วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สู่เส้นทางอาจารย์ด้านจีนศึกษา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จากนักวิจัยสู่อาจารย์ (ต่อ)

เวลานั้นคือ ค.ศ.2000 อันเป็นสหัสวรรษใหม่ ก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่นั้นได้ถามตัวเองว่า ในวาระนี้จะมีเรื่องดีๆ มาถึงตัวเองบ้างไหม? และการไปเยี่ยมญาติข้างบิดาครั้งนี้เองที่เป็นเรื่องที่วิเศษสุดของปีแรกแห่งสหัสวรรษใหม่สำหรับตนเอง

โดยเฉพาะหลังกลับจากเยี่ยมญาติในครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นที่มาของผลงานเรื่อง คือฮากกา คือจีนแคะ โดยในชั้นแรกได้ตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ อันเป็นสิ่งพิมพ์อีกฉบับหนึ่งที่เขียนประจำอยู่

ต่อมาผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกใน ค.ศ.2003 และเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุด คือได้รับการตีพิมพ์สี่ครั้ง

โดยครั้งที่สี่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) และในระหว่างนั้นมีผู้ขอนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานศพอีกสองรายอีกด้วย

นับจาก ค.ศ.1999 เป็นต้นมา แม้จะมีงานสอนที่คณะรัฐศาสตร์เพิ่มเข้ามา แต่งานวิจัยที่เป็นงานหลักก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ

หากจะมีสิ่งใดที่เปลี่ยนไปบ้าง สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องการเตรียมการสอนจากที่ต้องเป็นอาจารย์พิเศษ

ซึ่งใครก็ตามที่เป็นอาจารย์จะรู้ดีว่า วิชาใดที่เริ่มสอนเป็นครั้งแรกนั้นการเตรียมจะหนักมาก คือไม่เพียงจะต้องอ่านหนังสือทั้งไทยและเทศจำนวนมากเท่านั้น หากยังต้องประมวลให้ได้ว่า ตลอดทั้งเทอมจะให้เนื้อหารายวิชานั้นร้อยเรียงกันอย่างเป็นระบบได้อย่างไรอีกด้วย

ตอนนี้เองที่เริ่มบอกตัวเองว่า ตลอดเวลากว่าสิบปีที่เป็นนักวิจัยนั้น ความรู้เรื่องจีนที่เก็บเกี่ยวมานานนับสิบปีมีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

คือสามารถนำมาใช้ประกอบในวิชาที่ตนจะสอนได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่ว่าการเป็นอาจารย์พิเศษในขณะนั้นได้ทำให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คือว่า ระหว่างที่เป็นอาจารย์พิเศษอยู่นั้น ทางคณะได้เปิดรับสมัครอาจารย์เพื่อให้มาสอนวิชาที่ตนเองช่วยสอนอยู่ด้วย

จะเปิดมากี่รอบมิทราบได้ รู้แต่ว่า พอถึง ค.ศ.2001 หรือหลังจากช่วยสอนอยู่ราวสามปี จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำในที่สุด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยด้านหนึ่งยังมีความรู้สึกที่ผูกพันกับที่เดิม แต่อีกด้านหนึ่งก็อยากเปลี่ยนงาน

ในด้านหลังนี้เกิดขึ้นด้วยเชื่อว่าจะทำให้ตนสร้างงานวิจัยได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง และปีนั้นเองจึงได้เปลี่ยนฐานะจากนักวิจัยมาเป็นอาจารย์

คือเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

ชีวิตอาจารย์กับจีนศึกษา

เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์แล้ว งานสอนย่อมเป็นงานหลัก และวิชาที่สอนย่อมเป็นวิชาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับจีนโดยตรง ที่เกี่ยวกับจีนโดยอ้อมนั้นมีเป็นส่วนน้อย แต่ก็มีบางช่วงที่รับสอนวิชาที่ไม่เกี่ยวกับจีนและสอนอยู่ไม่นาน

โดยในส่วนที่เกี่ยวกับจีนโดยตรงนั้นจะเป็นเรื่องการต่างประเทศจีน การเมืองการปกครองของจีน และประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ แต่ก็มีบางวิชาที่สอนไปถึงจีนในยุคตำนานและยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มิได้ลงลึกในรายละเอียด

แม้กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ไม่เคยทิ้งเลยก็คือ การที่ยังคงทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับจีนต่อไป

อย่างหลังนี้เองที่ทำให้มีโอกาสศึกษาประเด็นในเชิงโครงสร้างที่คิดไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นอาจารย์ และได้นำตนเองให้เข้าไปอยู่ยังอีกมิติหนึ่งของจีนศึกษา

ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่มิอาจลืมเลือนได้

กล่าวคือ หลังจากที่สอนไปจนถึง ค.ศ.2003 ก็ได้รับทุนจากนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนท่านหนึ่งให้ไปอบรมภาษาจีนที่จีนเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยอบรมที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์อวิ๋นหนัน ที่มีที่ตั้งอยู่ที่คุนหมิงเมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนัน

ที่เลือกที่นี้เพราะเป็นพื้นที่ที่คุ้นเคย ด้วยเป็นที่ที่ได้มาทำงานวิจัยเป็นเวลานาน (ดังที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว)

ที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่มีมิตรชาวจีนมากที่สุดและสนิทที่สุด แน่นอนว่าการไปอบรมครั้งนี้ได้ทำให้ภาษาจีนของตนเองดีขึ้นตามสมควร

คือไม่ถึงกับแตกฉาน แต่ก็พอนำมาใช้ศึกษาค้นคว้าเอกสารภาษาจีนได้บ้าง

พ้นไปจากการอบรมแล้วสิ่งที่เตรียมตัวไปด้วยในคราวเดียวกันก็คือ การไปนั่งเขียนงานชิ้นหนึ่งตามที่ตั้งใจไว้มานาน งานชิ้นนี้คือ เศรษฐกิจการเมืองจีน การที่ได้มานั่งเขียนที่จีนนี้มีดีตรงที่สามารถค้นข้อมูลฝ่ายจีนได้สะดวก

และหากมีข้อสงสัยอันใดก็สามารถถามได้จากอาจารย์ชาวจีน บางท่านเป็นกัลยาณมิตรทางวิชาการมาช้านาน ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้เป็นอย่างดีเกินความคาดหมาย

ที่ว่าเกินความคาดหมายนี้คือ บ่อยครั้งที่ท่านมาเยี่ยมถึงที่พัก ท่านมักให้หนังสือที่เป็นประโยชน์ต่องานที่ศึกษาอยู่เสมอ และเป็นหนังสือที่เหมาะกับตนที่เป็นคนต่างชาติ เช่นเดียวกับเวลาที่ถามคำถามกับท่านในหลายครั้ง ท่านมักจะตอบบนพื้นฐานที่เราเป็นคนต่างชาติเช่นกัน คือตอบอย่างไรให้เข้าใจง่าย รอบด้าน ชัดเจน และเหมาะสม

การที่จะตอบได้เช่นนี้ย่อมต้องมีความสนิทสนมจนรู้ใจกัน

 

ตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่คุนหมิงใน ค.ศ.2003 และอีกเดือนครึ่งใน ค.ศ.2004 ในที่สุดงานศึกษาเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองจีน ก็แล้วเสร็จ จากงานชิ้นนี้ทำให้ได้เรียนรู้เชิงประสบการณ์ในสองเรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก เนื่องจากงานศึกษานี้เป็นเรื่องที่ว่าด้วยพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองของจีนนับแต่ ค.ศ.1949 จนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ทำให้รู้ว่า พัฒนาการดังกล่าวของจีนในแต่ละช่วงไม่เพียงไม่ได้ราบรื่นเท่านั้น หากบางเรื่องยังเกิดขึ้นบนฐานชาตินิยมและความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อระบอบคอมมิวนิสต์อีกด้วย

บนฐานดังกล่าวทำให้ชาวจีนสามารถคิดและทำอะไรในแบบที่ชาวโลกไม่คิดจะทำกันได้ง่ายๆ ในที่นี้จะยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งพอให้ได้เห็นภาพ

ตัวอย่างที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นที่คุนหมิง ที่ชานเมืองนี้มีทะเลสาบแห่งหนึ่งชื่อเตียน ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกติดปากว่าเตียนฉือ (ทะเลสาบเตียน) และจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าทะเลสาบคุนหมิง (Kunming Lake)

ทะเลสาบนี้มีพื้นที่มากกว่า 298 ตารางกิโลเมตร ความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 39 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของคุนหมิง ใครที่ได้มาเห็นก็ต้องชมว่าเป็นทะเลสาบที่งดงามมาก ตลอดเวลานานนับสิบปีที่ได้มาคุนหมิง เพื่อนชาวจีนมักจะพามาที่แห่งนี้อยู่บ่อยครั้งเพื่อฆ่าเวลาก่อนจะถึงอาหารมื้อเย็น

แต่สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนและมารู้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็คือ แต่เดิมทะเลสาบนี้กว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมากมายนัก คือกว้างใหญ่เข้ามาถึงใจกลางเมืองจนเกือบจะถึงประตูเมืองคุนหมิง1 แต่ในช่วงที่จีนใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward)2 ในระหว่าง ค.ศ.1958-1959 นั้น รัฐบาลคุนหมิงได้รณรงค์ให้ประชาชนในเมืองนี้ช่วยกันถมทะเลสาบนี้มาทำเป็นพื้นที่การเกษตร

การถมนี้จะเริ่มจากใจกลางเมืองที่ว่าเรื่อยไปจนเหลือทะเลสาบเท่าที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งรวมแล้วถมลึกเข้าไปในทะเลกว่าสิบกิโลเมตร แต่เนื่องจากแต่เดิมเป็นทะเลสาบมาก่อน พื้นที่ที่เกิดจากการถมครั้งนั้นจึงใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้เพียงไม่กี่ปี ดินก็จืดลงจนเพาะปลูกอะไรไม่ได้อีก

ทุกวันนี้พื้นที่ที่ถมนี้ถูกสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่แลดูสวยงามมาก แต่ก็หาผู้ซื้อแทบไม่ได้ เพราะผู้คนเชื่อกันว่าพื้นที่ที่ว่านี้มีดินที่ไม่มั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ดินอ่อนที่เกิดจากการถมทะเล ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นธรรมชาติ

ผลคือ ตอนถมเป็นพื้นที่ทางทางเกษตรก็ล้มเหลว ครั้นจะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรก็ล้มเหลวอีก เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วการพัฒนาของจีนในเวลานั้นไม่ต่างกับการลองผิดลองถูก และทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยการถมทะเลสาบมาทำพื้นที่เกษตร

ซึ่งเป็นเรื่องที่คงมีน้อยชาติที่คิดจะทำแบบที่ชาติจีนทำ

—————————————————————————————————————
1เมืองสำคัญในจีนแทบทุกเมืองในอดีตจะมีประตูเมือง รูปลักษณะของประตูเมืองนี้จะคล้ายๆ กับซุ้มประตูเมืองที่ตั้งอยู่ในวงเวียนโอเดียนของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ส่วนประตูเมืองคุนหมิงที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นประตูที่ทำขึ้นมาใหม่ เพราะประตูเก่าเดิมที่มีอายุหลายร้อยปีได้ถูกพวกยามพิทักษ์แดง (Red Guard) ทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ประตูที่ทำขึ้นมาใหม่นี้เลียนแบบจากของเก่า ซึ่งนอกจากหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าๆ แล้วก็ไม่มีหลักฐานอื่นอีกเลย

2เป็นนโยบายที่มุ่งให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกินเป้าที่ตั้งเอาไว้ในแผนพัฒนา สมมุติว่าในแผนพัฒนาตั้งเป้าจะผลิตเหล็กกล้าให้ได้สิบล้านตัน นโยบายนี้จะรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันผลิตเหล็กกล้าให้ได้ 20 ล้านตัน เป็นต้น