มุมมอง เรื่อง โลก เริ่มจาก โลก คือ ความว่าง สังเคราะห์ จำแนก

เรื่องของ “ความว่าง” เรื่องของ “จิตว่าง” ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับรูปศัพท์ของ “อัตตา” และ “อนัตตา”

หากแต่แยกไม่ออกจากเรื่องของ “โลก”

เมื่อบรรยายในเรื่อง “ภาษาคน-ภาษาธรรม ภัยพุทธศาสนา เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์” ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึง “โลก” อย่างน่าสนใจ

ภาษาคนโลกหมายถึงแผ่นดิน

ตัวโลกนี้จะว่าแบนหรือกลมก็ตาม หมายถึงตัวโลกแผ่นดิน

ภาษาธรรมคำว่า “โลก” หมายถึงนามธรรม หรือคุณธรรม หรือคุณสมบัติที่มีประจำอยู่ในโลก เช่น ความทุกข์ เป็นต้น

ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติประจำตัวอยู่ในโลก นั่นแหละคือตัวโลกในภาษาธรรมะ จึงกล่าวว่าโลกก็คือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือโลก อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส “อริยสัจสี่”

บางทีก็ใช้คำว่า “โลก” บางทีก็ใช้คำว่า “ทุกข์” เป็นอันเดียวกัน

เช่น พูดว่าโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทของโลก หนทางให้ถึงความดับสนิทของโลก อย่างนี้พระพุทธองค์ทรงหมายถึงตัวทุกข์ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ตัวความดับสนิทของความทุกข์และวิธีหรือหนทางทำให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์

เพราะฉะนั้น ในภาษาของพระพุทธเจ้าหรือภาษาธรรมะนั้น คำว่า “โลก” หมายถึงความทุกข์ ทุกข์กับโลกเป็นตัวเดียวกัน

แต่เมื่อผ่านการสังเคราะห์โดย ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน กลับสะท้อนมุมมองที่ต้องติดตาม

 

ท่านได้อธบิายลักษณทาง “จิตวิทยา” และทาง “จริยธรรม” ของ “จิตว่าง” ไว้อว่างชัดเจนในข้อความต่อไปนี้

คือ

“ความว่างเปล่าของจิต คือ สถานที่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทางกายภาพปรากฏอยู่ (และคนเรารับรู้อยู่) ตามปรกติ แต่จิตไม่เข้าไปยึดถือว่าเป็น “ของกู”

“ดังนั้น จิตว่างจึงไม่ใช่จิตที่ไม่คิดอะไรเลย ไม่ใช่จิตที่ว่างจากความคิด

“ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงมีอยู่ตามปรกติ และกระบวนการต่างๆ ทางความคิดก็ดำเนินไปตามปรกติ แต่จิตไม่ได้คิดไปในทางที่จะยึดถือด้วยความเป็น “ตัวกู” และ “ของกู””

ท่านพุทธทาสได้นิยาม “จิตว่าง” ไว้ว่า เป็นภาวะที่ “บุคคลไม่ยึดมั่นในสิ่งใด ไม่เป็นสิ่งใด ไม่รู้สึกว่าตนได้สิ่งใด หรือเป็นสิ่งใด” เมื่อจิตอยู่ในภาวะว่าง จิตจะ “ปลอดจากทุกข์ ปลอดจากความยึดมั่นถือมั่นตามอำนาจของความเชื่อ

 

เนื่องจากพระไตรปิฎกมักจะมีข้อความที่แสดงถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “โลก” ในทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ว่า โลกเป็น “ความว่าง” หรือสุญญตา ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับสุญญตา (ซึ่งภาษาไทยแปลว่า “ความว่าง”) จึงมักมีผู้เข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องของความว่างเปล่าแบบสุญญากาศ

ท่านพุทธทาสยังคงเดินตามขนบประเพณีเดิม

โดยกล่าวว่า โลกเป็นของว่าง แต่เราต้องเข้าใจว่า ในที่นี้ท่านหมายความว่าโลก “ถูกทำให้ปลอด” หรือ “ถูกทำให้ว่าง” จากกิเลส ไม่ใช่ “ว่างเปล่า” ตามความหมายตรงไปตรงมา

ดังในข้อเขียนของท่านต่อไปนี้ คือ

“พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุญญโต เอเวขัสสะ โมฆะราชะ สะทา สะโต-บุคคลควรเป็นผู้มีสติมองเห็นโลกในภาวะที่เป็นความว่าง” ผู้ใดก็ตามเห็นโลกในภาวะของความว่าง เขาผู้นั้นย่อมไม่เป็นทุกข์ เพราะเขาเห็นมัน (โลก) เป็นสิ่งที่ไม่มีการเกิดและการดับ คือ ไม่อาจเป็นความทุกข์ได้”

ในการแปลความหมายของข้อความที่ว่า “โลกคือความว่าง” เราจะต้องระลึกไว้เสมอว่า “โลก” ในคติทางพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายถึงโลกในทางวัตถุที่เป็นอิสระเสรีจากความรู้สึกรับรู้ของคนเราอย่างสิ้นเชิง

แต่ถึงกระนั้นพระพุทธศาสนาก็ไม่ปฏิเสธความมีอยู่จริงของโลกภายนอกร่างกายคน

“โลก” ในคติทางพระพุทธศาสนาเป็นที่รับรู้กันอยู่เสมอไปว่า เป็นภาวะที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประสบการณ์และความประสงค์ของคนเรา

โลกภายนอกที่เป็นอิสระเสรีจากประสบการณ์ของคนเราอาจจะมีอยู่ก็จริง แต่ถ้ามันอยู่นอกเหนือประสบการณ์ของคนเราเสียแล้ว พระพุทธศาสนาก็สอนว่าโลกชนิดนั้นไม่ใช่ประเด็นที่คนเราต้องเป็นห่วง

“โลก” ในคติทางพระพุทธศาสนานั้นก็คือ ส่วนของจักรวาลภายนอกร่างกายคน อันเป็นส่วนที่คนเรารับรู้ได้และอาจกลายเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาทางอายตนะของเราได้

 

ขณะเดียวกัน หากยังยึดกุมกับธรรมบรรยายในหัวข้อเรื่อง “ภาษาคน-ภาษาธรรม ภัยพุทธศาสนา เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์”

คำว่า “โลก” หมายถึงที่ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่ใช่ลึกซึ้ง ไม่ใช่สูงสุด

เราพูดกันว่าเป็นเรื่องโลกๆ ไม่ใช่เรื่องธรรมะ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็ยังเป็นคำว่า “โลก” ในภาษาธรรมะเหมือนกัน

ไม่ใช่คำว่าโลกจะหมายถึงแต่ตัวแผ่นดินเสมอไป