วิรัตน์ แสงทองคำ : ศุภชัย เจียรวนนท์ (5)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราว ศุภชัย เจียรวนนท์ ควรจะยาวมากกว่าคนอื่นๆ เนื่องด้วยสัมพันธ์กับซีพีภาคใหม่ กลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลมากที่สุดรายหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ถือเป็น “ชิ้นส่วน” สำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมไทย

หากเปรียบเทียบบทบาท และแรงบันดาลใจซีพี ยุค “โชติช่วงชัชวาล” กับยุคสื่อสารแล้ว ดูจะแตกต่างกันมากทีเดียว

ธุรกิจสื่อสารเป็นภาระใหญ่ทั้งการลงทุนและการปรับตัว

ยิ่งเมื่อวางตัว ศุภชัย เจียรวนนท์ ตัวแทนรุ่นที่ 3 ของครอบครัวธุรกิจที่ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียด้วยแล้ว ย่อมจะกลายเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ ครั้งใหม่อย่างแท้จริง

“ซีพี ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ธุรกิจอิทธิพล ย่อมอยู่ในกระแสสังคมธุรกิจไทยเสมอมา กระแสซึ่งแรงมากๆ ในช่วงนั้น เกี่ยวกับ Petrochemical Complex เป็นแผนการทางยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงกับอนาคตระบบเศรษฐกิจไทย “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยความเชื่อว่าเป็นโมเดลความมั่งคั่งใหม่ ผู้คนซึ่งมีอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทย มองเห็นโอกาสครั้งใหญ่” เคยกล่าวในตอนแรกๆ (ศุภชัย เจียรวนนท์ (2) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2559)

โมเดลความมั่งคั่งเกี่ยวข้องกับแผนการใหญ่ Petrochemical Complex เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบตลอดช่วงทศวรรษ หลังการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หรืออาจกล่าวได้ว่าตลอดช่วงรัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531)

จุดไคลแมกซ์เกิดขึ้นในช่วงปี 2529-2531 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ๆ ของไทย ผู้เข้าถึงข้อมูล และสายสัมพันธ์ ได้ตระเตรียมการเข้าร่วมไพบูลย์อย่างคึกคัก

อาจถือได้ว่าเป็นการจัดสรรผลประโยชน์อย่างลงตัว ตามโมเดลทางอำนาจใหม่ ซึ่งก่อรูปขึ้นในช่วงนั้น ว่าด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างรัฐภายใต้อำนาจทหาร ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ กับทุนใหญ่

ขณะที่ยุคสื่อสารเกิดขึ้นในทศวรรษถัดมา เป็นส่วนหนึ่งกระแสโลกที่ไหลบ่าเข้ามา ทั้งธุรกิจรูปแบบใหม่ และกระแสเงินทุนใหม่ บวกกับการปรากฏตัว “ผู้มาใหม่” พวกเขาสามารถมองเห็นโอกาสและฉวยจังหวะได้

เริ่มต้นอย่งมีนัยยะ Al Gore รองประธานาธิบดีสหรัฐ กับโครงการ Information Superhighway (2534) สร้างแรงกระตุ้นไปทั่วโลกเข้าสู่ยุคใหม่ การสร้างเครือข่ายสื่อสารระดับโลก กับเริ่มต้นยุคอินเตอร์เน็ต เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาปักหลักเมืองไทยอย่างจริงจังช่วงนั้น เช่น Microsoft และ Oracle

“ผู้มาใหม่” กับกลุ่มธุรกิจใหม่เติบโตในช่วงทศวรรษ 2530-2540 เกิดขึ้นนับสิบกลุ่ม ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่ามากในการสะสมความมั่งคั่ง ให้เท่ากับหรือมากกว่ากลุ่มเก่า

พวกเขาเติบโตมาจากปัจจัยคล้ายๆ กัน 2-3 ประการ

หนึ่ง-โอกาสจากระบบสัมปทานแบบใหม่ เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมซึ่งซุกซ่อนไว้โดยรัฐและกลุ่มธุรกิจเก่าไม่รู้ ไม่เข้าใจมาก่อน

สอง-เป็นตัวแทนหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากตะวันตก หรืออยู่ในกระบวนการผลิตของธุรกิจระดับโลก

สาม-อาศัยเงินทุนจากตลาดทุนซึ่งกลายเป็นเวทีอันกว้างขวางของสังคมไทยในเวลานั้น

หากไม่กล่าวถึง ทักษิณ ชินวัตร ก็คงไม่ได้

ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะตำรวจผู้ผ่านการเรียนการสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ในสหรัฐ ในช่วงเวลาเทคโนโลยีระดับโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อเขาข้ามผ่านช่วงเวลารับราชการ มาสู่การสร้างธุรกิจตนเอง จึงนำประสบการณ์สองด้านมาด้วย ความสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงอำนาจ กับความรู้เทคโนโลยี

ว่าไปแล้ว เขาเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในภาพใหญ่ ในฐานะผู้ขายเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ ในฐานะตัวแทนธุรกิจระดับโลก มองเห็นโอกาส ผนวกเข้ากับระบบสัมปทานสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ ของรัฐไทย ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่มากๆ ในช่วงแรกๆ ได้รับความสนใจและประเมินไว้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ในฐานะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ไม่มีฐานการเงินมั่นคงเช่นกลุ่มธุรกิจเก่า

ในแผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจ จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ทางออกของเขามาในช่วงที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเติบโตของตลาดหุ้น

หลายคนเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร คือคนที่ได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารยุคใหม่

ในช่วงปี 2533-2534 มีสัมปทานในมือทั้งสิ้นถึง 8 โครงการ และในช่วงปี 2533-2537 บริษัทในเครือข่ายธุรกิจสี่อสารของเขาถึง 4 แห่ง ได้เข้าระดมทุนจากตลาดหุ้น

นับเป็นแผนการระดมทุนจากตลาดหุ้นอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง เป็นรองแค่กลุ่มเอกธนกิจเท่านั้น

แต่ในความเป็นไปในเวลาต่อมา กิจการสร้างรายได้ที่เป็นจริง (ไม่ใช่ราคาหุ้น) มีเพียงสื่อสารไร้สาย กับดาวเทียม ทว่า โมเดลของเขาสร้างแรงสั่นสะเทือน สร้างกระแสอย่างรุนแรง ให้ทั้งรายใหม่-รายเก่า เข้าสู่โมเดลความมั่งคั่งใหม่ อย่างรีบเร่ง

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เดินตามโมเดลความมั่งคั่งใหม่ แม้ว่าจะไล่หลัง ทักษิณ ชินวัตร มาติดๆ แต่ขณะนั้นมองว่าเป็นแผนการที่ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ

ซีพีเป็นเพียงเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลเพียงรายเดียวที่เข้าร่วมยุทธศาสตร์ “โชติช่วงชัชวาล” หันมาสู่กระแสยุคธุรกิจสื่อสารด้วย ถือได้ว่าเป็นสัมปทานสื่อสาร (เรียกว่า ให้เอกชนร่วมลงทุนหรือ BTO–Build-Transfer-Operate)) ที่ใหญ่ และครึกโครมในเวลานั้น

โครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ริเริ่มโดยเครือข่ายธุรกิจสื่อสารระดับโลก BT Group แห่งอังกฤษ (หรือเรียก บริติชเทเลคอม) ซึ่งเพิ่งเข้ามาบุกเบิกธุรกิจในย่านเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2528 และเมื่อตั้งสำนักงานในไทยในปี 2532 ได้เข้าเสนอขอลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในปลายปีเดียวกัน

เป็นเหตุและแรงกระตุ้นให้กระทรวงคมนาคม คิดเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนครั้งใหญ่เมื่อต้นปี 2533

เพียงไม่กี่เดือนจากนั้น โครงการสัมปทานสื่อสารใหญ่ที่สุด ได้บทสรุปอย่างรวดเร็ว—18 กันยายน 2533 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ) มีมติอนุมัติให้กลุ่มซีพีได้รับการคัดเลือกร่วมลงทุนขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย

ผู้คนในแวดวงธุรกิจไทยมองปรากฏการณ์นั้น สะท้อนภาพซีพี กลุ่มธุรกิจอิทธิพลอย่างแท้จริง จากธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจร ก้าวข้ามสู่ธุรกิจสื่อสาร เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง

แม้ว่าขัดจังหวะระยะหนึ่งด้วยการรัฐประหาร กับแนวความคิดในเกี่ยวข้องเรื่อง “การผูกขาด” ในสมัยรัฐบาลต่อมา (รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน) โดยโครงการดังกล่าวได้ถูกตัดเหลือ 2.6 ล้านเลขหมาย เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ไม่มีผลเชิงลบใดๆ ต่อซีพี ผมเองเคยวิเคราะห์ไว้ว่า กลับเป็นผลดีต่อซีพีด้วยซ้ำ ควรโฟกัสการลงทุนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจมากกว่า

การเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารในยุคนั้น สถานการณ์โดยรวมดูจะดีไปหมด แต่สำหรับซีพีแล้วถือว่าไม่ราบรื่น

โครงการใหญ่ ต้องลงทุนมาก ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสร้างรายได้ ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหม่ ซึ่งผู้ดำเนินการไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง ต้องจัดหาต้องการเทคโนโลยีระดับโลกอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ดำเนินไปตามโมเดลธุรกิจซึ่งให้ภาพสะท้อนซีพีโดยตรงด้วย คือความพยายามสร้างเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน เพื่อสร้างบริหารเสริม บริการข้างเคียงอื่นๆ อีกมาก ย่อมเป็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีก

และใช้เวลาต่อเนื่องไปอีก

ทั้งหลายทั้งปวง กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลามากทีเดียว พร้อมๆ การเปลี่ยนผ่านผู้บริหารคนสำคัญ เพื่อความเหมาะสมไปหลายคน แม้ว่ากิจการ (ขณะนั้นคือบริษัทเทเลคอมเอเซีย) จะเข้าตลาดหุ้นในปี 2536 แต่กว่าจะสร้างเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯ แล้วเสร็จ และส่งมอบรัฐบาล เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนเริ่มต้นเชิงพาณิชย์ ซึ่งให้ภาพสะท้อนต่อการระดมทุนในตลาดหุ้นด้วยนั้น ก็ล่วงเข้าปลายปี 2539

ช่วงเวลากว่า 5 ปีนั้น นับเป็นการสะสมบทเรียนและประสบการณ์ ผ่านขั้นตอนสำคัญๆ มาแล้ว แต่เป็นจังหวะที่ไม่ดีเลย ช่วงเวลานั้นสัญญาณเศรษฐกิจไทย กำลังเริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์

พัฒนาการธุรกิจใหม่ธุรกิจสื่อสารของซีพี ดูเผินๆ เดินตามกระแสยุคสื่อสารได้อย่างดี แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น

ธุรกิจสื่อสารโดยผู้มาใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทั้งกลุ่มชินวัตร (ของ ทักษิณ ชินวัตร) และยูคอม โดย บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นเจ้าของ ภูษณ ปรีย์มาโนช เป็นผู้บริหารมีส่วนได้ส่วนเสียคนสำคัญ (ก่อนจะมาเป็นดีแทค ในปัจจุบัน) ล้วนได้เผ่านขั้นตอนสำคัญๆ มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ปัจเจก พวกเขาสามารถสะสมความมั่งคั่งมากพอสมควร ผ่านธุรกิจสื่อสารที่สร้างรายได้ทางตรงแบบไหลลื่น และผ่านกระบวนการตลาดหุ้น

การปรับยุทธศาสตร์สำคัญเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากจะปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะภาระหนี้สินจำนวนมากแล้ว ถือเป็นการสิ้นสุด การดิ้นรนและปรับตัวในช่วงก่อตั้งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ได้เวลาการปรับเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง นั่นคือ ศุภชัย เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารกิจการสื่อสารของซีพีอย่างเต็มตัว ด้วยวัยเพียง 32 ปี

ว่าไปแล้วถือเป็นบทเรียนสำหรับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ในวัยเหมาะสม ไมว่ากรณี ธนินท์ เจียรวนนท์ บุกเบิกธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจรในวัยใกล้เคียงกัน

หรือกรณี ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นก่อตั้งกลุ่มชินวัตรในวัย 35 ปี บุญชัย เบญจรงคกุล และ ภูษณ ปรีย์มาโนช เข้าสู่ธุรกิจสื่อสารในช่วงวัยใกล้เคียงเช่นกัน เชื่อกันว่า ความกระฉับกระเฉงกับวัยที่เหมาะสม จำเป็นสำหรับธุรกิจสื่อสาร

ศุภชัย เจียรวนนท์ เองเพิ่งอยู่ในตำแหน่งบริหารไม่นาน ก็พบว่าธุรกิจสื่อสารพื้นฐาน ซึ่งก่อตั้งเพียงทศวรรษเดียว จากธุรกิจผูกขาดที่ดูยิ่งใหญ่ ได้ถดถอยอย่างรวดเร็ว ต่อหน้าต่อตา