เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พิธีกรรมกับวิธีการ

ผ่านวันวิสาขบูชาแล้ว (18 พฤษภาคม) ใกล้วันพุทธทาส (27 พฤษภาคม) ให้ตระหนักถึงข้อคิดสำคัญทางพุทธศาสนาทุกครั้ง เนื่องวาระนี้

ดังรู้อยู่แล้วว่าวันวิสาขะสำคัญ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน แห่งองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหกของทุกปี

ตามที่รู้คือ พระพุทธองค์ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ตรงกับวันดังกล่าว และทรงตรัสรู้ใต้ร่มโพธิ์ในคืนที่ตรงกับวันดังกล่าว กระทั่งทรงดับขันธปรินิพพาน คือสิ้นพระชนม์ตรงกับวันดังกล่าว

สามวันสามวาระตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์นัก

ดังนั้น ชาวพุทธจึงถือเป็นวันสำคัญสุด ชื่อวันวิสาขบูชา ถือเป็นวันพระพุทธ ด้วยเป็นวันที่พระองค์กำเนิดขึ้นมาในโลก

ขณะที่วันพระธรรมคือวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมชื่อธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ครั้งแรก และมีพระโกณฑัญญะเป็นองค์แรกที่ได้สดับธรรมแล้วเข้าใจ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า “อัญญาสิโกโกณฑัญญะ” แปลว่าโกณฑัญญะรู้แล้ว ซึ่งนั่นคือปฐมธรรมเทศนา จึงถือเป็นวันพระธรรม

ส่วนวันพระสงฆ์คือวันมาฆบูชา คือวันเพ็ญกลางเดือนสาม ด้วยเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระภิกษุที่บวชโดยตรงจากพระพุทธองค์ เพื่อให้หมู่สงฆ์ยังกิจแห่งสงฆ์สมบูรณ์ด้วยใจความแห่งธรรมสามประการคือ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ อันเป็นธรรมยังให้สำเร็จประโยชน์แก่ทั้งส่วนรวมและส่วนตนโดยแท้ คำว่าสังฆะหรือสงฆ์ แปลว่าคณะหรือหมู่ ดังองค์แห่งสงฆ์ต้องประกอบด้วยพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปจึงเรียกเป็นพระสงฆ์

ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงเป็นวันพระสงฆ์

จําเพาะวันพระพุทธคือวิสาขบูชานั้น เราเชื่อด้วยศรัทธาเป็นสำคัญถึงความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ทั้งสาม คือความตรงกันทั้งสามวาระ มีประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน

เชื่อกันมาอย่างนี้แม้จนปัจจุบันนี้ก็ยังเชื่ออยู่อย่างนี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ขยายความเชื่อโดยศรัทธาให้เป็นเชื่อโดยปัญญาด้วยการอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ

ขณะแห่งการตรัสรู้ (รู้แจ้ง) นั้นเองได้เกิดขึ้นซึ่งสามสภาวะพร้อมกันดังนี้

เพราะตรัสรู้ ภาวะแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า (ผู้รู้) จึงเกิดขึ้น และสิ่งที่ตรัสรู้นั้นเองคือธรรมแห่งการดับทุกข์ (นิพพาน) อันเป็นสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสามสภาวะในวาระเดียวกัน คือวาระหรือขณะแห่งการตรัสรู้นั้น

ตรัสรู้เป็นเหตุให้เกิดพุทธะ

ตรัสรู้เป็นผลให้เกิดนิพพาน

ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน จึงตรงกันในวันเดียวกันในขณะเดียวกัน คือขณะแห่งการตรัสรู้ในคืนเพ็ญเดือนหกที่ใต้ต้นโพธิ์วันนั้นขณะนั้น

ตรงนี้ช่วยขยายศรัทธาให้เป็นปัญญา

ความเชื่อเรื่องประสูติคือการเกิดทางกายของมนุษย์จากครรภ์มารดา ซึ่งคือการเกิดขึ้นของเจ้าชายสิทธัตถะ

ปัญญาเรื่องประสูติหมายถึงการเกิดขึ้นของความเป็นพระพุทธเจ้าแท้จริงจากเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธองค์นั่นเอง

ความเชื่อเรื่องนิพพาน ในวันวิสาขบูชามักเป็นในทางที่หมายถึงการตาย ซึ่งในพระบาลีเรียก “ดับขันธปรินิพพาน” ไม่เรียกนิพพาน

ปัญญาเรื่องนิพพานในวันวิสาขบูชาหมายถึงความดับทุกข์ อันตรงกับความหมายแท้จริงของคำนิพพานคือดับเย็น

อธิบายความเชิงปัญญาอย่างนี้ทำให้เราได้ประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาได้แท้จริงและลึกซึ้งมากกว่าโดยศรัทธาความเชื่อเพียงเท่านั้น ดังที่เชื่อกันอยู่จนวันนี้

พระพุทธศาสนาในสังคมไทยวันนี้เหมือนจะดำรงอยู่ด้วยศรัทธาคือความเชื่อมากกว่าและแน่นเหนียวกว่าที่จะดำรงอยู่ด้วยปัญญา ในแทบทุกเรื่องทั้งรูปแบบและเนื้อหา

ไม่หมายความว่า ศรัทธาคือความเชื่อนั้นไม่ดีไม่ถูก หากควรประกอบด้วยปัญญาเป็นสำคัญและเป็นหลักด้วย มิฉะนั้นลำพังความเชื่อล้วนๆ ก็จะพาเราหลงเข้าพงแห่งความมืดดำด้วยความไม่รู้ ดังเรียกว่า “ไสยศาสตร์” แปลว่า ศาสตร์แห่งความมืดดำ ความหลับใหล

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า

ไสยศาสตร์นั้นมักมีแต่พิธีกรรม

พุทธศาสตร์นั้นมีแต่วิธีการ

เวลานี้โลกกำลังสนใจพุทธศาสนาในเรื่อง “วิธีการ” มากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมที่เป็นสมถะสมาธิ หรือนั่งสมาธิเป็นสำคัญ ซึ่งอธิบายได้ในทางจิตวิทยาถึงพลังจิตที่สงบเย็นเป็นความสุขเหนือความสุขอื่นใดในโลก

ขณะสังคมไทยกลับให้ความสำคัญกับพิธีรีตองมากกว่าจะตระหนักรู้ถึงสาระสำคัญแท้จริงที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

นี่แหละถึงเวลาแล้วที่ต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ คือ

ปฏิรูปกิจการในพระพุทธศาสนา