วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ห้วงชีวิตในจีนศึกษา (9) “รถไฟความเร็วสูงกับความฝันของเติ้ง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

นักเขียนประจำและในระหว่างนั้น (ต่อ)

จากการทำงานแปลร่วมกันในครั้งนั้นทำให้พบว่า อาจารย์มูราซิมามีความละเอียดและระมัดระวังในการใช้ข้อมูลอย่างมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูลในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ข้อเท็จจริงต่างกัน ซึ่งท่านต้องมีวิธีอธิบายให้คนอ่านได้เข้าใจโดยไม่โน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

เช่น เมื่อถามท่านว่า ในใจท่านคิดว่าใครเป็นผู้สังหารอดีตผู้นำชุมชนชาวจีนที่ชื่อตันซิวเม้ง หวั่งหลี ซึ่งถูกลอบยิงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน (1)

ท่านตอบว่า น่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนในไทย ซึ่งคงผูกใจเจ็บที่ตันซิวเม้งไปค้าขายกับญี่ปุ่น แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยัน ท่านจึงละที่จะวิเคราะห์หรือระบุว่าใครคือฆาตกรที่สังหารผู้นำชุมชนจีนโพ้นทะเลท่านนี้ เป็นต้น

ระหว่างที่ทำงานแปลร่วมกันอยู่นั้น เรื่องทำนองดังกล่าวเกิดอยู่เป็นระยะ และทำให้เราสองคนต้อง “เดา” กันอยู่เสมอ การเดาเช่นนี้นับว่าสนุกอยู่ไม่น้อย ชั่วอยู่แต่ว่าเป็นความสนุกที่เขียนลงไปไม่ได้เท่านั้น

 

หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน งานแปลชิ้นที่ว่าก็แล้วเสร็จ จากนั้นจึงได้ลาอาจารย์มูราซิมาไปเยือนกัลยาณมิตรชาวไทยอีกท่านหนึ่งที่เกียวโต และเป็นการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง (Shinkanzen) ครั้งแรกในชีวิต

ระยะทางจากโตเกียวไปเกียวโตเกือบ 500 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาวิ่งราวสองชั่วโมงเศษๆ

ระหว่างที่วิ่งนั้นได้มองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อดูทิวทัศน์ ไม่ได้รู้สึกเลยว่ารถไฟวิ่งเร็ว แถมยังวิ่งไปแบบเงียบๆ อีกด้วย ไม่เหมือนรถไฟปกติที่เสียงดังมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้คิดถึงอดีตผู้นำจีนคือเติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ.1904-1997) เมื่อครั้งไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1978 และได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นด้วย

มีอยู่ตอนหนึ่งเติ้งกล่าวในทำนองว่า สักวันหนึ่งจีนควรจะมีรถไฟความเร็วสูงบ้าง

จนอีก 30 ปีต่อมาจีนก็ได้เปิดการเดินรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2008 ครั้นเวลาผ่านไปอีกสิบปี จีนก็มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศรวมแล้วราว 25,000 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66 ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่มีอยู่ทั่วโลก เพียงเท่านี้ก็ยังเกินร้อยละ 50 ไปแล้ว ต่อไปอัตราร้อยละคงเป็นที่หนึ่งของโลกโดยไม่ต้องสงสัย

ที่แน่ๆ คือ ความฝันของเติ้งเสี่ยวผิงได้เป็นจริงแล้ว ถึงแม้เขาจะอยู่ไม่ทันได้เห็นก็ตาม

 

ตลอดเกือบหนึ่งสัปดาห์ในเกียวโตได้ให้ความประทับใจที่ต่างไปจากตอนอยู่โตเกียว ซึ่งความแตกต่างอย่างสำคัญก็คือ ในขณะที่โตเกียวเป็นเมืองสมัยใหม่ เกียวโตกลับคงความเป็นเมืองเก่าเอาไว้ได้ในหลายพื้นที่

โดยเมืองเก่าเหล่านี้ว่ากันว่าได้จำลองเมืองหลวงฉังอันของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) มาไว้ ณ เมืองนี้ และคงด้วยความเป็นเมืองเก่า เกียวโตจึงเป็นเมืองที่ค่อนข้างจะสงบ ไม่จ้อกแจ้กจอแจหรือเร่งรีบแบบโตเกียว

กล่าวโดยส่วนตัวแล้ว แม้จะมีความประทับใจในหลายเรื่องสำหรับเกียวโตก็ตาม แต่ที่ดูมีผลต่อจิตใจก็คือตอนที่ได้เห็นอาคารเก่าของเมืองนี้ คือดูแล้วก็ให้เกิดความรู้สึกมลังเมลืองขึ้นในใจ ว่านี่หรือคือร่องรอยเมืองจีนสมัยราชวงศ์ถัง มันช่างงามอะไรเช่นนี้

ยิ่งเห็นอาคารบางหลังที่ประดับโคมไฟเรียงเป็นแนวด้วยแล้วก็ชวนให้คิดถึงบันทึกในสมัยราชวงศ์ถังที่บอกเล่าเทศกาลหยวนเซียว (2) ว่าเป็นวันที่ราชสำนักมีการประดับโคมไฟไปทุกแห่งและมีดนตรีอยู่โดยทั่วเมืองฉังอัน

กล่าวกันว่าโคมไฟในเทศกาลนี้สว่างไสวจนสามารถมองเห็นได้ในระยะห่าง 20 กิโลเมตร ที่ว่ารู้สึกมลังเมลืองในใจก็เป็นเช่นนี้เอง

 

นอกจากสภาพบ้านเมืองของเกียวโตแล้ว สิ่งที่เห็นได้ในสิ่งละอันพันละน้อยมักทำให้คิดถึงพื้นฐานความเป็นจีนที่ปรากฏอยู่ ตราบจนถึงวันที่ต้องลาจากญี่ปุ่นกลับเมืองไทยแล้วห้วงคิดคำนึงนี้ก็มิได้หายไป

จนเมื่อต้องมาหาข้อสรุปว่า หากจะมีสิ่งใดที่ยังหลงเหลือตกทอดให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันและเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้แล้ว สิ่งหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นความขยันหมั่นเพียรที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นมีเหมือนๆ กันมายาวนาน แม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน

โดยที่หากกล่าวเฉพาะส่วนตัวแล้วก็เห็นได้จากความขยันหมั่นเพียรของอาจารย์มูราซิมา และหากกล่าวโดยส่วนรวมแล้วก็คือความเจริญก้าวหน้าของทั้งจีนและญี่ปุ่นในทุกวันนี้ ความขยันหมั่นเพียรเช่นนี้น่าที่ไทยเราพึงได้ศึกษาเป็นเยี่ยงอย่างอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะในส่วนที่ควบคู่กับความมีระเบียบวินัย

 

ครั้นกลับถึงเมืองไทยได้ไม่กี่วัน และหลังจากชำระสะสางงานประจำที่ทำอยู่จนเข้าที่เข้าทางแล้วก็ได้รู้ว่า หนังสือพิมพ์รายวันที่ตนเป็นนักเขียนประจำแบบไม่ประจำได้มีการเปลี่ยนกองบรรณาธิการใหม่หมด จึงได้โทรศัพท์ไปถามว่ามีผลต่อการพิจารณาบทความของตัวเองหรือไม่ ด้วยได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นนานกว่าเดือน

พลันผู้ที่รับโทรศัพท์รู้ว่าเป็นใครที่โทรศัพท์มา ผู้รับท่านนั้นจึงแจ้งว่า ดีใจที่โทรศัพท์มาหา เพราะจะบอกว่านับแต่นี้ไปจะขอเชิญให้เป็นนักเขียนประจำ (อย่างเป็นทางการ) ตลอดไป ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าเป็นข่าวดี

อย่างน้อยนับแต่นี้ไปจะได้ไม่ต้องคอยดูว่าบทความที่ส่งไปจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ หรือตีพิมพ์เมื่อไร

นับแต่ที่กลับจากญี่ปุ่นและมีส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นนักเขียนประจำนั้น ชีวิตทางวิชาการด้านจีนศึกษาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่มิได้มากในความหมายที่ว่าปีกกล้าขาแข็งแต่อย่างไร หากหมายถึงทักษะหรือฉันทะทางวิชาการที่ต้องตอกย้ำกับตัวเองว่า พึงอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ

งานศึกษาเรื่องใดที่ทำอยู่เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็พึงเผยข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่ ไม่ควรกักเอาไว้เพื่อที่จะให้ตนรู้อยู่เพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่ข้อมูลนั้นก็มิใช่ความลับหรือทำให้ใครอื่นเดือดร้อนแต่ประการใด

ชีวิตในโลกจีนศึกษาที่เปลี่ยนไปนี้ดำเนินผ่านไปในแต่ละวันจนเป็นชีวิตที่ปกติ และเมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเมื่อแรกที่ตัดสินใจศึกษาเรื่องจีนแล้วก็ได้แต่บอกตัวเองว่า ชีวิตได้เดินทางมาไกลไม่น้อย ระหว่างการเดินทางบนเส้นทางสายนี้ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน

มารู้สึกตัวอีกทีอายุก็เข้าสู่วัยฉกรรจ์แล้ว และแล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมไทยก็มาถึงในวันหนึ่ง วันที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในไทยเมื่อ ค.ศ.1997 หรือที่เรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

จากนักวิจัยสู่อาจารย์

ในฐานะข้าราชการ วิกฤตต้มยำกุ้งไม่ได้กระทบต่อหน้าที่การงานมากนัก แต่ที่กระทบก็คือการเป็นนักเขียนประจำ ด้วยหนังสือพิมพ์ที่ตนเขียนประจำอยู่นั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้กันถ้วนหน้า กว่าจะฟื้นตัวได้ก็ใช้เวลานานนับปี

ผลกระทบครั้งนี้ทำให้งานเขียนประจำลดตามไปด้วย ระหว่างนี้ได้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมาที่เห็นว่าควรเล่าสู่กันฟัง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจีนอยู่ด้วย

ปรากฏการณ์ที่ว่าคือ ช่วงที่วิกฤตยังมิได้ผ่อนคลายเบาบางลงนั้น ในกรุงเทพฯได้มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ขึ้น ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่า วิกฤตขนาดนี้จะมีใครซื้อรถสักกี่มากน้อย แต่การณ์กลับปรากฏว่ารถต่างๆ ที่ไปจัดแสดงในงานนี้กลับขายดีเป็นปกติ

และคนที่ซื้อจำนวนไม่น้อยคือคนไทยเชื้อสายจีนที่ส่วนใหญ่แล้วมักมีธุรกิจส่วนตัว

———————————————————————————————————————–
(1) ตันซิวเม้ง หวั่งหลี (ค.ศ.1904-1945) เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนจีนโพ้นทะเลในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945) ในระหว่างสงครามดังกล่าวเขาได้ให้การสนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่นในจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงค้าขายกับญี่ปุ่นในไทย ในขณะที่ผู้นำชุมชนจีนโพ้นทะเลบางกลุ่มปฏิเสธที่จะค้าขายกับญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปไม่นาน ตันซิวเม้งถูกลอบยิงอย่างอุกอาจจนเสียชีวิต โดยที่ทางการไทยไม่สามารถจับกุมฆาตกรได้ ส่วนคนที่สนใจในเหตุการณ์นี้ต่างก็วิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าตันซิวเม้ง
(2) หยวนเซียวเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ ด้วยเหตุที่เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีน การฉลองในวันนี้จึงคึกคักมากเป็นพิเศษ เทศกาลหยวนเซียวรู้จักกันในคำไทยว่าเทศกาลโคมไฟ