วิเคราะห์ : “ทิ้งขยะ” สู่ประเทศปลายทาง ปัญหาโลกแตกของการแบกภาระแก้ปัญหา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอีกครั้งเมื่อรัฐบาลมาเลเซียประกาศส่งคืนขยะพลาสติกที่อัดอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์กว่า 3 พันตันกลับไปยังต้นทางเดิม

ทั้งนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลย์ และนางหยาง เหม่ย อิง รัฐมนตรีพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของมาเลย์ พูดเป็นทางเดียวกัน

“เราไม่ต้องการขยะของคุณ เพราะขยะในบ้านเราก็มีปัญหามากพอแล้ว การส่งขยะมายังประเทศยากจนเป็นสิ่งไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง” นายมหาเธร์เหน็บประเทศร่ำรวย

“เรื่องนี้เป็นปัญหาโลก โปรดจำเอาไว้เมื่อคุณเอาขยะไปทิ้งที่อื่น เท่ากับคุณปล่อยมลพิษที่นั่นเพราะโลกใบนี้เป็นผืนเดียวกัน”

ฝ่าย “หยาง” บอกว่า ตั้งแต่รัฐบาลจีนสั่งห้ามนำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่สามารถแปรรูปได้จากประเทศร่ำรวยเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ บรรดาประเทศกำลังพัฒนาจึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่แทน

ตามข่าวระบุว่า กลุ่มทุนค้าขยะจากประเทศร่ำรวยเล็งมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

 

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่มาเลย์ลุยตรวจตู้คอนเทนเนอร์ 60 ตู้ พบว่าเป็นสายเคเบิลจากอังกฤษ กล่องนมจากออสเตรเลีย แผ่นดิสก์จากบังกลาเทศและขยะพลาสติก ขยะในครัวเรือนทั้งจากสหรัฐ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบียและจีน

รัฐมนตรีมาเลย์เปิดเผยว่า เฉพาะบริษัทรีไซคลิ่งของอังกฤษแห่งเดียวส่งขยะพลาสติกมายังมาเลเซียมากกว่า 55,000 ตัน อัดอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 1,000 ตู้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2ปี

“มาเลเซียจะต้องไม่เป็นแหล่งรับขยะของใคร เราจะต่อสู้เรื่องนี้ แม้ว่าเป็นประเทศเล็กๆก็ตาม” นางหยางบอกกับสื่อ

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วรัฐบาลมาเลเซียลุยกวาดล้างโรงงานแปรรูปขยะเถื่อนซึ่งผุดเกลื่อนทั่วประเทศกว่า 150 แห่ง และต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาส่งคืนขยะอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์กลับประเทศสเปน 5 ตู้

“ผลจากจีนมีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอย่างเข้มข้น บัดนี้ชาวโลกได้เห็นกันจะจะแล้วว่า ขยะและการแปรรูปขยะเป็นเรื่องใหญ่มากขนาดไหน”

รัฐมนตรีมาเลย์เรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาทบทวนระบบการจัดการกับขยะพลาสติก และยุติการนำเข้าขยะจากประเทศร่ำรวยอย่างจริงจัง เพราะไม่เพียงเป็นเรื่องผิดกฎหมายเท่านั้น หากยังเป็นต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมและมีผลเสียต่อสุขภาพ

หลายประเทศที่เป็นเป้าหมายเร่งตรวจสอบและใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าขยะพิษอย่างจริงจัง เพราะรู้ว่าประเทศร่ำรวยต้องการผลักดันขยะที่ไม่สามารถแปรรูปได้อีกนำไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างแน่นอน

ประเทศร่ำรวยบริโภคนิยม มีปริมาณขยะมาก การกำจัดหรือการหาแหล่งเก็บทิ้งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าส่งออก

ฉะนั้นการเขี่ยขยะไปทิ้งในประเทศด้อยพัฒนา จึงเป็นทางออกที่

ประเทศร่ำรวยคิดว่าดีที่สุด

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปัญหาขยะในฟิลิปปินส์กลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ ถึงขั้นนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ออกลุยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

นายดู แตร์เตสั่งให้เรือบรรทุกขยะจากแคนาดาขนขยะกลับไปยังจุดหมายเดิม ถ้าไม่ทำจะใช้กองกำลังบีบให้เรือออกไป

ผู้นำฟิลิปปินส์แฉข้อมูลอีกว่า ระหว่างปี 2556-2557 เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี พบข้อมูลว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ขยะราว 100 ตู้ขนมาทางเรือเข้าเทียบท่าที่กรุงมะนิลา

บริษัทเรือแจ้งในเอกสารว่า ขยะที่ใส่มานั้นเป็นของใช้ในครัวเรือน พลาสติก ขวด หนังสือพิมพ์และผ้าอ้อม

“ผมไม่อนุญาตให้ขยะสกปรกอย่างนี้เข้ามาฟิลิปปินส์อย่างเด็ดขาด” ดูแตร์เตบอกว่า รัฐบาลแคนาดายื่นเงื่อนไขการให้ทุนเล่าเรียนแก่นักศึกษาฟิลิปปินส์ แต่ขอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดทางนำเข้าขยะ

ล่าสุดมีข่าวว่าเรือบรรทุกขยะออกจากน่านน้ำของฟิลิปปินส์มุ่งหน้าไปยังแคนาดาแล้ว

 

ส่วนเมืองไทย มีเหตุการณ์คล้ายๆ กับฟิลิปปินส์และมาเลย์

คงจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมบุกเข้าไปตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานรีไซเคิลเถื่อน 5 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมกับสั่งปิด ระงับใบอนุญาต

กรมศุลกากรบอกว่า ก่อนจีนมีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ขยะล้นทะลักเข้าไทยมากถึง 3 เท่า

แค่ 5 เดือนของปี 2561 ขยะอิเลคทรอนิกส์ส่งมายังไทยราว 52,000 ตัน ขยะพลาสติก 210,000 ตัน

กรมโรงงานฯ ประกาศจะยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกอย่างถาวร แถมขู่จะงัดมาตรา 44 มาใช้ด้วย

อย่างไรก็ดีถึงวันนี้ยังไม่เห็นข่าวความคืบหน้าว่ารัฐบาลลุยปราบขยะนำเข้าจากต่างประเทศไปถึงขั้นไหนแล้ว

ที่แน่ๆ มีข่าวโจมตีประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามว่าเป็นตัวการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล

 

คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ชื่อ “เดวิด อาโซเลย์” นักกฎหมายแห่งศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา

“อาโซเลย์” บอกกับนักข่าวซีบีเอสว่า ประเทศที่เอ่ยชื่อข้างต้นเป็นปลายทางของขยะจากประเทศร่ำรวยและทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด

กองทุนสัตว์ป่าโลกเปิดข้อมูลว่า ทุกปีชาวโลกทิ้งขยะลงทะเลราว 8 ล้านตัน สัตว์น้ำและนกกินเศษพลาสติกคิดเป็นสัดส่วนถึง 90 เปอร์เซ็นต์

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน วาฬเกยตื้นตายที่ชายหาดในอิตาลี เจ้าหน้าที่ผ่าท้องพบเศษพลาสติกหลายกิโลกรัมเช่นเดียวกับการผ่าท้องโลมาในรัฐฟลอริด้า สหรัฐพิสูจน์การตายพบมีทั้งเศษขยะและสายยางพลาสติกยาว 2 ฟุต

จะว่าไปปัญหาขยะนอกจากเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกแล้ว ยังถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมอีกทางหนึ่ง