ศัลยา ประชาชาติ : แนวรบทีวีดิจิตอลหลังคืนช่อง แห่บุกออนไลน์-เติมคอนเทนต์ แข่งเดือดชิงเค้ก 6 หมื่นล้าน

โล่งอก ตัวเบาขึ้นเป็นกอง สำหรับทีวีดิจิตอล 7 ช่อง ที่ประกอบด้วย วอยซ์ทีวี, ไบรท์ทีวี, ช่อง 28 SD, ช่อง 13 Family, สปริง 26, สปริง 19 และช่อง 14 Family ที่ตัดสินใจคืนช่องทีวีให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

หลังจากต้องทนแบกรับภาระที่หนักอึ้งมาตลอด 5 ปี ที่ได้ใบอนุญาตมาครอง

ว่ากันว่า วันสุดท้ายที่ กสทช.เปิดโอกาสให้ยื่นคืนช่องเป็นวันสุดท้าย (10 พฤษภาคม 2562) นั้น มีหลายช่องที่คิดจะคืน แต่ก็กลับลำเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย

เท่ากับว่า จากนี้ไปสมรภูมิจะเหลือผู้เล่นเพียง 15 ช่อง จากปฐมบททีวีดิจิตอลที่มีมากถึง 22 ช่อง

แม้จะมีผู้โยนผ้าขาวยอมแพ้ไป 7 ราย แต่ก็ใช่ว่ารายที่เหลืออยู่เส้นทางจากนี้ไปจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป

15 ช่องที่เหลืออยู่ยังต้องออกแรงรุมแย่งเค้กจากเม็ดเงินโฆษณาทีวี 6 หมื่นล้านบาท ที่ทรงๆ ตัวมา 4-5 ปีแล้ว

ที่สำคัญ ทั้ง 7 ช่องที่คืนใบอนุญาตไปส่วนใหญ่เป็นช่องที่มีงบฯ โฆษณาเข้าไม่มากนัก

จากนี้ไปการแข่งขันของสมรภูมิทีวีดิจิตอลจะยังคงร้อนระอุเช่นเดิม

 

ล่าสุด 15 ช่องที่เหลืออยู่เริ่มมีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ทั้งในแง่ของการปรับผังรายการ การเฟ้นหาคอนเทนต์ใหม่ๆ เป้าหมายเพื่อเรียกเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา

เริ่มจาก “ช่อง 7” ที่ได้เคลื่อนทัพเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์ ทั้งเกมโชว์ วาไรตี้ รายการข่าว ละคร รวมถึงการนำดาราแม่เหล็กไปโรดโชว์ จัดกิจกรรม จัดอีเวนต์ตามหัวเมืองต่างๆ อย่างหวังผล นอกจากเพื่อตรึงฐานผู้ชมกลุ่มแมสแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นการดึงกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ เข้ามา ควบคู่กันนี้ก็หันมาให้ความสำคัญกับการแพลตฟอร์มออนไลน์ “บักกาบู” และการใช้คลื่นวิทยุ 98.5 Good Time Radio มาโปรโมตละคร ข่าว เพื่อขยายฐานคนเมืองอีกแรง

ส่วนช่อง 3 ที่ได้แม่ทัพใหม่ “อิริยะ พนมยงค์” มากุมบังเหียน หลังจากปลดล็อกต้นทุนด้วยการตัดใจคืนรวดเดียว 2 ช่อง (28 SD และ 13 Family) ก็เดินหน้าเพิ่มน้ำหนักกับช่องทางออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่น “เมลโล่” เป็นหัวหอกหลัก เพื่อดึงรายได้คืนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังคืนช่อง 14 แฟมิลี่แล้วจะเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์ช่อง MCOT 30 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและดันให้ช่องกลับมาติดท็อป 10 อีกครั้ง

ด้านช่องพีพีทีวี ก็กำลังขยับตัวครั้งใหญ่ ล่าสุด “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ “พลากร สมสุวรรณ” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี เตรียมแถลงทิศทางการรุกตลาดรอบใหม่ หลังพีพีทีวีมีเรตติ้งดีขึ้น โดยขึ้นมาติดท็อป 10 ของทีวีแล้ว

ส่วนช่องที่มีเรตติ้งติดท็อป 10 อยู่แล้ว เช่น เวิร์คพอยท์ โมโน 29 ช่องวัน 31 อมรินทร์ทีวี ก็มีโพซิชั่นนิ่งและฐานผู้ชมชัดเจน ก็เดินหน้าเติมคอนเทนต์ใหม่ชนิดไม่มีใครยอมใคร

 

ความเคลื่อนไหวของช่องนิวส์ 18 ที่มีเรตติ้งแทบจะรั้งท้าย ทว่าตัดสินใจไม่คืนช่อง ประกาศเดินหน้าต่อไป “ภาณุชัย เหตระกูล” กรรมการบริหาร บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารช่องนิวส์ 18 ย้ำว่า ยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจทีวียังมีโอกาสเติบโต ประกอบกับขณะนี้และอนาคตทีวีก็ยังเป็นสื่อหลักที่ยังสามารถเจาะเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากอยู่ เพียงแต่โจทย์การขายโฆษณาอาจจะต้องเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์

ผู้บริหารช่องนิวส์ 18 ระบุว่า บริษัทได้ปรับช่องใหม่ สู่แนวคิด “พบประสบการณ์ใหม่” ที่นิวส์ 18 สอดคล้องกับคำว่า “NEW” ผู้ชมจะได้เห็นความ “ใหม่” ที่แตกต่างตลอดเวลา โดยจะเริ่มทยอยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

“ตอนนี้เหลือ 15 ช่อง ก็ยิ่งทำให้ช่องนิวส์ 18 โดดเด่นมากขึ้น เพราะมีโพซิชั่นนิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นช่องที่มีข่าวและสารคดีมากที่สุดตลอดวัน”

หันไปสำรวจช่องทีวีภายใต้การบริหารของกลุ่มเจ้าสัว ที่มีใบอนุญาตครอบครองในมือถึง 2 ช่อง นั่นคือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี ที่มีช่องข่าว TNN 24 และช่องทรูโฟร์ยู เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรไทยเบฟฯ มีช่องอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม 25

ส่วนนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งอาณาจักรโรงพยาบาลกรุงเทพ เจ้าของช่อง PPTV และช่อง One 31 ในช่วงแรกอาจจะออกอาการลังเลอยู่บ้างว่าจะคืนใบอนุญาต 1 ใบหรือไม่ แต่ท้ายที่สุด 3 เจ้าสัวก็ยังกำใบอนุญาตไว้แน่น

ปัจจัยแรกอาจจะมาจากการมีทุนหนา สายป่านยาว และมองข้ามช็อตไปถึงการต่อยอดธุรกิจจากช่องทีวีที่มีอยู่กับธุรกิจ หรือบริษัทในเครือที่มีอยู่อย่างมากมาย

 

อีกด้านหนึ่ง ในแง่เม็ดเงินโฆษณาของสื่อทีวี ที่มีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท หากย้อนกลับไปจะพบว่าตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาตัวเลขนี้มีทิศทางที่ทรงตัว ไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้น

เมื่อก้อนเค้กไม่โต แต่ตัวหารมากขึ้น แน่นอน ทุกค่ายจะต้องออกแรงมากเพื่อแย่งเม็ดเงินที่มีอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด มีเดียเอเยนซี่ ชี้ว่า ความจริงแล้วงบฯ โฆษณาทีวี 60,000 ล้านบาท สามารถเลี้ยงทีวีได้เพียง 10 ช่องเท่านั้น การคืนช่องที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้ช่อง 3-7 ที่เป็นเจ้าตลาด เหนื่อยน้อยลง แต่ทั้งคู่ก็ยังต้องปรับตัวต่อ

ส่วนช่องอื่นๆ ที่เหลือก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะการหาโมเดลการสร้างรายได้ใหม่ และลดการพึ่งพาจากขายโฆษณาเท่านั้น

จากนี้ไป 15 ช่องก็ยังเจองานหนักทั้งการแข่งขันจากทีวีด้วยกันและแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกทั้งต้องพัฒนาคอนเทนต์ เพื่อดึงคนดูและชิงงบฯ โฆษณาให้ได้มากที่สุด

“ธราภุช จารุวัฒนะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย มีเดียเอเยนซี่ แสดงทัศนะว่า เนื่องจากช่องที่หายไปส่วนใหญ่เป็นช่องเล็ก มีเรตติ้งไม่ติดท็อป 10 จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมตลาดมากนัก แต่ข้อดีคือ งบฯ โฆษณาก็จะถูกแบ่งเข้าไปที่ช่องอื่นๆ มากขึ้น

ผู้บริหารทีวีดิจิตอลรายใหญ่รายหนึ่ง ฉายภาพจากนี้ไปว่า หลายๆ ช่องคงจะหันมาให้น้ำหนักกับการหารายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อย่างกรณีของช่อง 3 ที่มีความชัดเจนมากในแง่ของการเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น “เมลโล่” ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายช่องที่พยายามต่อยอดจากธุรกิจทีวี ด้วยการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ เช่น ช่อง 8 อาร์เอส, อมรินทร์ทีวี เวิร์คพอยท์ เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

แม้จำนวนช่องจะลดลง แต่การแย่งชิงรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่มีจำกัดยิ่งยากขึ้นหลายเท่าตัว

การเปิดให้คืนใบอนุญาตที่เกิดขึ้นคงช่วยยืดลมหายใจให้ได้ไม่มากก็น้อย และเกมนี้ต้องมองกันยาวๆ