ต่างประเทศ : ความล้มเหลวของ “พรรคแรงงาน” ความล้มเหลวของ “โพล”

เสร็จสิ้นลงไปด้วยความ “ผิดคาด” สำหรับผลการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่โพลหลายสำนักต่างชี้ว่า “พรรคแรงงาน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านจะได้ครองเสียงข้างมากและได้เป็นรัฐบาล โดยมีนายบิล ชอร์เทน เป็นหัวหน้าพรรค

ขณะที่นายสกอตต์ มอร์ริสัน จากพรรคเสรีนิยม และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนี้ น่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

แต่ผลการเลือกตั้งกลับออกมากลายเป็นว่าพรรคเสรีนิยมของนายมอร์ริสัน กับพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรสายอนุรักษนิยมเหมือนกันได้รับชัยชนะสามารถครองเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาลในที่สุด

ส่วนพรรคแรงงาน ที่เป็นพวกซ้าย-กลาง พ่ายแพ้ไปอย่างเฉียดฉิว ด้วยสัดส่วน 51 ต่อ 49

เป็นการหักปากกาเซียนก่อนหน้านี้ที่ต่างเชื่อว่าชอร์เทนจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนใหม่อย่างแน่นอน เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของพรรคแรงงาน

ขณะที่เอ็กซิทโพล หรือผลการสำรวจหน้าคูหาเลือกตั้งก็พบว่าพรรคแรงงานจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

หลังความพ่ายแพ้อย่างไม่คาดคิด นายชอร์เทนเองก็ประกาศรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และจะไม่ขอลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะจัดการเลือกตั้งทุกๆ 3 ปี แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยู่ครบวาระเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา

 

หากถามถึงเหตุผลของชัยชนะของสายอนุรักษนิยม ต้องกลับไปดูว่า สิ่งที่มีความเป็นห่วงกังวลสำหรับชาวออสเตรเลียตอนนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะมีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก และการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่สามารถซื้อได้

ซึ่งนโยบายลำดับต้นๆ ที่มอร์ริสันใช้ในการหาเสียงคือเรื่องประเด็นเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นอีกนโยบายสำคัญระหว่างมอร์ริสันกับชอร์เทน ขณะที่ชอร์เทนเองได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ร่ำรวย และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นเรื่องของสภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศโลก

และด้วยนโยบายเหล่านี้นี่เอง ที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พรรคแรงงานพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ทั้งที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนนำมาโดยตลอด เพราะชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศโลกของพรรคแรงงาน

แล้วเหตุใดผลโพลที่สำรวจความเห็นของชาวออสเตรเลียก่อนหน้านี้จึงออกมาว่าพรรคแรงงานได้รับชัยชนะ

 

ผลโพลที่พลิกล็อกที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการคาดเดาเรื่องการลงคะแนนต่างๆ และทำให้หวนนึกไปถึงการทำโพลเรื่องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือเบร็กซิท ที่ทำโพลออกมาพบว่า “ไม่ออก” แต่ผลการลงประชามติจริงๆ กลับให้ “ออก” หรือแม้แต่ตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2016 ที่ชิงชัยระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน กับนางฮิลลารี คลินตัน จากเดโมแครต ที่โพลออกมาพบว่านางคลินตันชนะตลอด แต่พอถึงการเลือกตั้งจริง กลับกลายเป็นว่า ทรัมป์ชนะ

ซึ่งสำหรับออสเตรเลียแล้ว โพลการเมืองถือว่ามีประวัติดีมาโดยตลอด และถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลออสเตรเลีย

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับโพลครั้งนี้

 

ตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า โดยปกติแล้วคนทำโพลในออสเตรเลียจะใช้วิธีการติดต่อกับผู้ลงคะแนนผ่านทางบัญชีรายชื่อของสมุดโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อผู้คนเริ่มเลิกการใช้โทรศัพท์พื้นฐาน ทำให้คนทำโพลเก็บข้อมูลที่ถูกต้องของตัวอย่างผู้ลงคะแนนได้ยากขึ้น

เควิน บอนแฮม นักวิเคราะห์เรื่องโพลชาวออสเตรเลีย บอกกับเอเอฟพีว่า ความถูกต้องของการทำโพลที่น้อยลง ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การเลือกตั้งระดับรัฐในการเลือกตั้งที่รัฐวิกตอเรียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถจับสัญญาณเสียงสนับสนุนที่มีต่อพรรคแรงงาน จนนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของสภาวิกตอเรีย

มาร์ติน โอแชนเนสซี อดีตหัวหน้าสำนักโพล นิวส์โพล ของออสเตรเลีย บอกกับเอเอฟพีว่า ตอนนี้กลายเป็นว่า เป็นเรื่องยากขึ้นที่จะหาว่าเบอร์โทรศัพท์นี้อยู่ที่ใด และส่งผลต่อการออกแบบตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพ ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมการวิจัยกำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้ สำนักโพลเองก็หันไปทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านรูปแบบที่ค่าใช้จ่ายถูกลง อย่างเช่นการใช้หุ่นยนต์สำรวจ หรือการทำการสำรวจบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกมองว่ามีความถูกต้องน้อยกว่า

โดยโอแชนเนสซีบอกว่าปัญหาหลักของการทำโพลเริ่มมีให้เห็นเมื่อตอนเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2016 ซึ่งโพลที่มีคุณภาพที่ดี จะต้องได้งานที่ดีที่สุดจากกลุ่มตัวอย่าง และจะต้องใช้ “มนุษย์” ในการทำสำรวจ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง

แต่การสำรวจครั้งนั้น เป็นการสำรวจโดยมนุษย์เพียงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก 88 เปอร์เซ็นต์เป็นการสำรวจออนไลน์ และโดยหุ่นยนต์ ซึ่งจะมีค่าเฉลี่ยของความผิดพลาดอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ และที่ผิดพลาดมากที่สุดคือ 10 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีวิธีในการสุ่มตัวอย่างตอบโพลอีกรูปแบบที่เพิ่มขึ้นมา คือการสำรวจผ่านสังคมออนไลน์

ซึ่งวิธีนี้ เบลา สแตนติก นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย บอกว่า เขาสำรวจถูกต้อง ทั้งเรื่องชัยชนะของทรัมป์และเรื่องเบร็กซิท รวมถึงการที่กลุ่มอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยใช้การวิเคราะห์จาก “การแสดงความคิดเห็น” บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่มาก

อย่างไรก็ตาม แม้โพลจะผิดพลาด แต่สิ่งที่ประชาชนเลือกมาแล้วก็คือ “เรื่องจริง” ที่ถูกต้องที่สุด