จรัญ มะลูลีม : เส้นทางการเมืองอิหร่านของโคมัยนี

จรัญ มะลูลีม

ย้อนพินิจอิมามโคมัยนี (ค.ศ.1901-1989)
ผู้นำเอาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

อิมามโคมัยนี ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าอิมาม ถือกำเนิดในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราช 1320 หรือ ค.ศ.1901 ในเมืองชนบทเล็กๆ ในจังหวัดภาคกลางของอิหร่านที่ชื่อโคมัยน์

เมืองโคมัยน์จึงกลายมาเป็นชื่อของอิมามว่าโคมัยนี

คนอิหร่านจำนวนมากจะเอาชื่อเมืองที่ตัวเองถือกำเนิดมาเป็นชื่อของตน

เช่น ชื่อรัฟซันญานีก็หมายถึงว่ามาจากเมืองรัฟซันญัน

ชีราซี ก็หมายถึงชีราซ อิสฟาฮานี ก็หมายถึงอิสฟาฮาน ฯลฯ

ส่วนชื่อของอิมามโคมัยนีที่อยู่ก่อนหน้าชื่อเมืองคือรูหุลลอฮ์ หมายถึงดวงจิตของอัลลอฮ์ แต่ชื่อเต็มและที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติหลายประการของตัวอิมามเองคือซัยยิด อะยาตุลลอฮ์ รูหุลลอฮ์ มูซาวี อัล-โคมัยนี จึงหมายถึงผู้ที่สืบทอดมาจากครอบครัวของท่านศาสดามุฮัมมัด

ผู้ที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่าซัยยิด ถ้าเป็นนักการศาสนาก็จะสังเกตได้ว่ามีผ้าโพกศีรษะสีดำ เช่น อิมามโคมัยนี และอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี ผู้นำทางจิตวิญญาณคนปัจจุบัน

ที่โพกศีรษะสีขาวก็เช่นรัฟซันญานี อดีตประธานาธิบดีของอิหร่าน เป็นต้น

อะยาตุลลอฮ์หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญญาณของอัลลอฮ์ รูหุลลอฮ์ อัล มูซาวี เป็นชื่อของอิมามโคมัยนี

และอัล-โคมัยนี ก็มาจากชื่อเมืองที่อิมามโคมัยนีได้ถือกำเนิดนั่นเอง

 

อิมามโคมัยนีผ่านการต่อสู้มาแล้วอย่างโชกโชนก่อนจะสถาปนารัฐอิสลามขึ้นมาใน ค.ศ.1979 ซึ่งเรียกกันว่าการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolution of Iran)

อิมามมองว่าก่อนหน้าการปฏิวัติอิหร่านตกอยู่ในความมืด ดังคำพูดของอิมามที่ว่า

เราเคราะห์ร้ายที่ต้องแลเห็นวันที่มืดมนเหล่านี้ ก็เพราะความเห็นแก่ตัวของเรา และเพราะเราพ่ายแพ้โลกทั้งโลกแล้ว และรัฐอิสลามต่างๆ ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของต่างชาติ

ผลประโยชน์ส่วนบุคคลได้ทำลายจิตวิญญาณของความเป็นเอกภาพและความเป็นพี่น้องกันในหมู่มุสลิมให้หมดไป

ความเห็นแก่ตัวทำให้มุสลิมหลายล้านคนกลายเป็นทาสของผู้อื่นซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ล้านคน

นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านยังต้องพึ่งพาสหรัฐมากขึ้นและมากขึ้นทุกที มีที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐเข้ามาในอิหร่าน ใน ค.ศ.1956 เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี ของอิหร่านตั้งหน่วยตำรวจลับซาวักขึ้นมา โดยความช่วยเหลือของสหรัฐ

กองกำลังนี้มีจุดหมายอยู่ที่การปราบปรามผู้ที่ต่อต้านชาฮ์และรัฐบาลของพระองค์

 

ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1964 อิมามโคมัยนีถูกเนรเทศไปตุรกี

จากตุรกีอิมามก็ถูกเนรเทศไปอยู่อิรัก

ในช่วงท้ายที่อิมามถูกเนรเทศไปอยู่ในอิรัก รัฐบาลของชาฮ์ได้ใช้ความกดดันต่ออิรักให้ส่งตัวอิมามกลับอิหร่านแต่ไม่สำเร็จ

ในเวลานั้นอิมามถูกเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งถามว่าอยากไปอยู่ที่ไหน

เจ้าหน้าที่ผู้นั้นคาดว่าอิมามคงจะเอ่ยชื่อคูเวต ซีเรีย ปากีสถาน หรือประเทศมุสลิมอื่นๆ

แต่อิมามตอบว่าต้องการจะไปอยู่ในประเทศที่ไม่ขึ้นกับชาฮ์

เมื่อเจ้าหน้าที่ถามว่าที่ไหน อิมามจึงตอบว่าฝรั่งเศส

แม้อิมามจะเป็นหนึ่งในนักการศาสนาที่ถูกรัฐบาลของชาฮ์เนรเทศไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็มิได้ถอดใจและยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อประชาชนต่อไป

การต่อสู้ของอิมามนำไปสู่ชัยชนะในเวลาต่อมา และเป็นผลให้การปกครองของราชวงศ์ปาห์ลาวีซึ่งอ้างว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 2,500 ปียุติลง

 

การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามใน ค.ศ.1979 เกิดมาจากการเคลื่อนไหวของผู้คนที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยของเรซา (ริฎอ) ชาฮ์ ปาห์ลาวี ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ที่มีการห้ามการแต่งกายอย่างมิดชิด (ฮิญาบ) ของชาวมุสลิมในโรงเรียนสอนศาสนา รวมไปถึงการขัดขวางค่านิยมอิสลาม

อิมามโคมัยนีมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้มีการโค่นรัฐบาลของชาฮ์ และมุ่งมั่นที่จะสถาปนารัฐอิสลามให้เข้ามาแทนที่รัฐบาลเดิม แนวคิดสำคัญของอิมามโคมัยนีคือการเรียกร้องชาวมุสลิมทั่วโลกให้รวมตัวกัน รวมทั้งเรียกร้องให้ต่อต้านสหรัฐและอิสราเอล

ในครั้งที่อิมามโคมัยนีถูกจับกุม อิมามได้ถูกพาตัวไปยังเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเตหะราน

การชุมนุมประท้วงการจับกุมอิมามมีขึ้นในเมืองสำคัญๆ ของอิหร่าน รวมทั้งกรุงเตหะราน มัชฮัด ชีราซ อิสฟาฮานและตาบริซ ทั้งนี้ ประชาชนได้แสดงการสนับสนุนต่อผู้นำทางศาสนาของพวกเขา หลังจากมีการจลาจลทั่วประเทศ รัฐบาลจึงประกาศสิทธิแห่งการจับกุมและสั่งให้ปราบปรามขบวนการนั้น

แต่ขบวนการก็ยังคงดำรงอยู่เหมือนกับเชื้อไฟที่อยู่ภายใต้เถ้าถ่าน

 

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากการทำงานทางการเมืองของอิมามโคมัยนีและบรรดานักการศาสนาทั้งหลายนั้น มีบทบาททำให้ประชาชนผู้กำลังจะอ่อนข้อให้กับการยอมปฏิบัติตนตามแนวทางตะวันตก ได้มีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น

ระหว่าง ค.ศ.1963-1979 พบว่านโยบายของรัฐบาลได้นำพาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ถูกตะวันตกบงการ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเช่น ระบบการเมืองและกลไกทางการทหาร รวมทั้งวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศด้วย

ในสภาพการณ์ที่ทำให้ขบวนการทางศาสนาต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรง รัฐบาลของราชวงศ์ปาห์ลาวีในสมัยนั้นพยายามอย่างมากที่สุดที่จะสร้างระเบียบสังคมแบบตะวันตกขึ้นภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ระบบการศึกษาก็ต้องพึ่งพาต่างประเทศและมีการทุจริตคดโกงของรัฐบาลอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลส่วนมากถูกทรมานอยู่ในคุก ขณะที่ต้องถูกคุมขังเป็นเวลายาวนาน

การต่อต้านเหล่านี้ทวีกำลังขึ้นในระหว่าง ค.ศ.1977-1979 อันเป็นช่วงเวลาที่การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามบรรลุถึงขั้นสุดท้าย

ความวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมุสฏอฟา บุตรชายคนโตของอิมามเสียชีวิตลงอย่างลึกลับ

 

การไว้อาลัยให้กับการเสียชีวิตของเขาถูกจัดขึ้นทั่วประเทศ และกลับกลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองในเวลาต่อมา ระหว่างนั้นความรุนแรงและความฉ้อฉลของรัฐบาลก็ถูกเปิดเผยขึ้น การเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่ๆ สามครั้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนแห่งเมืองกุม ตาบริซและเตหะราน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลยอมจำนน

ในขณะที่ได้มีการต่อต้านขึ้นในกองทัพ ชาฮ์จึงได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา และลาออกจากประเทศไปในกลางเดือนมกราคม ค.ศ.1979 โดยได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนหนึ่งคือบัคเตียร์ขึ้นมาจากแนวหน้าแห่งชาติ และสัญญาว่าจะทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ แต่ก็สายเกินไปสำหรับการปฏิรูปใดๆ เสียแล้ว

หลังจากอิมามโคมัยนีกลับจากฝรั่งเศสมาถึงกรุงเตหะรานอย่างภาคภูมิ

นายกรัฐมนตรีบัคเตียร์ต่อต้านอยู่ได้เพียงสิบวันเท่านั้น ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ รัฐบาลของเขาได้ขยายการจับกุมและประกาศภาวะฉุกเฉินสั่งห้ามประชาชนออกมานอกถนนตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่อิมามได้เรียกร้องประชาชนให้ท้าทายคำสั่งอันผิดกฎหมายของรัฐบาล และให้ออกมาสู่ท้องถนน หลังจากการต่อสู้กันตามท้องถนนต่างๆ ในกรุงเตหะรานตลอดวัน

ฝ่ายรัฐบาลก็ยอมจำนนต่อฝ่ายปฏิวัติ