คนของโลก : จูเลีย ปาลาไก ตำรวจหญิงแห่งปาปัวนิวกินี

ในประเทศซึ่งการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงเป็นปัญหาเรื้อรัง ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อข่มเหง และถูกทำร้ายด้วยความเชื่อแม่มดหมอผี ขณะที่จำนวนผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนเท่ากับศูนย์ “จูเลีย ปาลาไก” ตำรวจหญิงระดับสัญญาบัตรเป็นผู้ที่เริ่มต้นถางเส้นทางเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมปาปัวนิวกินี

ตำรวจในระดับสารวัตรวัย 43 ปี ผ่านประสบการณ์ตำรวจนานถึง 18 ปี ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นหนึ่งในตำรวจหญิงที่อยู่ในระดับสูงที่สุดของประเทศปาปัวนิวกินี

และกำลังเรียกร้องให้ผู้หญิงในปากัวนิวกินี ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับการเหยียดเพศในประเทศพร้อมกับเธอ

“ผู้หญิงต้องยืนหยัดลุกขึ้นต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ ทำร้ายร่างกายและการทารุณกรรมทางเพศในที่ทำงาน” ปาลาไกระบุ

และว่า “สำหรับเด็กผู้หญิงที่ยังคงต้องดิ้นรนแล้วนั้น จงอย่ายอมแพ้ แต่ลุกขึ้นทำให้ดีที่สุดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย และเพื่อไปค้นหาชีวิตที่ดีกว่า”

 

สําหรับประเทศปาปัวนิวกินี เป็นประเทศที่ “ฮิวแมนไรท์วอทช์” องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ยกให้เป็น “หนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับผู้หญิง” ในรายงานซึ่งระบุว่า ผู้หญิงราว 70 เปอร์เซ็นต์จะถูกข่มขืนและคุกคามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุด้วยว่า ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับพ่อมดหมอผียังคงเป็นประเด็น ขณะที่ผู้หญิงและเด็กหญิงนั้นมักจะตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 111 คนนั้นไม่มีผู้หญิงอยู่เลย ขณะที่ในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีผู้หญิงทำงานอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

สำหรับปาลาไกแล้ว เธอเป็นตำรวจหญิงคนเดียวที่อยู่ในระดับสัญญาบัตร ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงระดับยศสารวัตรขึ้นไป ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

 

ปาลาไกดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยความปลอดภัยสาธารณะที่สถานีตำรวจโคโคโป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ผู้นำในตำรวจกองเกียรติยศที่จะให้การต้อนรับผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ระดับสูง และแขกพิเศษในระดับวีไอพี ในการเดินตรวจกองเกียรติยศ ตำแหน่งซึ่งเห็นได้ยากสำหรับผู้หญิงในประเทศที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ และเป็นตำแหน่งที่จำเป็นจะต้องได้รับความเคารพจากผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดด้วย

ปาลาไกมาจากครอบครัวที่แตกแยก โดยหลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมต้นแล้ว แผนในการที่จะเรียนต่อต้องพังลงหลังเมืองราบาอุล เมืองบ้านเกิดในปาปัวนิวกินี ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภูเขาไฟระเบิด 2 ลูกซ้อน ในปี 1994

หลังจากนั้นปาลาไกต้องทำงานเป็นตัวแทนขายให้กับบริษัทเครื่องเขียน ก่อนที่จะดิ้นรนไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์

ปาลาไกยอมรับว่าตนรู้สึกตกใจมากที่ได้รับเลือกให้เข้าทำงานเป็นตำรวจ โดยได้ร่วมการฝึกเป็นเวลา 6 เดือนที่ฐานทัพใกล้กับกรุงพอร์ตมอร์สบี เมืองหลวงของปาปัวนิวกินี

ก่อนจะถูกส่งไปประจำที่ “ลิไฮร์” เกาะที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของการทำเหมืองทองคำ

“ฉันเป็นเพียงตำรวจอายุน้อยที่ถูกส่งไปบังคับบัญชา บริหารจัดการ และออกคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชายและหญิงที่อายุมาก มีประสบการณ์และอายุงานมากกว่าฉัน” ปาลาไกระบุ

และว่า “คุณต้องเรียนรู้ที่จะคิดให้เร็วในช่วงเวลาฉุกเฉิน หรือในสถานการณ์ประจำวัน ในขณะที่ทำหน้าที่ก็ต้องตัดสินใจให้รวดเร็วและชาญฉลาด”

 

ปาลาไกเป็นคนทะเยอทะยาน แต่ก็เช่นเดียวกันกับผู้หญิงจำนวนมากในปาปัวนิวกินี ที่ต้องพบว่าคู่ครองนั้นไม่เห็นด้วยกับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

“ฉันต้องทิ้งเขาเพราะฉันไม่เห็นอนาคตดีๆ กับการอยู่กับเขา รวมไปถึงพฤติกรรมที่ไม่เคารพที่ฉันไม่สามารถที่จะทนอยู่ต่อไปได้” ปาลาไกระบุ และว่า “เขามักจะเถียงฉันว่าฉันเป็นแค่ผู้หญิง ตำรวจและผู้หญิงจะไม่ฟังคำสั่งเพราะผู้หญิงไม่มีอำนาจที่จะเป็นผู้นำได้”

คำดูถูกดูเหมือนจะเป็นแรงผลักดันให้ตำรวจหญิงอย่างปาลาไกสามารถก้าวขึ้นเป็นตำรวจในชั้นสัญญาบัตรได้ในปี 2013 โดยเป็น 1 ใน 4 ตำรวจหญิงที่สอบผ่านและถูกส่งไปประจำการในแต่ละพื้นที่ของประเทศ พร้อมกับตำรวจชายอีก 20 คน และได้ร่วมทำพิธีรับตำแหน่งโดยมีปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีเป็นประธานในเวลานั้น

นับตั้งแต่นั้น ปาลาไกก็ทำหน้าที่เป็นตัวอย่างผลักดันให้ผู้หญิงต่อสู้และลงทุนเพื่ออนาคตของตัวเองมากขึ้น

“การศึกษาไม่หยุดลงแม้จะเด็กหรือแก่ หากเมื่อมีโอกาสเมื่อใด จงคว้าเอาไว้ เพราะการศึกษาคืออนาคตของคุณ” ปาลาไก ตำรวจหญิงแห่งปาปัวนิวกินีระบุ