คนมองหนัง | สารคดี, เรื่องแต่ง, ความทรงจำ และรอยแหว่งวิ่น ใน “นคร-สวรรค์”

คนมองหนัง

“นคร-สวรรค์” เป็นหนังไทยอิสระเรื่องใหม่ที่กำลังเข้าฉายในเชิงพาณิชย์

นี่คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “พวงสร้อย อักษรสว่าง” คนทำหนังสตรีวัย 30 ปี ที่จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of the Art Hamburg ประเทศเยอรมนี

พวงสร้อยเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ ของ “นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” สมัยทำหนังยาวเรื่อง “36” และเคยมีผลงานเขียนเรื่องสั้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “นคร-สวรรค์”

ในแง่กระบวนการ-วิธีการ ความเป็นภาพยนตร์ “สารคดีผสมเรื่องแต่ง” ของ “นคร-สวรรค์” มิได้แปลกใหม่กว่าหนังอินดี้ไทยร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง

อย่างน้อยหนังก็มาทีหลัง “ดอกฟ้าในมือมาร” ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” เกือบยี่สิบปี

นอกจากนี้ เมื่อ 5 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง “Mother” ของ “วรกร ฤทัยวาณิชกุล” (ปัจจุบันเป็นสมาชิกและผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่) ก็บอกเล่าปัญหาชีวิตครอบครัวของผู้กำกับฯ ด้วยกระบวนท่า “กึ่งสารคดีกึ่งเรื่องแต่ง” คล้ายคลึงกัน

ทว่า “นคร-สวรรค์” นั้นมีเสน่ห์เฉพาะในแบบฉบับของตัวเอง

หนังเล่าเรื่องราวคู่ขนาน ระหว่างเนื้อหาส่วนสารคดีที่ “โรส” (พวงสร้อย) บันทึก-ถ่ายทอดปฏิสัมพันธ์ของตัวเธอเองกับพ่อและแม่ (ซึ่งกำลังป่วยหนัก) กับเนื้อหาส่วนเรื่องแต่ง ว่าด้วยการเดินทางไปลอยอังคารแม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ของตัวละครหญิงอีกรายชื่อ “เอย”

“นคร-สวรรค์” อาจมีความใกล้เคียงกับ “Mother” ของวรกร แต่ขณะที่ผลงานชิ้นหลังมีรอยแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง “สารคดี” กับ “เรื่องแต่ง” ผ่านกลวิธีการนำเสนอ องค์ประกอบทั้งสองขั้วในผลงานของพวงสร้อยกลับดำรงอยู่อย่างคลุมเครือ-พร่าเลือน และต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

แม้องค์ประกอบที่เป็น “สารคดี” (จริงๆ สามารถเรียกว่า “หนังบ้าน” หรือ “home movie” ได้ด้วยซ้ำ) กับ “เรื่องแต่ง” ใน “นคร-สวรรค์” จะไม่ได้ประกบเข้าหากันชนิดลงล็อกเป๊ะๆ หรือนวลเนียนไร้ตะเข็บรอยต่อเสียทีเดียว

ขณะเดียวกัน ภาวะที่ทั้งยั่วล้อ, แปลกแยก และผสมกลมกลืนกันระหว่างสององค์ประกอบดังกล่าวก็มิได้แปรสภาพกลายเป็นอาการชวนเหวอ-ดูไม่รู้เรื่อง ที่อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าคนทำหนังมีความ “หนักมือ” จนเกินไป

“นคร-สวรรค์” ให้ความสำคัญแก่ “บันทึกความทรงจำ” หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพเคลื่อนไหว (หนังและวิดีโอ), การจดบันทึกข้อความลงสมุด, ภาพนิ่ง (ฟิล์มและดิจิตอล) ตลอดจนไฟล์เสียงสนทนาระหว่างบุคคล

แต่ “บันทึกความทรงจำ” ที่ถูกนำมาเรียงร้อยกันเหล่านั้นก็เต็มไปด้วย “รอยแหว่งวิ่น” และ “ช่องว่าง” นานัปการ

นี่เป็น “รอยแหว่งวิ่น-ช่องว่าง” ที่จำเป็นต้องมีอยู่ เมื่อผู้กำกับฯ เลือกนำเรื่องราวชีวิต (หรือบาดแผล) ส่วนตัว/ครอบครัว มาถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับชม

ไม่รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ เช่น การต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีในช่วงถ่ายทำสารคดี

ด้านหนึ่ง “รูโหว่” ที่ปรากฏตามรายทาง ก็สร้างความคาใจให้แก่คนดู ซึ่งไม่อาจรับรู้ได้หรอกว่าบรรดาอารมณ์อ้างว้างเคว้งคว้างที่ล่องลอยภายในหนังเรื่องนี้ จะกลายเป็น “ความเศร้า” ชั่วครั้งคราว หรือ “ความเสียใจ” ที่ดำรงอยู่ไปตลอดกาล

อีกด้านหนึ่ง นั่นก็ถือเป็น “ภาวะเปิดกว้าง” ต่อการตีความ ที่คนทำหนังคล้ายจะจงใจละเอาไว้ให้ผู้ชมได้ลองค้นคว้าคิดหาคำตอบอันหลากหลาย และพยายามแทนที่ชีวิตจริง/ชีวิตสมมุติของบุคคลต่างๆ ในภาพยนตร์ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง

โดยส่วนตัว ระหว่างดูหนังเรื่องนี้ ผมจะแอบตั้งคำถามว่า สายสัมพันธ์ลึกๆ ระหว่าง “พ่อ” กับ “แม่” ไม่ว่าจะในเนื้อหาส่วนสารคดีหรือเรื่องแต่งนั้นเป็นอย่างไรกันแน่? (แตกร้าว?, ลงรอย? หรือให้อภัยกัน?)

ผมชอบอารมณ์ครึ่งกลางค้างคาที่ปกคลุมตัวละครอย่าง “เอย” กับเพื่อนชายของเธอ ในฉากห้องพักโรงแรม ซึ่งค่อยๆ ระเหยหายคลี่คลายไปโดยปราศจากคำเฉลยชัดเจนใดๆ

เช่นเดียวกับรายละเอียดเล็กๆ บางประการที่ไม่สำคัญนัก แต่มีอารมณ์ขันดี อาทิ เมื่อ “ป้าของเอย” ระบายความโศกเศร้าในใจให้หมอนวดชายคนสนิทรับฟัง พร้อมทั้งฝากปลาเผาจากสิงห์บุรีไปให้ลูกชายของเขา ฉากต่อมา หนังก็พาคนดูไปติดตามชมพฤติกรรมของชายคนหนึ่ง ซึ่งเรามิอาจรู้ชัดว่าเขาคือใคร? (และไม่แน่ใจว่าตำแหน่งแห่งที่ของเขาอยู่ในสารคดีหรือเรื่องแต่ง?)

ชายคนนั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปตกปลาริมคลอง ก่อนจะหมดบทบาทลงอย่างสงบเงียบ

ด้านการแสดง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “เอิงเอย ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” ผู้รับบท “เอย” นั้นฝากฝีมือที่น่าประทับใจเป็นพิเศษไว้ใน “นคร-สวรรค์”

จากที่มีแววดีเมื่อครั้งแสดงหนังยาวเรื่องแรกคือ “โรงแรมต่างดาว” ของ “ปราบดา หยุ่น” มาถึง “นคร-สวรรค์” แม้เอิงเอยจะได้เวลาออกจอไม่มากเท่าในผลงานชิ้นก่อน แต่เธอกลับมีซีนน่าจดจำจำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะซีนบีบคั้น-ปลดปล่อยอารมณ์ในห้องพักโรงแรม

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น “รอยสักอันเรียบง่ายแต่โดดเด่นบนแผ่นหลัง” ซึ่งขับเน้นให้เรือนร่างของเอิงเอยมีเสน่ห์/เอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากนางเอกไทยส่วนใหญ่

ด้วยทักษะการแสดงและออร่าส่วนบุคคล คงไม่ใช่เรื่องยากที่ “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” จะค่อยๆ ขยับขับเคลื่อนตนเอง จากสถานะ “นางเอกของวงการหนังอินดี้ไทยยุคใหม่” ไปสู่การเป็น “นางเอกคนสำคัญ” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ 2560