วิเคราะห์-เปิดสูตร “ครม.ตู่ 1” ฉบับฝุ่นตลบ! “3 ป.บูรพาพยัคฆ์-พรรคร่วม” ต่อรองเก้าอี้ไฟแลบ!

ช่วงฝุ่นตลบโค้งสุดท้ายในการจัดตั้งรัฐบาล หลังมีการเปิดสภาขึ้นแล้ว โดยมีความคาดหวังว่าภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้จะได้เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ ซึ่งพรรคตัวแปรต่างแสดงลวดลายทางการเมืองเพื่อจับกระแสทิศทางลม และต่อรองอำนาจทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคใดชนะขาด รวมทั้งมีกระแสข่าวการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อร่วมรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัวในบางตำแหน่ง แม้บางตำแหน่งจะลงตัวไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกตัวชัดเจน อยากได้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์รีเทิร์นกลับมาอีกครั้ง ในตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ส่วนเก้าอี้ รมช.กลาโหม ชื่อเต็งหนึ่งยังคงเป็น “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ที่นั่ง รมช.กลาโหมเดิมอยู่แล้ว

แต่อีกกระแสข่าวมีการมองว่าอาจมาจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ จะต้องเป็นคนที่สามารถคุยงานกับ พล.อ.ประวิตรได้

“ก็ควรจะอยู่กับฝ่ายความมั่นคงและพรรคหลักหรือไม่ เพื่อดูแลให้เดินหน้าไปได้ ขอย้ำว่าผมไม่หวงผลประโยชน์ ผมไม่เคยมีผลประโยชน์” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ถ้าพูดถึงอยาก ก็โอเค อยาก เพราะไว้ใจกันมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองด้วยว่าจะรับแค่ไหนอย่างไร รวมถึงเรื่องสุขภาพด้วย ผมเป็นห่วงกังวลตรงนี้ เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องชวน ถึงเวลาก็คุยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นาทีนี้ พล.อ.ประวิตรสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้ “ก็ไม่รู้ อยากได้ก็แล้วแต่ท่าน กาลข้างหน้ายังไม่รู้เลยว่าท่านจะเป็นนายกฯ รึเปล่า ใช่ไหม” ซึ่งในห้วงเวลานี้การจัดเก้าอี้ ครม.ยังไม่ลงตัว การพูดสิ่งใดออกไป อาจไปขัดใจหรือสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้นมา แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุชัดเช่นนี้ก็เป็นสัญญาณสำคัญแล้วว่า รมว.กลาโหม ขอให้พี่ใหญ่คนนี้เท่านั้น ด้วยกระทรวงกลาโหมเองเป็น “กระทรวงเฉพาะ” ที่ต้องประสานกับกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากไม่ใช่ทหารที่เป็น รมว.กลาโหม ก็จะให้นายกฯ ควบตำแหน่งนี้แทน

แต่ที่หนักใจไม่น้อยคือเก้าอี้ มท.1 ที่ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าควรเป็นโควต้าของพรรคหลัก เพราะเป็นอีกกระทรวงความมั่นคง โดยชื่อ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็มาแรงในการชิงนั่ง รมว.มหาดไทยอีกครั้ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบเพียงสั้นๆ คือ

“ก็แล้วแต่ท่าน เพราะวันนี้ไม่ใช่แค่ผมเพียงคนเดียว” ในการพิจารณาจะต้องมีพรรคร่วมตัดสินใจด้วย

ล่าสุดการจัดโผ ครม. มีการมองว่าตำแหน่ง มท.2 หรือ รมช.มหาดไทย จะเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วน มท.3 มีกระแสข่าวว่า “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทยคนปัจจุบันจะมานั่งแทน แต่ก็มีกระแสอยากให้ “ปลัดฉิ่ง” นั่งปลัดมหาดไทยจนเกษียณมากกว่า แต่ “ปลัดฉิ่ง” ก็เป็นอีกบุคคลที่ พล.อ.อนุพงษ์ไว้วางใจและอยากได้มาช่วยงานต่อ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ก็ไม่ได้ปิดช่องในการรีเทิร์น มท.1 อีกครั้ง โดยขอให้เกียรตินายกฯ คนใหม่เป็นผู้พิจารณา ที่จะต้องพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีใครได้เสียงเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมขอให้ทุกอย่างมีความชัดเจนก่อนจึงจะตัดสินใจกลับมาช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ซึ่งตำแหน่ง มท.1 ถือว่ามีพลังงัดข้อสูงในการต่อรองตำแหน่งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย

“อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ มีการพูดคุยกันอย่างไรให้เกิดความลงตัว ระหว่างพูดคุยจะมีคนที่ตั้งคนในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ข่าวลือออกมา ก็จะต้องให้เกียรติคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

“ต้องดูความเหมาะสมว่าตัวเราเองมีความสามารถแค่ไหนอย่างไร และต้องให้เกียรตินายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จะได้ไม่มีปัญหาว่าจะเลือกใคร อย่างไร มีปัจจัยที่จะต้องพูดคุยด้วย ความเหมาะสมที่อยากได้ แล้วที่พรรคต้องการจะดูแล อยากมาทำงาน ก็ต้องรับฟังกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความวุ่นวาย”

พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

แต่เส้นทางนี้ใช่ว่าจะราบเรียบ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวพรรคร่วมไม่สนับสนุนชื่อ 2 ป.บูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก” ที่หวั่นถูกมองเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่กระแสก็แผ่วลง จนมีการมองว่าเป็นการต่อรองทางการเมืองเท่านั้น อีกทั้งยังเจอกระแสต้านจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าพรรคพลังประชารัฐรวบเอา “กระทรวงเกรดเอ” และ “กระทรวงเศรษฐกิจ” ไว้พรรคเดียว เพราะมีชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กลับมานั่งรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจอีกครั้ง

ทำให้เป็นเงื่อนไขและความยากลำบากในการจัดโผ ครม.ครั้งนี้ ด้วยพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ชนะขาดหรือมีคะแนนเสียงเด็ดขาดในสภา ต้องอาศัยพรรคกว่า 20 พรรคในการตั้งรัฐบาล แต่ที่ถือไพ่เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยคือเก้าอี้ ส.ส.พลังประชารัฐมีมากกว่า 2 พรรครวมกันเสียอีก

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรที่ถูกจับตามองเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ก็ปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้ไปพูดคุยหรือดีลทางการเมืองกับพรรคใดๆ หลังจากสัปดาห์ที่แล้วมีกระแสข่าวไปพูดคุยกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หน.พรรคภูมิใจไทย และ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หน.ประชาธิปัตย์คนใหม่ด้วย

เมื่อดูเงื่อนไขของทั้ง 2 พรรค จะพบว่าไม่ต่างกันนักในการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยพรรคภูมิใจไทยมี 4 ข้อ ได้แก่

1. เป็นพรรคที่ไม่สร้างความขัดแย้ง

2. รักประชาชน

3. เทิดทูนสถาบัน

4. ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มี 3 ข้อ ได้แก่

1. ยึดประโยชน์ประเทศ ประชาชน ทำให้ประเทศชาติเดินหน้า

2. ทำให้สถาบันหลักของชาติมีความมั่นคงตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

ในส่วนของ “เสี่ยหนู” ยังคงหลักการเดิมอยู่กับพรรคเสียงข้างมาก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็พยายามที่จะให้ได้เสียงเกิน 251 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพให้ได้ ซึ่งก็จะตอบโจทย์หนึ่งในเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย อีกทั้ง “เสี่ยหนู” ยังย้ำถึงหลักการเสียง ส.ส. 500 คน มีน้ำหนักมากกว่า ส.ว. 250 คน ซึ่งมีการมองกันว่าสุดท้ายแล้ว ส.ว. 250 คน ก็จะโหวตเลือกนายกฯ ไปตามน้ำหนักเสียงข้างมากของ ส.ส. ไม่โหวตสวนกระแส เพื่อทำให้การขึ้นมาของชื่อเต็งหนึ่งอย่าง พล.อ.ประยุทธ์มีความชอบธรรม และไม่ทำให้ภาพ ส.ว.ติดลมตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ก็ตาม หลังถูกวิจารณ์เข้าสำนวนที่ว่า “ชงเองกินเอง” และ “สภาร่างทรง คสช.” หรือ “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

“ตอนนี้พรรคยังยืนยัน 500 เสียงเหนือกว่า 250 เสียง และไม่ร่วมทำงานกับรัฐบาลเสียงข้างน้อยแน่นอน ส่วนมีสื่อบางฉบับจัดให้อยู่ในตำแหน่งกระทรวงสาธารณสุข ผมยังไม่ทราบ แต่หากได้เข้าไปทำงานจริงก็ยิ่งดี เพราะจะเดินหน้าเรื่องกัญชาได้เป็นรูปธรรม และหากพรรคที่เชิญเข้าร่วมไม่รับนโยบาย 4 ข้อของพรรค ก็จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน”

นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ยังไม่นับความวุ่นวายในพรรคประชาธิปัตย์ที่เสียงแตกออกเป็น 2 ขั้วระหว่างร่วมกับไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค เคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจและสร้างความขัดแย้ง แต่ขั้วสาย กปปส.เดิมกลับสนับสนุนให้ไปร่วมรัฐบาล จึงเกิดคำถามว่าจะเกิดการ “แหกมติพรรค” หรือ “แตกแถว” หรือไม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าไม่มีแตกแถวหรือแหกมติพรรค แม้ ส.ส.จะมีเอกสิทธิ์ในการลงมติเรื่องใดๆ แต่ต้องไม่อยู่เหนือมติของที่ประชุมร่วมพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางรอยร้าวภายในพรรคที่มีการโจมตีออกสื่อรายวัน

อีกทั้งความชัดเจนที่พรรคตัวแปรทั้งพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา เริ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการในการพูดคุย โดย “เสี่ยหนู” ได้โพสต์ภาพพูดคุยกับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความว่า “ทำงานกันอยู่นะครับ ไม่ได้มากินกันเฉยๆ ตามที่ได้พูดไว้ทุกอย่าง” ซึ่งสอดรับกับมติที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้กรรมการบริหารพรรคไปหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนนำมาประชุมตัดสินอนาคตพรรค 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา

จึงเป็นห้วงเวลา “ฝุ่นตลบ” ต่อรองเก้าอี้ไฟแลบของพรรคร่วม เพื่อมาขับเคลื่อนนโยบายและใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลชุดนี้อายุอาจไม่ยืดก็ตาม