จรัญ มะลูลีม : รัฐอิสลามอิหร่านหลังโคมัยนี

จรัญ มะลูลีม

ถ้อยคำของอิมามโคมัยนี
: พลังสำคัญของการปฏิวัติอิสลาม

โอ้ชาวมุสลิมและผู้ถูกกดขี่ในโลกนี้! จงลุกขึ้นและกำชะตากรรมของท่านไว้ในมือของท่านเอง! ท่านจะนั่งรอให้วอชิงตันและมอสโกกำหนดชะตากรรมของท่านอีกนานเท่าไร? ตำนานอันมดเท็จของตะวันออกและตะวันตกจะทำให้มุสลิมผู้มีพลังงงงันไปนานเท่าไร และคำโฆษณาลมๆ แล้งๆ ของพวกเขาจะทำให้มุสลิมหวาดกลัวกันไปอีกนานเท่าใด? มุสลิมจะละเลยพลังของอิสลามกันไปอีกนานเท่าใดเล่า?” (คำปราศรัยต่อประชาชนอิหร่าน 17 พฤษภาคม ค.ศ.1981)

จากความหวาดกลัวไปเป็นความกล้าหาญ จากความสิ้นหวังไปเป็นความมั่นใจ จากความเห็นแก่ตัวไปสู่การสละอุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้า และจากความไม่สามัคคีไปเป็นการรวมตัว ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นปาฏิหาริย์นี้จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งบางทีคนทั้งโลกอาจคิดว่าไม่สามารถจะแก้ได้

จงอย่าเชื่อว่าอิหร่านมีอาวุธยุทธภัณฑ์ อาวุธยุทธภัณฑ์ของอิหร่านก็คือก้อนหิน กระบองและกำปั้น อย่างไรก็ตาม อาวุธด้านจิตวิญญาณของเราก็คือ ความศรัทธาในศาสนาของเรา ความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และความมั่นใจในแหล่งแห่งพลังอำนาจทั้งหลาย และความเป็นหนึ่งเดียวของคำพูด (คำปราศรัยในวันสาธารณรัฐอิสลาม 1 เมษายน ค.ศ.1981)

ทุกวันนี้ทั้งมิตรและศัตรูของอิหร่านต่างก็พูดถึงอิหร่านว่าเป็นประเทศอิสลามที่ต่อต้านชาติมหาอำนาจ ทุกวันนี้อิหร่านยังยึดคำพูดที่เคยได้กล่าวไว้ตั้งแต่วันแรกว่า เราไม่ต้องการจะต่อสู้กับประเทศใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม และเราแสวงหาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองเพื่อทุกคน (คำปราศรัยในวันสาธารณรัฐอิสลาม 1 เมษายน ค.ศ.1981)

ความสัมพันธ์ระหว่างชาติหนึ่งซึ่งลุกขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยจากกรงเล็บของนักปล้นสะดมสากลของโลก นักปล้นสะดมที่เขมือบโลกมักจะทำไปเพื่อความสูญเสียของชนชาติที่ถูกกดขี่ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ปล้นสะดมเสมอ เราถือว่าการตัดความสัมพันธ์นี้เป็นลางดี เพราะนี่คือข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังหมดความหวังในประเทศอิหร่านแล้ว (คำปราศรัยในโอกาสที่อิหร่านตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐ 9 เมษายน ค.ศ.1983)

เสียงร้องแห่งความบริสุทธิ์ของเราคือเสียงร้องของผู้ถูกกดขี่และประชาชนผู้บริสุทธิ์แห่งอัฟกานิสถาน เป็นที่น่าเสียใจที่สหภาพโซเวียตมิได้สนใจต่อคำเตือนของข้าพเจ้าเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน จึงเข้าโจมตีประเทศอิสลามประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายครา และบัดนี้ข้าพเจ้าก็กำลังกล่าวอีกว่า สหภาพโซเวียตจงอย่าได้มายุ่งกับประเทศอัฟกานิสถานและประชาชนของประเทศนั้นเลย

คำขวัญของเราที่ว่า “ไม่ใช่ตะวันออกหรือตะวันตก” (Neither East nor West) นั้นเป็นคำขวัญสำคัญของการปฏิวัติตามแนวทางอิสลาม ในโลกแห่งความหิวโหยและความกดขี่นี้ และเป็นการแสดงถึงเค้าโครงของนโยบายที่แท้จริงแห่งการไม่เข้าข้างฝ่ายใด

ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับอเมริกานั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างลูกแกะกับหมาป่า จึงไม่อาจมีการปรองดองกันได้ระหว่างสองประเทศนี้ (ข้อสังเกตในเรื่องจดหมายของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งมีมาถึงผู้นำแห่งการปฏิวัติ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1988)

เป็นที่รู้ดีแก่ทุกคนแล้วว่านับแต่นี้ต่อไปเราจะได้พบลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เฉพาะในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกเท่านั้น เพราะมาร์กซิสต์นั้นไม่มีคำตอบให้แก่ความต้องการอันแท้จริงของมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าคำสอนของพวกเขาเพ่งเล็งไปที่วัตถุนิยมเท่านั้น

(จดหมายของอิมามโคมัยนีถึงผู้นำสหภาพโซเวียต นายมิคาอิล คอร์บาชอฟ 4 มกราคม ค.ศ.1989)

หลังชีวิตการต่อสู้อันยาวนานเพื่อชาวอิหร่าน อิมามได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1989

ท่ามกลางความอาลัยรักของชาวอิหร่านหลายล้านคนที่ออกมาแสดงความเศร้าโศกตามท้องถนนให้เห็นอย่างเนืองแน่น สภาผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งให้ซัยยิด อะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี (Ali Khamenei) เป็นผู้นำคนใหม่ของการปฏิวัติ และความสัมพันธ์กับสหรัฐที่ขาดสะบั้นลงหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1979 ก็มิได้หวนกลับมาอีกเลยจนถึงเวลานี้

แม้ว่าในสมัยของประธานาธิบดีโอบามาจะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านก็ตาม

 

อิสลามกับอิมามโคมัยนี

การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่านโดยอิมามโคมัยนีได้รับทั้งความชื่นชม ความไม่พอใจและการคาดหมายต่างๆ นานา

โดยเฉพาะสื่อของตะวันตกที่มองว่าการปฏิวัติของอิหร่านคงหนีไม่พ้นสภาพสงครามกลางเมืองแบบเลบานอน (Labanonzation)

แต่ไม่ว่าจะพูดกันไปอย่างไรก็ตาม การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิมามและผู้สืบทอดของเขาก็ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีสถานการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าแนวทางแห่งการปฏิวัติจะลดความสำคัญลงไปแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ในเวลาต่อมาสานุศิษย์ของอิมามจะขัดแย้งกันเองในเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ.2010 ก็ตาม

อิมามประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ ค.ศ.1979 ด้วยการยืนหยัดต่อต้านมุฮัมมัด เรซาชาฮ์ของอิหร่าน ซึ่งครองอำนาจด้วยการเอาประเทศตัวเองไปผูกไว้กับมหาอำนาจ

อิมามวิจารณ์ชาฮ์ว่านำสตรีสู่แนวทางของตะวันตก ละทิ้งหลักการอิสลาม ไม่เอาใจใส่ต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ ทำลายเศรษฐกิจและเอาทรัพยากรของอิหร่าน โดยเฉพาะน้ำมันไปยกให้มหาอำนาจ ทำลายเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ และใช้ตำรวจลับทารุณประชาชน

การปฏิวัติของอิมามประสบความสำเร็จเพราะว่าอิมามอยู่กับประชาชน เคียงข้างและเป็นที่พึ่งพาของประชาชนอยู่เสมอ ดวงวิญญาณของอิมามอุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้าและประชาชน นับตั้งแต่ประชาชนอิหร่านได้รู้จักอิมาม พวกเขาก็รู้สึกว่าการปฏิวัตินั้นเป็นของพวกเขาเอง ประชาชนถือว่าอิมามก็คือตัวแทนความสำนึกของพวกเขาเอง

เนื้อหาใหญ่สองประการเกี่ยวกับการฟื้นฟูอิสลามของอิมามก็คือ 1.การตำหนิลัทธิวัตถุนิยมและลัทธิบริโภคนิยมที่มากเกินไป 2.อิสลามในฐานะที่เป็นสติสำนึกของมุสตัดอะฟีน (ผู้ถูกกดขี่)

ในการตำหนิลัทธิวัตถุนิยม อิมามมีความคิดว่าความหยิ่งทระนงของบุคคลและลัทธิวัตถุนิยมเป็นสาเหตุของการคอร์รัปชั่นและทำลายความ เป็นมนุษย์ในอิสลามที่เรียบง่ายและสุภาพ ผสมผสานกับจิตวิญญาณและความมั่นใจทางวัฒนธรรม ซึ่งมีรากฐานมาจากความรู้สึกซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าวัฒนธรรมวัตถุนิยมร่วมสมัย

 

อิมามกล่าวว่า จงอย่าหยุดความก้าวหน้า แต่จงระมัดระวังอิทธิพลของมันที่มีอยู่เหนือความเป็นอิสลามของท่าน เพราะมันจะนำไปสู่ความสับสนและนำเอาความอ่อนแอมาสู่มุสลิม ก่อให้เกิดความหยุดนิ่งของสังคม เศรษฐกิจ และภาวะทางวัฒนธรรมของอุมมะฮ์ ซึ่งจะทำให้ผู้คนมัวแต่สนใจอย่างมากกับจุดมุ่งหมายส่วนตัว แต่ไม่สนใจชุมชนส่วนรวม

ในเวลาเดียวกัน อิมามโคมัยนีตีความคำว่า มุสตัดอะฟีน (ผู้ถูกกดขี่) ว่าหมายถึงบรรดาผู้ได้รับความกดขี่อย่างอยุติธรรม ในสมัยใหม่คำว่ามุสตัดอะฟีน ได้ใช้ไปในหลายความหมาย อันเนื่องมาจากความซับซ้อนทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ คำขวัญของการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามที่ว่า “ไม่ใช่ทั้งตะวันออกและไม่ใช่ทั้งตะวันตก” (Neither East nor West) ก็คือการฟื้นฟูคุณค่าทางวัฒนธรรมและการครอบครองของตะวันตก ซึ่งอิมามกล่าวว่าจะต้องดำเนินไปโดยอาศัยการศึกษา

อิมามโคมัยนีมีทรรศนะว่า การปฏิรูประบบการศึกษาจะนำไปสู่การฟื้นฟูคุณค่าทางวัฒนธรรมอิสลามทำให้เป็นอิสระจากการกดขี่ สำหรับตัวอิมามเอง อิสลามคือเครื่องมือแห่งการปลดปล่อย ทั้งนี้ อิมามไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิเสธวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีความสำคัญมาก ความทันสมัยและความเป็นตะวันตกนั้นเป็นสองสิ่งที่ต่างกัน

ความทันสมัยคือทรรศนะของปัญญาชนที่มีต่อชีวิต ส่วนความเป็นตะวันตกนั้นเป็นวัฒนธรรมและเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์บางแห่งของโลก