เทศมองไทย : แรงต้านทรัมป์ในเอเชีย จากกรณี “หัวเว่ย”

การประชุมประจำปีทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียที่จัดกันขึ้นเป็นประจำทุกปีที่โรงแรมแชงกรี-ลา ที่สิงคโปร์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์น่าสนใจอย่างยิ่งขึ้นชนิดนอกเหนือความคาดหมาย

รายงานของบลูมเบิร์ก นิวส์ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการประชุมครั้งนี้เป็นพิเศษระหว่างวันที่ 2 และ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ให้ชวนคิดเป็นสองทาง

หนึ่งคือ โดยปกติแล้วตัวแทนของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ในที่ประชุมนี้มักตกอยู่ในสภาพถูก “รุมกินโต๊ะ” จากบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนและสหรัฐอเมริกาอยู่ร่ำไป

แต่จู่ๆ ครั้งนี้ บรรดาผู้นำและตัวแทนของชาติอาเซียนในที่ประชุม กลับใช้เวทีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการ “วิพากษ์วิจารณ์” แนวทางการดำเนินการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

เรื่องที่หยิบยกมาต่อว่าต่อขานกันในเวทีการประชุมด้านความมั่นคง กลับเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการต่อ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยีและโทรคมนาคมระดับพันล้านของจีน ซึ่งอาจแย้งกันได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงก็ได้ครับ แต่น้อยเหลือเกิน

การหยิบยกเรื่องหัวเว่ยขึ้นมาพูดถึงในเชิงวิพากษ์บนเวทีการประชุมความมั่นคงเช่นนี้จึงชวนสังเกตเป็นพิเศษอยู่ในตัวครับ

 

คนที่เปิดฉากฉะสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรกก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้นำสิงคโปร์ ที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมด้วยอีกต่างหาก

ลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เปิดประเด็นเรื่องนี้เอาไว้ในคำกล่าวเพื่อเปิดการประชุม หลังจากนั้นหลายต่อหลายตัวแทนก็แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน

รัฐมนตรีจากเมียนมาบอกว่า การดำเนินการทางการทูตว่าด้วย “กับดักหนี้” ของสหรัฐอเมริกาเป็นการขยายความเกินความเป็นจริง แทบทุกคนไม่เพียงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายอมรับการผงาดขึ้นมาสู่ระดับโลกของจีน ไม่เชื่อว่าภัยคุกคามจากหัวเว่ยจะมีนัยสำคัญถึงขนาดคอขาดบาดตาย

และทุกคนแสดงออกเหมือนกันหมดว่า อยากให้สงครามการค้ายุติเสียที

บลูมเบิร์กบอกว่า ในเวลานี้เกิดความกลัวกันขึ้นทั่วเอเชียว่าการปะทะกันระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสองฝ่ายจะลงเอยด้วยการที่ประเทศเล็กๆ ทั้งหลายกลายเป็นหญ้าแพรกแหลกอยู่ใต้อุ้งตีนช้างทั้งสองไป

พร้อมๆ กันนั้นในขณะที่หลายชาติในเอเชียเห็นตรงกันว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของจีนได้ดี

แต่ก็อดกังขาไม่ได้ว่า เหตุใดทรัมป์ถึงได้ไปไกลมากถึงขนาดต้อง “เตะตัดขา” ให้ล้มทั้งยืนกันขนาดนี้

ยิ่งเกิดกรณีหัวเว่ย ความกังวลที่ว่ายิ่งไปไกลกันมากขึ้น เนื่องจากโอกาสที่ห่วงโซ่ซัพพลายในระบบการผลิตที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของทั้งโลกอยู่ยิ่งมีโอกาสพังทลายชนิดถูก “ถอนรากถอนโคน” ได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง “เขาควาย” ที่กำลังขวิดเข้าใส่กัน กำลังเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากสหรัฐอเมริกาให้ “หลีกเลี่ยง” การใช้อุปกรณ์ในเครือข่าย 5 จีของหัวเว่ย หรือละเว้นจากการรับเงินกู้จากจีนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค อย่างเช่นท่าเรือน้ำลึกหรือรถไฟความเร็วสูงจากจีน

ปัญหาก็คือ ถ้าไม่ใช้หรือไม่รับจากจีน แล้วจะเลือกหนทางไหน ถึงจะสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจ พัฒนาสาธารณูปโภคของประเทศเหล่านี้ให้เอื้อต่อการเติบโตในอนาคตได้?

 

คอลลิน โก๊ะ สวีลีน นักวิชาการจากสำนักศึกษากิจการระหว่างประเทศ เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ถึงบอกว่า ข้อคำนึงของชาติในอาเซียนและในเอเชียหลายประเทศเป็นการคำนึงถึงสิ่งที่ “เป็นไปได้” ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของต้นทุน เพราะข้อเสนอของจีนไม่ว่าพิจารณาในแง่ไหน ดูดีกว่า ชวนดึงดูดใจกว่าของสหรัฐอเมริกา

ในบางกรณี ทอง ตุน ผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา ระบุต่อที่ประชุมชัดเจนว่า มีเพียงแต่จีนเท่านั้นที่สนใจจะลงทุนในการทำท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมา

และยืนยันว่า สุดท้ายแล้วการรับหรือไม่รับเงินกู้เพื่อการลงทุนในกรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับประเทศผู้รับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศอื่น

 

เช่นเดียวกันกับกรณีของหัวเว่ย ที่บลูมเบิร์กชี้ว่า จนถึงขณะนี้ บรรดาชาติในเอเชียทั้งหลายยังส่ายหน้าให้กับข้อกังวลเรื่องเครือข่าย 5 จีของหัวเว่ยของสหรัฐอเมริกา ไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียที่ตอกหน้าสหรัฐอเมริกาว่า ลงมือจัดการกับหัวเว่ยเพราะทนไม่ได้ที่เห็นผู้อื่นนำหน้าทางเทคโนโลยี จนกระทั่งถึงรูฟิโน โลเปซ จูเนียร์ รองผู้อำนวยการสภาความมั่นคงของฟิลิปปินส์ที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า แม้แต่เทคโนโลยีของแอปเปิ้ล อิงก์. ของสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงแบบเดียวกับหัวเว่ย

อึ้ง เอ็ง เฮน รัฐมนตรีกลาโหมของสิงคโปร์ ชาติเจ้าภาพเองชี้ให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกากำลังทำลาย “ระเบียบโลก” ที่ก่อให้เกิดสันติและความรุ่งเรืองให้กับทุกชาติมานาน 70 ปีเต็มๆ

ลินน์ ก็อก นักวิชาการจากศูนย์จีนศึกษาพอล ไซ่ ในสังกัดเยล ลอว์ สกูล ฟันธงว่า ดีเอ็นเอของชาติในเอเชียคือวิถีของการประนีประนอม

ประเภทยื่นคำขาดให้ทำตามแบบที่ทรัมป์กำลังทำ ไม่มีทางที่ชาติในเอเชียจะเอาด้วยเด็ดขาดครับ