พิศณุ นิลกลัด : ความฝันของคนไม่กลัวตาย

พิศณุ นิลกลัด

เดือนแห่งการปีนเทือกเขาหิมาลัยเพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก (8,848 เมตร) จะสิ้นสุดปลายเดือนพฤษภาคม ทุกปีจะเริ่มเดือนเมษายน และจบที่เดือนพฤษภาคม

วันที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบ 66 ปีที่เอ็ดมุนด์ ฮิลลารี (Edmund Hillary) นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเป็นคนแรกของโลกในปี 1953

จากวันนั้นถึงวันนี้ มีนักปีนเขาพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้กว่า 5,000 คน

โดยเฉลี่ยทุกปีมีนักปีนเขาประมาณ 1,000 คน พยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์

แต่สถิติที่น่าเศร้าก็คือ ปีนี้มีนักปีนเขาเสียชีวิตไปแล้ว 11 คน นับเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ที่มีผู้เสียชีวิต 10 คน

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า หนึ่งในสาเหตุที่นักปีนเขาเสียชีวิตเยอะ เพราะปีนี้จำนวนนักปีนเขาปีนถึงจุดใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์เยอะ ทำให้การจราจรตรงช่วงนี้ติดขัด นักปีนเขาต้องต่อคิวขึ้นไปยืนบนจุดที่สูงที่สุดในโลกหลายชั่วโมง

เมื่อรออยู่นานในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย มีอากาศเบาบางเพียง 30% ของที่ระดับน้ำทะเล แม้จะต่อแถวรอพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ ขาลงก็ต้องรออีกเป็นชั่วโมง ทำให้ร่างกายอ่อนล้าจากการได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุให้เสียชีวิต

 

จากสถิติที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพราะตกเขา หิมะถล่ม หนาวตาย เหนื่อยตาย หรือป่วยตาย กว่า 300 คน

ร่างไร้วิญญาณของนักปีนเขาส่วนใหญ่จมอยู่ใต้หิมะในจุดที่เสียชีวิต ไม่ค่อยมีใครในทีมแบกร่างกลับลงมาเพราะเป็นเรื่องยากลำบากและอันตรายมาก

การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นความฝันครั้งหนึ่งในชีวิตของนักปีนเขาทั่วโลก

แต่สำหรับลัคปา เชอร์ปา (Lhakpa Sherpa) หญิงชาวเนปาลวัย 45 ปี ที่ปัจจุบันแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จมาแล้วถึง 9 ครั้ง เป็นเจ้าของสถิติกินเนสส์บุ๊กสำหรับนักปีนเขาหญิง

นอกจากนี้ ลัคปายังเป็นผู้หญิงเนปาลคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จและมีชีวิตรอดจากการปีนขากลับ

ปี 2000 ตอนลัคปาอายุ 27 ปี เธอพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับจากนั้นเธอก็พิชิตได้อีก ในปี 2001, 2003, 2004, 2005, 2006, 2016, 2017 และล่าสุดในปี 2018

สำหรับปีนี้ ลัคปาตัดสินใจไม่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เพราะพ่อซึ่งเป็นคนสอนให้เธอปีนเขาตั้งแต่เด็กเพิ่งเสียชีวิต ทำให้เธอหมดพลังที่จะปีนเขาในปีนี้ อยากใช้เวลาอยู่กับลูกๆ แทน

 

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปีนเขา ลัคปาไม่ได้เอาเวลาไปเข้ายิมออกกำลังกายเพื่อฝึกฝนร่างกายให้ฟิต

แต่เธอใช้ชีวิตเรียบง่าย มีอาชีพหลักเป็นพนักงานล้างจานให้กับ Whole Foods ซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้า อาหารออร์แกนิกส์ ในย่านเวสต์ ฮาร์ตฟอร์ด (West Hartford) รัฐคอนเนกทิคัต สหรัฐอเมริกา

ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แลกกับค่าจ้างชั่วโมงละ 11.50 ดอลลาร์ เพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองและลูกสาวสองคนวัย 11 กับ 16 ปี และลูกชายอีกคนอายุ 23 ปี

ลัคปาเป็นชาวเนปาลโดยกำเนิด ย้ายไปอยู่อเมริกาปี 2003

ที่ได้ชื่อ Lhakpa มาเพราะเธอเกิดวันพุธ ครอบครัวของเธอเป็นชนเผ่าเชอร์ปา (Sherpa) ภาษาเนปาลแปลว่าชาวตะวันออก (easterner) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากทางตะวันออกของทิเบต อาศัยอยู่ในหุบเขารอบเอเวอเรสต์ คนเหล่านี้จึงมีความช่ำชองในการปีนเขาสูง และมีลักษณะทางกายภาพที่พิเศษ รับมือกับสภาพออกซิเจนต่ำได้ดี

ชนพื้นเมืองของเนปาลส่วนใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางให้กับนักปีนเขาที่ต้องการพิชิตเอเวอเรสต์ ก็มาจากชนเผ่าเชอร์ปา

คำว่า “เชอร์ปา” ยังนิยมใช้ต่อท้ายชื่อจริงเพื่อแทนนามสกุล และใช้เรียกแทนไกด์เอเวอเรสต์

ประมาณว่ามีชาวเชอร์ปาราว 150,000 คนอาศัยอยู่รอบหุบเขาในเนปาล อินเดีย และทิเบต แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นนักปีนเขา และสมัยก่อนการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ชนเผ่าเชอร์ปาทำกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คือบ้านของพระเจ้า

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 1900 เป็นต้นมา เริ่มมีชาวตะวันตกจ้างให้ชาวเชอร์ปาช่วยนำทางเพื่อจะไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์

 

สําหรับลัคปา ตอนเด็กๆ เธอไม่ได้เรียนหนังสือ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กไปกับการปีนเขา พ่อของเธอเป็นคนสอนทักษะต่างๆ ในการปีนเขาให้ โดยแต่ละสัปดาห์เธอใช้เวลาปีนเขา 6 วัน วันละ 7 ชั่วโมง

พออายุ 15 เธอก็เริ่มทำหน้าที่ขนอุปกรณ์ปีนเขาและสัมภาระไปส่งยังแคมป์ต่างๆ บนยอดเขาทั่วหิมาลัย รวมไปถึงกันเจนชุงคา (Kanchenjunga) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (ความสูง 8,586 เมตร)

ลัคปาบอกว่า เวลาปีนยอดเขาแต่ละครั้งเธอจะมีพิธีกรรมพิเศษ นั่งสมาธินึกถึงภาพว่าเธอสามารถพิชิตยอดเขาได้สำเร็จ

และเธอยังพูดสื่อสารบอกยอดเขาเอเวอเรสต์ ว่าได้โปรดอย่าพรากชีวิตเธอไป

เพราะเธอต้องกลับไปหาลูกๆ ที่บ้าน

 

เมื่อปี 2018 ลัคปา เชอร์ปา ได้รับค่าจ้าง 5,000 ดอลลาร์ (160,000 บาท) จากการเป็นไกด์นำทางไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ในช่วงเวลา 2 เดือน

พอเสร็จภารกิจพิชิตเอเวอเรสต์ เธอก็กลับไปเป็นพนักงานล้างจานประจำที่ Whole Foods เหมือนเดิม

แม้เธอจะไม่ได้มีเวลาไปฟิตซ้อมร่างกายเหมือนคนอื่นๆ แต่เธอก็เชื่อว่าตัวเองแข็งแกร่งและมีทักษะปีนเขาดีกว่าผู้ชายหลายคน

สำหรับการออกกำลังกายนั้น ลัคปาไม่ได้ออกกำลังอะไรเป็นพิเศษ เธอขับรถไม่เป็น จึงเดินไปทำงานทุกวัน วันละ 3 กิโลเมตร

ซึ่งลัคปาบอกว่า ว่าไปแล้ว การฟิตร่างกายเพื่อปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ คือการทำงานล้างจาน และถือขยะไปทิ้ง

 

ลัคปาบอกว่าคนที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ต้องผ่านการทดสอบปีนยอดเขาความสูงน้อยๆ มาก่อน และเพิ่มระดับความสูงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้ชินกับอากาศบนเขา เพราะเวลาที่ปีนเขาขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ คนที่ร่างกายยังไม่ชินจะเริ่มรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อนั้นควรปีนลงมาก่อน

การฝึกฝนแบบนี้เรื่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายของนักปีนเขามีความพร้อมเมื่อปีนไปถึงจุดที่เรียกว่า “Death Zone” ที่ความสูง 8,000 เมตรขึ้นไป

นับจากจุดนี้ออกซิเจนจะเริ่มบางเบา นักปีนเขาที่ขาดออกซิเจนจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น หมดสติ เริ่มถอดชุดออกทั้งที่อากาศข้างนอกเย็นสุดขีด เริ่มพูดคุยกับเพื่อนที่ตัวเองมโนภาพขึ้นมาในหัว

จุดนี้เป็นจุดที่พบศพของนักปีนเขาคนก่อนๆ อยู่เยอะ!!!

 

ลัคปาบอกว่า ลูกๆ ไม่มีแผนที่จะเดินตามรอยของเธอไปเป็นนักพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่เธอก็ภูมิใจกับผลการเรียนของลูกๆ

เธอบอกว่า ในฐานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอต้องการเป็นแบบอย่างให้คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนอื่นเห็นว่าชีวิตนั้นไม่ได้จบสิ้นลงหลังจากการหย่าร้าง

ขอให้ดูเธอเป็นแบบอย่างว่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีการศึกษาสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ถึง 9 ครั้ง

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนอื่นๆ ก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไป และทำฝันให้เป็นจริงขึ้นมาได้