จรัญ มะลูลีม : มรดกของอาณานิคม ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

จรัญ มะลูลีม

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือใน ค.ศ.1955 เป็นดินแดนที่มีเอกราช มีประชากร 300 ล้านคน ที่น่าสนใจคือความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกลางและยุโรป ดำรงมายาวนานนับศตวรรษ นับตั้งแต่สงครามครูเสด (rusade) มาจนถึงการก่อตัวขึ้นในความรุ่งโรจน์ของอิสลาม

ยุโรปได้เข้าไปข้องเกี่ยวอยู่ในดินแดนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เช่นรัสเซียเข้าโจมตีอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman Empire) ในสงคราม ค.ศ.1768-1774 นโปเลียนรุกรานอียิปต์ใน ค.ศ.1978

ความสนใจของยุโรปที่มีต่อตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจนถึงศตวรรษนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์

ในศตวรรษที่ 19 การแข่งอำนาจและอิทธิพลระหว่างคู่ปรปักษ์ในตะวันออกกลางระหว่างรัสเซียและสหราชอาณาจักรก็เป็นไปอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ก่อน ค.ศ.1914 อาณาจักรออตโตมาน สามารถมีชีวิตรอดมาได้โดยผ่านการเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจตะวันตกก่อนที่จะประสบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ I พร้อมๆ ไปกับประเทศตะวันตกอย่างเยอรมนี

ในท้ายที่สุดมหาอำนาจจักรวรรดินิยมก็ประสบความสำเร็จในการสถาปนาตัวเองขึ้นในเขตอำนาจของตน ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสเข้าครองแอลจีเรีย (1830) ตูนิเซีย (1881) และโมร็อกโก (1912) อิตาลีเข้าครองลิเบีย (1911)

สหราชอาณาจักรเข้าครองอียิปต์ (1882) ซูดาน (1898) อารเบียใต้ (1839) และเข้าครองรัฐริมอ่าวเปอร์เซีย (ปลายศตวรรษที่ 19 ถึง ค.ศ.1914)

หลังสงครามโลกครั้งที่ I

อาณาจักรออตโตมานประสบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ I ใจกลางของแผ่นดินกลายมาเป็นตุรกี (Turkey)

ดินแดนอาหรับที่เคยถูกตุรกีปกครองได้แบ่งออกเป็น 6 รัฐภายใต้การตกเป็นอาณานิคมดังต่อไปนี้ เลบานอนและซีเรียตกอยู่ภายใต้การครอบครองของสหราชอาณาจักรในขณะที่รัฐอาหรับสองรัฐคือ ซาอุดีอาระเบีย เยเมนเหนือและอีกสองประเทศที่มิใช่อาหรับคือตุรกีและอิหร่านได้รับเอกราช

ดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมาน จึงแยกออกจากกันในที่สุด พร้อมๆ ไปกับการค้นพบน้ำมันหลังสงครามโลกครั้งที่ I ตะวันออกกลางจึงกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ต่อมาได้มีการแข่งขันและความเป็นปรปักษ์ระหว่างประเทศยุโรปที่น่าสนใจระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี และซาร์แห่งรัสเซีย (Tsarist Russia) ตามมาด้วยความยุ่งเหยิงจากการเข้ามาของผู้ท้าทายอย่างสหรัฐอเมริกา

ความตกต่ำของอาณาจักรออตโตมานก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ภายในตะวันออกกลางเอง นั่นคือการเข้ามาของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ของประชาชน

การจัดตั้งที่อยู่อาศัยของพวกไซออนิสต์ (Zionist) ในแผ่นดินปาเลสไตน์

การเพิ่มอิทธิพลของโลกอุตสาหกรรม การยึดครองของต่างชาติ

การขยายตัวของความคิดที่มาจากศาสนาและความสุดโต่งในระดับชาติ

ชาวนาที่มีที่ดินอยู่จำนวนน้อย ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตร

เกิดกระแสความไม่พอใจและต่อต้านการเข้ามามีอำนาจของต่างชาติ

เกิดการลุกฮือทั่วภูมิภาคในทศวรรษหลัง ค.ศ.1880 ซึ่งมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อิรัก ใน ค.ศ.1920 ซีเรียใน ค.ศ.1926 ปาเลสไตน์ใน ค.ศ.1936 เกิดการปฏิวัติรัฐธรรมนูญในอิหร่าน ใน ค.ศ.1906-1908

ค.ศ.1917 คำประกาศ Balfour (Balfour Declaration) ให้สัญญาต่อการมีมาตุภูมิแห่งชาติสำหรับชาวยิวในปาเลสไตน์ ชาวยิวที่มีชีวิตรอดมาจากลัทธินาซี (Nazism) จึงได้มีแหล่งพำนักในตะวันออกกลาง

ชุมชนชาวยิวมีความเข้มแข็งพอที่จะเรียกร้องและสถาปนารัฐอิสระขึ้นในแผ่นดินของชาวปาเลสไตน์ สหราชอาณาจักรนำเสนอเรื่องสองสัญชาติ คือสัญชาติปาเลสไตน์ (Palestinans) และสัญชาติของชาวยิว (Jewish) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สหรัฐยืนกรานที่จะสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์และกดดันให้เกิดรัฐอิสราเอล ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ.1948 รัฐที่ไม่ได้เป็นรัฐอาหรับรัฐที่สามจึงปรากฏตัวขึ้นในตะวันออกกลางนั่นคือรัฐอิสราเอล ทั้งนี้ รัฐอาหรับทั้งหลายปฏิเสธที่จะให้การยอมรับ

ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสงบสุขในภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน

ในเวลานั้นซาอุดีอาระเบีย เยเมน ตุรกี และอิหร่านเป็นสี่ประเทศที่มีเอกราชในตะวันออกกลาง อันเนื่องมาจากขนาดของทั้งสี่ประเทศ และส่วนหนึ่งมาจากความจริงที่ว่ามหาอำนาจที่อยู่ภายนอกต้องการสร้างรัฐกันชนที่อยู่ทางตอนใต้ของสหภาพโซเวียต

รัฐต่างๆ ที่อยู่ทางเหนือของดินแดนที่เรียกว่ามักริบ (Maghreb) หรือแอฟริกาเหนือ ได้แก่โมร็อกโก แอลจีเรียและตูนิเซีย ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลีหนึ่งประเทศได้แก่ลิเบีย (Libya) และที่ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรได้แก่ อียิปต์ และซูดาน ในคาบสมุทรอาระเบีย นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังได้ครอบครองเหนือ คูเวต กาตาร์ รวมทั้งรัฐที่ปกครองโดยกษัตริย์อาหรับภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักรที่เรียกกันว่า โอมานหรือเอเด็น (Aden) ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามอาระเบียใต้แห่งตะวันออก หรือมัชริก (Mashrik)

ดินแดนต่างๆ เหล่านี้ล้วนเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวเติร์กมาแล้วทั้งสิ้น


ปลายสงครามโลกครั้งที่ II

อียิปต์ ซีเรีย เลบานอนและอิรักได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม กระบวนการออกจากการเป็นอาณานิคม (decolonization) กลายเป็นการนองเลือดและความขัดแย้ง

ในปาเลสไตน์กระบวนการเปลี่ยนผ่านในดินแดนปาเลสไตน์นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างเปิดเผยระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว (Jewish setlers) และชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดนเมื่อรัฐยิวได้รับการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ.1948

ชาวปาเลสไตน์ครึ่งหนึ่งได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยไปในที่สุด สหราชอาณาจักรออกจากเขตแดนของอียิปต์ใน ค.ศ.1954 ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชนอียิปต์ชาตินิยม จากนั้นสหราชอาณาจักรได้พยายามกลับมาอียิปต์อีกครั้งในการรุกรานคลองสุเอซ (Suez invasion) ใน ค.ศ.1956

ฝรั่งเศสยังคงอยู่ในดินแดนแอฟริกาเหนือ (มักริบ) ต่อไป นำไปสู่ความตายของชาวแอลจีเรียในเวลานั้นหนึ่งล้านคนจากประชากรแอลจีเรียที่มีอยู่ 14 ล้านคน สงครามจรยุทธ์เพื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นในเยเมนระหว่าง ค.ศ.1963-1967 การครอบครองแผ่นดินอาหรับโดยอาณานิคมจบลงใน ค.ศ.1971 เมื่ออาณานิคมสุดท้ายในอ่าวเปอร์เซียได้รับเอกราช

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางนับตั้งแต่การหลุดพ้นออกมาจากอาณานิคมในที่สุดก็เป็นมากกว่าผลประโยชน์ในพื้นที่และพัฒนาขึ้นเป็นปัญหาในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

พัฒนาการทางการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลาง

ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ I ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นทั้งดินแดนที่มีความหลากหลายและความไม่มั่นคง ในบรรดาประเทศ 20 ประเทศ ที่ได้รับเอกราชในภูมิภาค 17 ประเทศ เป็นชาวอาหรับ 3 ประเทศมิใช่ประเทศอาหรับ คืออิสราเอล อิหร่านและตุรกี มีประชากรไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน ในเวลานั้นอียิปต์ ตุรกีและอิหร่านมีประชากรประเทศละไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน (ปัจจุบันทั้งสามประเทศมีประชากรประเทศละไม่น้อยกว่า 80 ล้านคน) บาห์เรน กาตาร์และโอมานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

ประเทศเหล่านี้มีลักษณะร่วมและลักษณะเด่นดังต่อไปนี้คือ มีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน มีวัฒนธรรมร่วมคือวัฒนธรรมอิสลาม ในทางภูมิศาสตร์ มีความแห้งแล้ง ใช้ภาษาอาหรับ มีความแตกต่างกันอย่างมากและมีความขัดแย้งระหว่างกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศเหล่านี้สามารถรวมกันภายใต้ลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันและมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอก มีความขัดแย้งและมีความโดดเด่นภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

ลักษณะเด่นดังกล่าวสามารถเห็นได้เช่นกันในสังคมอื่นๆ ของโลกที่สามได้ อย่างเช่น การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยม การตกอยู่ภายใต้การเข้ามาตั้งบ้านเรือนของนักล่าอาณานิคม ตามมาด้วยการถูกบังคับให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานที่อยู่ของตนเองในที่สุด

หลายประเทศยังคงตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ขาดเสถียรภาพและความขัดแย้งหลังจากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคม อยู่ในสถานการณ์ที่ขาดความมั่นคงภายใต้อิทธิพลของทุนนิยมที่พัฒนาแล้วผ่านลัทธิอาณานิคมโดยตรงในบางพื้นที่และผ่านการควบคุมโดยอ้อมๆ ในพื้นที่อื่นๆ

ประสบการณ์ของการถูกครอบครองก่อให้เกิดบริบทพื้นฐานขึ้นในการเมืองของตะวันออกกลางเป็นการฟื้นตัวขึ้นมาหลังการจากไปของมหาอำนาจอาณานิคม เกิดการลุกฮือของประชาชนและการระดมกำลังต่อต้านกองกำลังต่างๆ ที่พยายามจะเข้ายึดจากภายนอก และต่อต้านผู้ที่ให้ความร่วมมือกับอำนาจที่มาจากภายนอก

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจึงมีรอยร้าวครั้งแล้วครั้งเล่ามาจากการลุกฮือ การจลาจล การเดินขบวน การปฏิวัติ และการประท้วงในเมืองต่างๆ ทั้งในหมู่บ้านและโอเอซิส การต่อต้านอิทธิพลที่เป็นทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและจินตนาการของมหาอำนาจภายนอก

อย่างเช่น การลุกฮือในอียิปต์ (1919 และ 1952) การปฏิวัติอิหร่านสองครั้ง (1906 และ 1979) และการปฏิวัติของเยเมนเหนือ (1962) และเยเมนใต้ (1963) (ก่อนที่ในที่สุดจะรวมกันเป็นเยเมนที่เป็นหนึ่งเดียว) การปฏิวัติที่แอลจีเรีย (1954-1962) การลุกฮือที่เกิดอีกครั้งในซูดาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ค.ศ.1964 และ 1985)

รวมทั้งการเข้ายึดครองโดยผู้ปกครองที่มาจากโครงสร้างรัฐที่รับมรดกมาจากลัทธิอาณานิคม