วิรัตน์ แสงทองคำ : บทเรียนจากเนชั่น

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวของผู้บุกเบิก ก้าวรุกไปข้างหน้า ท่ามกลางปัญหารุมเร้า เป็นทั้งเรื่องราว โอกาส และการปรับตัว

กรณี The Nation ตัดสินใจยุติบทบาทในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อในตำนานเกือบๆ ครึ่งศตวรรษ จะมองเป็นเรื่องราวการบุกเบิก หรือถูกบังคับให้ปรับตัว

ว่าไปแล้ว The Nation ในนิยามที่กว้างว่าสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษ กับบทบาทการบุกเบิก เกิดขึ้นมาแล้วหลายช่วงหลายตอนในประวัติศาสตร์สื่อสังคมไทย

 

โอกาสและความมั่นใจ

The Nation ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาสังคมไทยเปิดรับอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม (2507-2518) การปรับโครงสร้างสังคม แบบแผนพัฒนาและนโยบายเศรษฐกิจมีขึ้นอย่างเป็นระบบ อิทธิพลสหรัฐมิใช่แค่การเมืองและการทหาร หากครอบคลุมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ แม้กระทั่งวิถีชีวิตผู้คน

ขณะโอกาสใหม่เปิดกว้างขึ้น โดยเฉพาะผู้คนในสังคมธุรกิจ รวมทั้งโอกาสสำหรับกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง มีความมั่นใจ มีความพร้อม เป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษตามมาตรฐานอย่างที่ควร

สะท้อนสัมพันธ์ยุคใหม่แห่งสังคม ผู้คนทรงอิทธิพลใหม่ๆ ปัญญาชนเติบโตขึ้นในสังคมเมือง รวมทั้งต่างชาติซึ่งมีกิจกรรมสัมพันธ์ จนถึงผู้คนทั่วไปให้ความสนใจเมืองไทยมากขึ้นกว่าเดิม

The Nation คือหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทย เป็นเครดิตติดตัวและมีค่าตั้งแต่นั้นมา

 

ธุรกิจสถาปนา

อีกไม่ถึง 2 ทศวรรษต่อมา การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ดัชนีทางเศรษฐกิจ (GNP) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 13.2% (ปี 2531) ตามมาด้วยดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นทะลุ 1,000 จุดในปี 2533 เป็นปีที่มีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 200 แห่ง จากนั้นในปี 2536 ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 1,500 จุด ในขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนมากเกือบ 350 บริษัท มูลค่าการซื้อขายต่อวัน จากระดับ 2,500 ล้านบาทเมื่อ 2 ปีก่อน ไต่เพดานสูงขึ้นประมาณ 9,000 ล้านบาท

ภาพนั้นสะท้อนสังคมธุรกิจไทยขยายตัว เป็นฐานอันทรงพลังอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของสื่อในสังคมไทยด้วย เริ่มต้นด้วยแรงกระตุ้นสำคัญทางสังคม ความสนใจข่าวสารเศรษฐกิจ-ธุรกิจเกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจัง

The Nation นิยามหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ขยายจินตนาการขึ้นเป็นองค์กรสื่อ มีฐานะสังคมไทยระดับหนึ่งแล้ว ได้ก้าวสู่ฐานผู้อ่านที่กว้างขึ้น สัมพันธ์สังคมไทยแนบแน่นขึ้น ด้วยการบุกเบิกหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันฉบับแรกของสังคมไทย-กรุงเทพธุรกิจ ในจังหวะที่ดีทีเดียว

โอกาสนั้นกระชับกระชั้นอย่างน่าสนใจ เป็นครั้งแรกที่กิจการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยพาเหรดเข้าตลาดหุ้น บุกเบิกโดยเนชั่น ตามมาอย่างกระชั้นชิดโดยมติชนและผู้จัดการในปี 2532 (ทั้งนี้ ไม่นับรวม Bangkok Post สื่อซึ่งบุกเบิกโดยต่างชาติ ซึ่งเข้าตลาดหุ้นก่อนใครตั้งแต่ปี 2527)

เหตุการณ์ดังกล่าวมีความหมายหลายมิติ

หนึ่ง-สื่อไทยสามารถระดมเงินจากสาธารณชนได้ครั้งใหญ่ สร้างโอกาส ขยายกิจการธุรกิจสื่อโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ จากรายเล็กๆ และอิสระ ได้ขยายตัว สถาปนาขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจอย่างเป็นจริงเป็นจังในสังคมธุรกิจไทย

สอง-เรื่องราวของ “พวกหน้าใหม่” ในสังคมไทย ขยายจินตนาการกว้างออกไปจากเดิม

จากพ่อมดการเงิน เจ้าพ่อสื่อสาร ซึ่งเปิดโฉมขึ้นมาเวลานั้น ถือเป็นช่วงเวลามั่งคั่งของเจ้าของสื่ออย่างแท้จริง

 

ข้ามสื่อ ช่วงสับสน

เนชั่นมีบทบาทบุกเบิกสื่อใหม่ๆ อย่างไม่ลดละ จากสื่อสิ่งพิมพ์ สู่วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มรากฐานสื่อสิ่งพิมพ์รายแรกๆ แม้ว่าในการบุกเบิกแผ้วทางนั้นต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมาย ท่ามกลางภาวะความผันแปรของสื่อในช่วงต่อมา

โดยกรณีทีวีเสรีระบบ UHF ในประเทศไทย ดูเหมือนจะเป็นโอกาสที่เปิดขึ้นใหม่เพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ แต่แล้วไม่เพียงไม่เป็นเช่นนั้น หากต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างไม่ราบรื่นอย่างยืดเยื้อ จบฉากตอนสำคัญไปในช่วงวลาถึง 13 ปี

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2538 สัมปทานทีวีช่องใหม่ มี “หน้าใหม่” สื่อสิ่งพิมพ์เข้าร่วมหลายราย โดยเฉพาะเนชั่น แต่ปรากฏว่ากลุ่มเก่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแกนชนะประมูล ท่ามกลางโมเดลความร่วมมือกับสื่อบางระดับ ต่างกรรม ต่างวาระ เนชั่นมีโอกาสเข้าร่วมมือระยะหนึ่ง (ปี 2539-2542) ในช่วงเวลาไม่ค่อยเป็นใจ เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ (ปี 2540) ทีวีเสรีเอาตัวไม่รอด ขาดทุนอย่างหนัก

แต่จนแล้วจนรอด รัฐต้องมาจัดการ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเข้าแทนที่ (ปี 2551)

เมื่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยมาถึงในปี 2540 สื่อดั้งเดิมจึงเดินเข้ายุคแห่งการถดถอยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะรากฐานจากสื่อสิ่งพิมพ์ มีอันต้องเป็นไปหลายต่อหลายราย

เบื้องแรก เมื่อเผชิญเศรษฐกิจ ย่อมกระทบไปทั่ว รวมทั้งสื่อด้วย โดยเฉพาะงบโฆษณาสินค้าได้ลดลงตั้งแต่นั้นมา เฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่มีขาขึ้นอีกเลย ขั้นต่อมา แรงกดดันจากอินเตอร์เน็ต ช่วงนั้นสื่อมีความกังวลต่ออินเตอร์เน็ตพอสมควร เป็นความขัดแย้งดูสับสน งุนงง

ไม่เพียงความถดถอยปกคลุมสื่อเป็นเวลานานพอสมควร แต่แรงกดดันกลับเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจัยใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งไม่คาดคิดไว้ นั่นคือการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ต รวมทั้งปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของ Social Media ซึ่งเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยหลังช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่นาน

เนชั่นในเวลานั้นแตกแขนงสื่อหลากหลาย ธุรกิจข้างเคียงหลากหลาย ดูเป็นภาพเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ซึ่งพอจะพยุงเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์

 

ความพยายามใหม่ ภาระใหญ่

แผนการขยายตัวสู่ฐานที่กว้างขึ้น ด้วยความพยายามบุกเบิกช่องทางใหม่ๆ ดูจะเป็นยุทธศาสตร์เอาตัวรอด แม้อยู่ในช่วงผันแปรเกี่ยวเนื่องสื่อใหม่ระดับโลก และเพิ่งผ่านช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย

ไม่ว่าการออกหนังสือพิมพ์รายวันอีกฉบับหนึ่ง เพื่อผู้อ่านวงกว้างขึ้น-คมชัดลึก นับเป็นเครือข่ายสื่อ ที่มีสื่อรายวันซึ่งเชื่อว่าครอบคลุมที่สุด ที่สำคัญ มาถึงโอกาสใหม่ที่ใหญ่กว่า ด้วยมองโลกในแง่ดี

“พัฒนาการธุรกิจทีวีดิจิตอลไทย ภายใต้ระบบสัมปทาน เชื่อมโยงกับภาพบริบทสำคัญ สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมธุรกิจไทย และเผชิญปัญหาการปรับตัว เรื่องราวนั้นเริ่มต้นขึ้นจากการประมูลสัมปทานครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครึกโครม” ผมเพิ่งว่าไว้เมื่อตอนที่แล้ว (ตอน “ความเป็นไปทีวีดิจิตอล”)

โฉมหน้าใหม่ ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง กลุ่มหนึ่งมาจากสื่อดั้งเดิม มีความพยายามเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลอย่างจริงจัง “บางรายอยู่ในช่วงเผชิญปัญหาการปรับตัว บางรายมีฐานสินทรัพย์และผลิตภัณฑ์อย่างจำกัด ทั้งกำลังเผชิญปัญหาอนาคตธุรกิจ จึงพยายามอย่างเต็มกำลัง หวังว่าทีวีดิจิตอลจะเป็นโอกาสใหม่ที่เปิดกว้างมากๆ” ผมตีความไว้อีกตอนหนึ่ง

หากพิจารณาตัวเลขผลประกอบการ (ซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ) ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน จะพบว่าบริษัทหลัก (บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG) เจ้าของ Nation TV กับบริษัทย่อย (NBC) เจ้าของ NOW26 จะพบว่าขาดทุนสะสมรวมกัน (ข้อมูลล่าสุดในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ) ราวๆ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ท่ามกลางความเปราะบางนั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดหลายประการ ผู้คนมักให้ความสนใจกันมากในเวลานี้คือการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 1 ช่อง เชื่อว่าเป็นแผนการสำคัญว่าด้วยการปรับตัวทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเล็งเห็นประโยชน์ จะทำให้ตัวเลขและดัชนีที่จับต้องบางตัวดูดีขึ้น

มีอีกมิติที่น่าสนใจ การเปลี่ยนแปลงสำคัญ อันอาจมีความหมายเชิงคุณค่าทางธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าเชื่อมโยงเฉพาะเจาะจงกับสื่อ หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ สู่โฉมใหม่ ท่ามกลางยุคสมัยสื่อ มีความซับซ้อนมากกว่ายุคใดๆ ดังที่ว่ากันว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ควรเปลี่ยนทีมเสียใหม่

หนึ่ง-การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ ถึงขั้นมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ผู้บริหาร ซึ่งอยู่มานานในตำนานเนชั่นถึง 46 ปี

สอง-การล่าถอยเชิงสัญลักษณ์ กับสื่อต้นธารแห่งตำนาน ด้วยเชื่อกันว่าเป็นการตัดสินใจจากตัวเลขทางการเงิน ว่าไปแล้วถือว่าสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพใหญ่จากตัวเลขการขาดทุนสะสม

โมเมนตัม การเปลี่ยนแปลง คงจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จะเป็นบทเรียนที่มีบทสรุปในไม่ช้า

 

เหตุการณ์สำคัญ

2514
หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ The Nation ก่อตั้งขึ้น

2530
จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย-กรุงเทพธุรกิจ เสนอข่าวทางด้านเศรษฐกิจ

2531
เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2535
ก่อตั้งวิทยุเนชั่น เพื่อนำเสนอข่าวสารในรายการวิทยุ

2536
จัดตั้งบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจข่าวสารทางทีวีและวิทยุ–เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ NBC

2539
เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

2542
ยุติร่วมผลิตรายการข่าวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

2543
เปิดตัว Nation Channel สถานีข่าว 24 ชั่วโมง

2544
จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันคมชัดลึก เสนอข่าวทั่วไป สำหรับตลาดฐานกว้างทั่วประเทศ

2552
NBC จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2554
จัดตั้งมหาวิทยาลัยเนชั่น (เดิมชื่อวิทยาลัยโยนก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2531)

2557
ร่วมประมูลทีวีดิจิตอล ได้ใบอนุญาต 2 ช่อง ช่องข่าวสาร สวมแทน Nation Channel เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นช่องเนชั่นทีวี (Nation TV) และหมวดหมู่ทั่วไป- NOW 26 (ปัจจุบัน SPRING 26)

2561
เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 46 ปี

2562
-คืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล SPRING 26
-ยุติหนังสือพิมพ์ The Nation