การศึกษา / ก.ศึกษาฯ-ก.อุดมฯ ความหวัง หรือ…เครื่องมือการเมือง??

การศึกษา

 

ก.ศึกษาฯ-ก.อุดมฯ

ความหวัง หรือ…เครื่องมือการเมือง??

 

อีกไม่นานแวดวงการศึกษาจะได้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

กระทรวงศึกษาฯ คึกคัก ได้รับความสนใจ มีผู้เสนอตัวขอดูแล โดยไม่สนใจเสียงยี้จากคนวงการศึกษา ขณะที่ตัวเต็ง แว่วว่าโควต้ากระทรวงนี้เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีข่าวลือหนาหูว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ติดอยู่ในโผรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งเป็นกระทรวงน้องใหม่ที่เกิดจากการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นั้น ข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดูแลเอง

โดยมีชื่อนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้า พปชร. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ติดโผรัฐมนตรีว่าการ อว.

 

โผดังกล่าว พอแกล้มแกล้มอยู่บ้าง อย่างนายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. บอกว่า คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องเข้าใจเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคน เพราะต่อไปไม่ใช่แค่การเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการศึกษาตั้งแต่ช่วงอายุ 6 ปีถึง 70 กว่าปี

เท่ากับ ศธ.ต้องพัฒนาการศึกษาสำหรับประชากรกว่า 40 ล้านคนในวัยทำงานให้มีคุณภาพและมีสมรรถนะประกอบอาชีพ โดยต้องเชื่อมโยงกับ อว. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

นายวิสัย เขตสกุล ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ และเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) มองว่า ควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์และมีความรู้เรื่องการศึกษาลึกซึ้ง ไม่ใช่เอานักการเมืองหรือใครก็ได้มาเป็น ที่สำคัญอยากให้เป็นนักการศึกษาแท้จริง ถ้าเป็นทหารหรือหมอ ไม่เอา เพราะ 5 ปี รัฐมนตรี 4 คน พิสูจน์แล้วว่าการศึกษาไทยยังไร้ทิศทาง มืดมิด เป็นการบริหารโดยไม่มีความเข้าใจจิตวิญญาณและวิชาชีพความเป็นครู

นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัด ศธ. มองว่า คุณสมบัติผู้ที่อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจปัญหาการศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน มีข้อมูลครบถ้วน สามารถศึกษารายละเอียดให้เข้าใจถ่องแท้เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นความสำคัญและส่งคนดี คนเก่ง และมีความมุ่งมั่นมาแก้ไขปัญหา ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านายจุรินทร์จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่ขัดข้อง เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. น่าจะรู้ปัญหาและมีนโยบายดีอยู่แล้ว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หากนายจุรินทร์มาเองก็ดี เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. น่าจะรู้ปัญหาและเข้าใจการศึกษา

แต่สิ่งที่ ปชป.ต้องทำคือ ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่ ปชป.ไม่เคยทำสำเร็จ

สิ่งที่กังวลมากคือ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ได้รัฐมนตรีใหม่ จะไม่สานต่องานเดิม โดยเฉพาะข้อมูลที่ กอปศ.ทำไว้ หลายเรื่องมีประโยชน์ควรนำมาใช้ โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ อาทิ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …

อยากได้คนที่มีต้นทุนการศึกษามาดูแล ศธ. ไม่ใช่ให้โควต้าใครก็ได้เข้ามาเป็น ส่วนรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คนอาจมาจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมก็ได้

 

กระแสตอบรับนายจุรินทร์ ดูจะดีกว่าในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ชาวอุดมศึกษามองว่าภารกิจบิดเบือนไปจากปรัชญาแต่ต้นในการขอตั้งกระทรวงของชาวอุดมศึกษา

อย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รัฐบาลเอา อว.เป็นเครื่องมือรองรับนโยบายรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเรื่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คือกำหนดสาขาให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี

กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่สายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญ

หากมีการพูดถึง ก็เพียงเพื่อลดกระแสการต่อต้าน แต่ในทางปฏิบัติชาวอุดมศึกษารู้กันว่าไม่ได้รับความสำคัญ

“ชาวมหาวิทยาลัยมีสิทธิตั้งคำถาม และเรามีองค์ความรู้และบุคลากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยคำนึงถึงภารกิจอื่นของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย อาทิ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มลพิษ เป็นต้น ฉะนั้น ไม่ควรใช้วิธีบังคับแกมข่มขู่โดยใช้เรื่องงบประมาณมาเป็นตัวกำหนด มหาวิทยาลัยควรตั้งคำถามเรื่องโมเดลของการนำมหาวิทยาลัยไปเป็นเครื่องมือให้กับระบบทุนหรืออุตสาหกรรม ฉะนั้น มหาวิทยาลัยควรลุกขึ้นมาปลดแอก” นายสมพงษ์กล่าว

นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ระบุว่า กลุ่ม มทร. เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว สามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ทำให้กลุ่ม มทร.ไม่มีปัญหา มุ่งผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของรัฐได้ แต่อาจจะทำให้มหาวิทยาลัยในกลุ่มสังคมศาสตร์ลำบาก หากจะดำเนินตามนโยบายนี้ ทั้งนี้ อยากให้รัฐเข้ามาสนับสนุนด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม มทร.ที่เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ จะสู้กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าไม่ได้ในเรื่องหาพาร์ตเนอร์ รัฐต้องให้เวลาและอย่าเพิ่งตัดงบฯ ช่วยเหลือ

นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. พยายามชี้แจงว่า การกำหนดงบฯ อุดหนุนตามยุทธศาสตร์ประเทศนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องทำงานวิชาการทุกด้านเช่นเดิม ไม่ใช่จะให้ทิ้งภาคสังคม เพียงแต่เน้นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศเป็นหลัก ซึ่งการทำงานของ อว.ในช่วงปีงบฯ 2562 จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะได้จัดสรรงบฯ ไปแล้ว

ส่วนปีงบฯ 2563 จะต้องจัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

 

มองโดยรวม กล่าวได้ว่า ในส่วนของนายจุรินทร์ พอจะถูกใจกระทรวงคุณครู

แต่ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ชาวอุดมศึกษามองว่าเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลและระบบนายทุน ซึ่งบิดเบือนจากปรัชญาของชาวอุดมศึกษาแต่ต้น

ขณะที่อายุของรัฐบาลแถมเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรค ก็ถูกมองว่าขาดเสถียรภาพ ไม่น่าจะอยู่ยาว

ฉะนั้น ต้องจับตามองว่าภายในเวลาจำกัด ทั้งสองกระทรวงจะพอเป็นความหวังของคนวงการศึกษาได้หรือไม่

   หรือจะเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อรองของพรรคต่างๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลลงตัว โดยที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ใดๆ ต่อการศึกษา