่างน้อย 100 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าเหยื่อของบุรุษพยาบาลโหดรายนี้อาจมีมากถึง 200 ราย

การไต่สวนครั้งล่าสุดนี้นับเป็นการไต่สวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นครั้งที่สาม หลังจากไต่สวนเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2015 โดยการไต่สวนสองครั้งก่อนหน้านี้ โฮเกลถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและต้องโทษจำคุกไปแล้ว 15 ปี

ทว่าทีมสืบสวนยังคงสืบสาวต่อไปด้วยการขุดศพของผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อของโฮเกลขึ้นมาตรวจสอบเพิ่มเติม

 

“หากผมรู้หนทางที่จะช่วยพวกคุณ ผมจะรีบทำเลย เชื่อผม” โฮเกลกล่าวขอโทษกับครอบครัวผู้เสียชีวิตในการไต่สวนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

และว่า “ผมรู้เต็มอกแล้วในตอนนี้ว่าผมติดค้างคำอธิบายกับญาติๆ ทุกคน ผมต้องขอโทษจากใจ”

แน่นอนว่าพฤติกรรมโหดเหี้ยมเลือดเย็นดังกล่าวไม่ได้ถูกจับสังเกตได้ก่อนหน้านี้เลย เมื่อสื่ออย่าง “นอร์ธเวสต์ ไซตุง” ขุดคุ้ยประวัติและสอบถามคนใกล้ตัวของโฮเกล ไม่ว่าจะเป็นอดีตครู หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งต่างอธิบายถึงโฮเกลว่าเป็นคนที่ “เป็นมิตร” “มีน้ำใจ” รวมไปถึง “สนุกสนาน”

ครูของโฮเกลระบุถึงอดีตลูกศิษย์ว่าเป็นเพียง “เด็กนักเรียนธรรมดาคนหนึ่ง” ที่ชอบเตะฟุตบอลมากกว่าการเรียนในห้อง

 

โฮเกลเกิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปี ค.ศ.1972 ในเมืองวิลเฮล์มชาเวน เมืองชายฝั่งของประเทศเยอรมนี ในครอบครัวชาวคริสต์นิกายคาทอลิกที่ “อบอุ่นและมีปกติสุขดี”

ในวัย 16 ปี โฮเกลเริ่มต้นฝึกงานที่โรงพยาบาลในบ้านเกิด ในตำแหน่ง “บุรุษพยาบาล” อาชีพเดียวกันกับพ่อของโฮเกลเอง

แม้โฮเกลจะไม่ได้แสดงออกว่าพึงพอใจกับอาชีพที่ทำ แต่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาเป็นคน “ดี” ในช่วง 2-3 ปีที่โรงพยาบาลดังกล่าว

แต่ทว่าภาพลักษณ์อันแสนดีนั้นถูกฉีกออกจากพฤติกรรมฆาตกรรมต่อเนื่องในช่วงปี 2000-2005 เมื่อโฮเกลยอมรับว่าตั้งใจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจวายจำนวนมาก ก่อนจะปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตขึ้นมาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบกับความล้มเหลว

เอกสารคำให้การของพยานระบุว่า โฮเกลเคยบอกนางพยาบาลฝึกงาน 2 คนที่โฮเกลพยายามสร้างความประทับใจให้ดูเขาขณะที่กำลังช่วยชีวิตคนไข้รายหนึ่ง ขณะที่อัยการระบุว่า โฮเกลมีแรงจูงใจจากความหยิ่งยโสจากการทำงานในฐานะมืออาชีพ และเสพติดคำชื่นชม รวมไปถึงมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากความเบื่อหน่าย

ผู้พิพากษาผู้ตัดสินโทษโฮเกลในปี 2015 ระบุว่า โฮเกลทำไปด้วยความภูมิใจ โดยใช้คนเป็นตัวประกัน

ขณะที่คริสเตียน มาร์บัค ผู้เสียปู่ไปด้วยน้ำมือของโฮเกล ระบุว่าโฮเกลเป็น “ชายหม่นหมองผู้มอบพลังของพระเจ้าให้ตัวเอง”

 

เอกสารการประเมินสภาพจิตของโฮเกลจำนวน 200 หน้าระบุว่า โฮเกลไม่ได้มองคนไข้ของตนเองเป็น “ปัจเจกชน” และรายงานด้วยว่า โฮเกลมีภาวะ “หลงตัวเองขั้นรุนแรง”

พฤติกรรมของโฮเกลนั้นถูกเปิดโปงที่โรงพยาบาลโอลเดนเบิร์ก เมืองตอนเหนือของเยอรมนี ที่ซึ่งโฮเกลเริ่มต้นทำงานในปี 1999 เมื่อมีการทำซีพีอาร์ปั๊มหัวใจช่วยชีวิต และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นภายใต้การดูแลของโฮเกลเอง จนโฮเกลได้ฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็น “ตัวซวย” และบางรายเลี่ยงที่จะทำงานร่วมกับโฮเกล

โฮเกลถูกผลักดันให้ออกจากงานพร้อมจดหมายแนะนำในแง่บวกเพื่อให้โฮเกลลาออกให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับจำนวนการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด

โฮเกลแต่งงานและมีลูกสาว 1 คน ยังคงทำงานเป็นบุรุษพยาบาลต่อที่โรงพยาบาลในเมืองเดลเมนฮอร์สต์ เมืองใกล้เคียง และแน่นอนว่า ที่นี่โฮเกลได้ฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่า “แรมโบ้แห่งการกู้ชีพ” จนกระทั่งความจริงถูกเปิดโปงในปี 2005

คอนสแตนติน คาไรโอฟิลิส นักจิตวิทยาผู้เขียนรายงานประเมินสภาพจิตของโฮเกลระบุว่า ในช่วงเวลาที่โฮเกลกู้ชีพคนไข้นั้น โฮเกลจะมีความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจไปหลายวัน

“สำหรับเขาแล้ว มันเหมือนยาเสพติด” คาไรโอฟิลิสระบุ