ทำไม่สิงคโปร์ถึงใส่ใจในเรื่องต้นไม้มาก แล้วบ้านเราหละ ? | ต้นไม้ริมทาง : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ต้นไม้ริมทาง

สองสามวันที่ผ่านมานี้มีเพื่อนรุ่นน้องไปเที่ยวเมืองสิงคโปร์ เขาถ่ายรูปท่าอากาศยานชางฮีหลังใหม่ ที่มีน้ำตกขนาดใหญ่ตกลงมาจากเพดานเป็นท่อธารใหญ่กลางอาคารส่งมาให้ดู พร้อมกับรูปถนนหนทางต่างๆ ในบ้านเมืองแห่งนั้น

เห็นแล้วรู้สึกอึดอัดฮึดฮัดเป็นกำลังครับ เป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อเราเห็นบ้านอื่นเมืองอื่นเขามีอะไรดีงาม เราก็อยากให้บ้านเรามีบ้าง

น้ำตกลงรูนั้นก็ช่างเถิด ไม่มีก็ไม่ว่ากัน

แต่วันนี้จะชวนคุยเรื่องต้นไม้ครับ

ดินฟ้าอากาศสิงคโปร์กับเมืองไทยก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย

แต่ทำไมหนอ ต้นไม้เมืองสิงคโปร์จึงได้เขียวชอุ่มถึงขนาดนั้น

สำหรับท่านที่ไม่เคยไปเมืองสิงคโปร์ขออนุญาตบรรยายความสักเล็กน้อยนะครับ สิงคโปร์เป็นเกาะที่มีขนาดไม่ใหญ่โต แต่เขาช่างขยันปลูกต้นไม้เอาไว้เสียทุกที่

เริ่มตั้งแต่ในสนามบินเลยทีเดียว ดูประหนึ่งว่าเขายกสวนที่มีต้นไม้นานาพันธุ์เข้ามาอยู่ในสนามบิน

ถนนที่เชื่อมระหว่างสนามบินกับตัวเมืองก็ปลูกต้นไม้สามสี่แถว แลดูเขียวชื่นตา ลดความกระด้างของอาคารคอนกรีตที่อยู่ห่างออกไปหน่อยหนึ่งได้อย่างสนิทแนบเนียน

ภายในเมืองนั้นเล่า ถนนทุกสายมีต้นไม้เรียงรายอยู่สองฟากฝั่ง บนอาคารบางหลัง มีเทวดาเหาะขึ้นไปทำสวนลอยไว้ข้างบนด้วย

ผมหมายความว่าบนอาคารนั้นมีสวนอยู่บนดาดฟ้า ต้นไม้บางส่วนยื่นย้อยห้อยลงมาข้างล่าง มองไปข้างไหนก็เห็นแต่สีเขียวขจี

ถ้ามีโอกาสไปเมืองสิงคโปร์เมื่อไหร่และพอมีเวลาว่าง ผมมักจัดสรรเวลาให้ตัวเองไปเดินทอดน่องที่สวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Gaeden) ขนาดใหญ่ประจำเมือง ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม

และทางการเขาก็ทำนุบำรุงรักษากันสืบต่อมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติ

นอกจากสวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นมรดกเก่าแล้ว สิงคโปร์เขายังสร้างสวนใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า Garden by the Bay เพิ่มขึ้นเมื่อไม่ช้านานมานี้

สวนอันหลังนี้เก็บค่าเข้าชมแพงกว่าสวนพฤกษศาสตร์ ท่าทางจะเซ็งลี้ฮ้ออยู่ไม่ใช่น้อย ในขณะที่สวนพฤกษศาสตร์เก็บค่าเข้าชมนิดเดียว นัยว่าเพื่อเป็นวิทยาทาน

ว่าโดยรวมแล้วเมืองสิงคโปร์เขาใส่ใจในเรื่องต้นไม้มาก มากจนต้องย้อนกลับมาคิดว่าบ้านเราทำไมถึงไม่สนใจกับเรื่องเหล่านี้ และผมจะไปบ่นให้ใครฟังได้บ้าง

เมื่อยังนึกไม่ออกก็ขอบ่นไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ

เมื่อไม่นานมานี้ผมพลิกอ่านหนังสือเรื่อง “ประวัติเจ้าคุณพ่อ” ที่หม่อมหลวงยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณบิดาคือเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) พรรณนาสภาพบ้านเมืองของกรุงเทพฯ เราเมื่อปลายรัชกาลที่สี่ต่อเนื่องกับต้นรัชกาลที่ห้า กรุงเทพฯ สมัยนั้นไม่ต้องปลูกต้นไม้ เพราะมีต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิมมากมายไปหมด

ท่านเล่าไว้ดังนี้

“…ว่ากันไปทำไมมี กรุงเทพพระมหานครเวลานั้นก็คือป่าเตี้ยปนละเมาะเราดีๆ นี่เอง มีทุ่งหญ้าแทรกแซงอยู่บ้างเป็นตอนๆ เพิ่งมีมนุษย์มาหักร้างถางที่ ปลูกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อมๆ รอบพระนคร…ถนนครั้งนั้นก็คือช่องป่าที่กรุยใหม่ เพิ่งฟันต้นไม้ใหญ่ลงพอหายเกะกะเท่านั้น ทางที่ใช้สัญจรกันจริงๆ ก็เพียงแนวที่เตียนราบด้วยเท้าย่ำ กว้างพอตะแคงหลีกกันได้ครือๆ นอกนั้นก็รกรุงรังด้วยหญ้า พงแขม ผักโขม…”

เส้นทางคมนาคมส่วนใหญ่ของผู้คนครั้งนั้นคือแม่น้ำลำคลอง ต้นไม้ไม่ต้องคิดห่วงใยกังวลที่จะปลูกเพิ่ม เพราะขึ้นอยู่มากมายตามธรรมชาติ

ถนนชนิดที่เรารู้จักกันทุกวันนี้มีจำนวนไม่มาก และเป็นถนนที่ปราบดินให้เรียบ พอใช้เป็นทางสัญจรดังที่ท่านผู้ใหญ่เล่ามาข้างต้นเท่านั้น

ถนนใหญ่ในพระนครตั้งแต่ครั้งต้นกรุงเห็นจะมีอยู่ไม่กี่สาย และส่วนมากก็อยู่ใกล้กันกับพระบรมมหาราชวัง

ที่ผมนึกออกชัดเจนคือถนนสนามไชย ที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออกของวังหลวง ถนนเส้นนั้นวิ่งตรงมาจากวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ ผ่านท้องสนามไชย มุ่งตรงไปยังท้องสนามหลวง

ถนนสายนี้มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางกว่าถนนอื่น เพราะต้องใช้ในราชการงานสำคัญหลายอย่าง เวลามีริ้วกระบวนแห่พระราชพิธีสำคัญก็เดินตามถนนเส้นนี้เป็นหลัก

เมื่อถึงคราวมีงานก็จะปราบหน้าถนนให้เรียบและโรยทรายเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

ยังพอหาภาพเก่าในอดีตของถนนสายนี้ชมได้อยู่

มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัดถนนอย่างเมืองยุโรป เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสามสาย มีชื่อสอดคล้องกันว่า ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร ในเวลาที่ตัดถนนสามสายนี้ ยังไม่มีท่านผู้ใดหรือใครคิดถึงเรื่องการปลูกต้นไม้สองข้างถนน เพราะไม่ใช่ของจำเป็นในเวลานั้น ต้นไม้ยังมีอยู่มากมายทั่วไปในพระนคร

ครั้นล่วงมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงหลังของรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินนั้นทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนหลายสายเพื่อเพิ่มพูนความเจริญของพระนครและเป็นความสะดวกแก่ประชาชนที่จะสัญจรไปมา

ถนนที่ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้านอกจากจะมีความกว้างขวาง งดงามแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริให้ปลูกไม้ยืนต้นไว้สองฟากฝั่งถนนด้วย

ทรงใส่พระราชหฤทัยเลือกเฟ้นว่าถนนไหนจะปลูกต้นอะไร

ต้นไม้ที่ทรงเลือกปลูกนั้นมีหลายอย่าง เช่น มะขาม มะฮอกกานี ขนุน ชมพู่สาแหรก มะม่วง ประดู่ ฯลฯ

ถนนแต่ละสายทรงเลือกกำหนดต้นไม้หนึ่งชนิด เพื่อเป็นลักษณะเฉพาะของถนนเส้นนั้น

ทรงพิถีพิถันแม้กระทั่งระยะห่างระหว่างต้นไม้แต่ละต้น และการกระทบกระทั่งหรือเบียดเสียดกันระหว่างต้นไม้กับเสาไฟฟ้าส่องสว่างของถนน ดังได้พระราชทานพระราชกระแสว่า

“…เหนว่าไฟจะอยู่ที่ไหนไม่ดีเท่าอยู่แนวเดียวกับต้นไม้ แต่ให้อยู่หว่างต้นไม้ ให้สว่างได้ทั้งถนนรถแลถนนคนเดิน แต่ข้อที่ต้นไม้จะโตขึ้นไปเบียดสายได้นั้นก็จริง ถ้าเยื้องเสากับต้นไม้เสียก็ได้แต่ไม่สู้งาม สู้แนวเสาตรงกับต้นไม้ ท้าวแขนเหล็กมียื่นออกไป สายลวดคงไม่ตรงกับลำต้น…”

ถนนราชดำเนินนอกคือถนนตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต ที่เราได้เห็นต้นมะขามปลูกอยู่สองฝั่งถนนจนทุกวันนี้ก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้นตามพระราชดำริมาตั้งแต่รัชกาลนั้น

ส่วนถนนราชดำเนินกลางคือถนนตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลาไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เคยมีต้นมะขามเหมือนกันครับ แต่ดูเหมือนจะปลูกขึ้นภายหลังต้นมะขามที่ถนนราชดำเนินนอกหน่อยหนึ่ง

ผมได้เคยพบหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาเรื่องต้นมะขามที่ถนนราชดำเนินกลางว่า

“ด้วยต้นมขามสำหรับที่จะปลูกที่ถนนราชดำเนินกลาง ระยะ 6 วาต่อ 4 ต้น เป็นจำนวนต้นมขาม 392 ต้น ที่ได้มีอยู่แล้ว 260 ต้น เป็นมขามขนาดเล็กสูงเพียงสามศอก สามศอกคืบเป็นอย่างสูง ลำต้นก็เล็ก จะปลูกถนนราชดำเนินกลางนี้เล็กกว่าถนนราชดำเนินนอกมาก จะโตไม่ทัน ถ้าได้มขามอย่างเช่นมขามนครชัยศรีส่ง สูง 5 ศอกจึงจะโตทันกัน ต้องรับพระราชทาน 392 ต้น”

น่าเสียดายนะครับที่ถนนราชดำเนินกลางเวลานี้ไม่เหลือมะขามสักต้นเดียว จะกลายเป็นเขียงอยู่ที่บ้านใครบ้างก็ไม่รู้ได้แล้ว

ความที่ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการปลูกต้นไม้ริมถนนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในพระนครเท่านั้น หากแต่ยังได้ล่วงเลยไปจนถึงเมืองเพชรบุรีด้วย ในยุคสมัยที่ทรงเริ่มการก่อสร้าง พระราชวังบ้านปืนหรือที่เรียกเป็นทางการในภายหลังว่าพระรามราชนิเวศน์ ทรงสั่งการไปที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) คราวหนึ่งว่า

“ต้นไชยพฤกษ์ที่พระอินทรเทพเอาให้ เอาออกมาแล้วหรือยัง ให้คิดกะปลูกริมถนนหน้าพระไชย ถ้ายังขาดควรจะถอนที่แบ่งไว้ในบางกอกที่เจ้าบ้าง ที่พญาไทบ้างออกมาให้พอ ให้กะดูว่าจะมากน้อยเท่าใด ปลูกตั้งแต่วงเวียนกรมออกไป ให้บอกโทรเลขถึงพระยาวรพงศ์ว่า ต้นไม้อะไรๆ ได้เตรียมหมด แต่มะม่วงมะพร้าวไม่เห็นมีออกมา เป็นของที่จะเป็นได้ดีที่นี่ทั้งสองอย่าง และหาได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย แซมที่ไหนแซมได้ ขอให้จัดซื้อออกมาอย่างละมากๆ เที่ยวแทรกตามรั้วตามขอบได้ทั้งนั้น”

เห็นไหมครับว่าการปลูกต้นไม้ริมถนนนั้นเป็นราชการสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงไร

พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นมีพระเดชพระคุณล้นเหลือในสารพัดเรื่อง รวมถึงเรื่องพระราชนิยมในเรื่องการปลูกต้นไม้ประดับบ้านเมือง ให้ได้ประโยชน์ทั้งความสวยงามและร่มเงา

ถ้ากรุงเทพมหานครจะสามารถปลูกต้นไม้หรือทำอะไรก็แล้วแต่ให้กรุงเทพฯ ของเราเขียวร่มรื่นอย่างบ้านเมืองอื่นเขาบ้าง ก็จะเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณเต็มเม็ดเต็มหน่วยและได้ประโยชน์กับชาวบ้านอย่างจริงจัง

ถ้ากรุงเทพมหานครทำเองไม่ได้ตามลำพัง จะไปชักชวนใครเขามาร่วมมือก็คงจะไม่ยากเย็นเกินกำลัง

ใครช่วยเอาบทความวันนี้ไปส่งท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทีเถิด

ได้ข่าวว่าท่านอยากอ่านเต็มทีแล้วครับ