ให้เป็นรัฐบาลไปเลย | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

เมื่อ กกต.ประกาศผลรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการออกมาแล้ว โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ลงเอยใช้สูตร แจกเก้าอี้ให้พรรคเล็ก 11 พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.พึงมี ได้เข้าสภาพรรคละ 1 เสียง เท่ากับจะเป็นสภาที่มีพรรคการเมืองมากถึง 27 พรรค

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ในขั้วนี้ก็โดนสูตรปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร ทำให้เสียงหดลงไปจำนวนหนึ่ง เมื่อรวม 7 พรรคขั้วนี้แล้ว เสียงจะไม่เกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ หรือไม่ถึง 250 เสียง

“ทั้งหลายทั้งปวง เป็นไปตามที่มีการคาดเอาไว้แล้วว่า จะต้องทำกันทุกอย่าง เพื่อทำให้ขั้วการเมืองหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้”

แต่ขณะเดียวกัน สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ของ กกต. ที่พรรคซึ่งได้ไม่ถึง 7 หมื่นเสียงแต่ได้ ส.ส. จะกลายเป็นประเด็นการฟ้องร้องกันอุตลุดตามมาอีก โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ยืนยันชัดเจนว่า นี่เป็นการคิดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

จำนวนที่นั่งในสภาจึงยังน่าจะเป็นปัญหาไม่จบง่ายๆ

“อีกทั้งการจับขั้วตั้งรัฐบาลก็ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะยังมีตัวแปรสำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี 52 ส.ส.!?!”

ถ้า 52 เสียงนี้ไปหนุนพรรคพลังประชารัฐ ก็ทำให้ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เกินครึ่งสภาผู้แทนฯ เหนือกว่าฝ่ายเพื่อไทย

แต่ถ้า 52 เสียงประชาธิปัตย์ตัดสินใจเป็นฝ่ายค้านอิสระ โดยอาจจะมีงูเห่าแตกออกไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์จำนวนหนึ่ง แต่ก็คงไม่มากพอที่จะทำให้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ

การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่ง่ายดาย

“บทสรุปจากประชาธิปัตย์จึงต้องจับตามองอย่างเป็นพิเศษ”

โดยต้องรอดูการตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ การตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้มีมติชี้ขาดจุดยืนว่าจะร่วมฝ่ายไหน อย่างไร

“ระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับนายกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งถือเป็นตัวเต็งในการชิงหัวหน้าพรรค”

2 ชื่อนี้ มีจุดยืนทางการเมืองคนละขั้วแน่ๆ

เพียงแต่นายจุรินทร์น่าจะมีโอกาสที่สดใส เพราะประการหนึ่งมีความเป็นแกนนำภาคใต้ อันเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปัตย์

อีกประการที่สำคัญ มีเงาของนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน 2 ผู้อาวุโสที่ยังทรงอิทธิพลเป็นแบ๊กอยู่เบื้องหลัง

และที่แน่ๆ เสียงจากนายชวนที่กล่าวบ่อยๆ ในระยะนี้ โดยเน้นย้ำถึงการเป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำเพื่อบ้านเมืองได้!

ตามตัวเลขล่าสุดที่ กกต.รับรองผลแล้วนั้น พรรคเพื่อไทยยังมี ส.ส.ในสภาเป็นอันดับ 1 คือ 136 ที่นั่ง ส่วนพลังประชารัฐเป็นอันดับ 2 คือ 97 ส.ส.เขต บวก 18 ปาร์ตี้ลิสต์ เท่ากับ 115 ที่นั่ง ซึ่งถ้ายึดตามกฎกติกามารยาทที่ปฏิบัติกันมาตลอด ก็ต้องให้เพื่อไทยได้สิทธิ์จัดรัฐบาลก่อน

แต่พลังประชารัฐแสดงท่าทีชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้ว อ้างอิงคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตที่มาเป็นอันดับ 1 และอ้างสิทธิ์ พรรคไหนรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ก่อน พรรคนั้นก็ได้สิทธิ์ไป

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา พิจารณาจากบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว. 250 เสียงร่วมโหวตนายกฯ พิจารณาจากลีลาของ “กรรมการ” ในสนาม รวมไปถึงพิจารณาจากกระบวนการสร้างงูเห่าแล้ว

“ด้วยกลเม็ดเด็ดพรายเหล่านี้ จึงน่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พลังประชารัฐจะชิงตั้งรัฐบาลได้!”

เพราะเป้าหมายที่ล็อกกันเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งก็คือ

“ต้องได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป”

ดูง่ายๆ แค่การจัดคนมาเป็น ส.ว.ที่กำลังเป็นข่าวเกรียวกราว โดยมีรัฐมนตรีถึงครึ่งรัฐบาลที่แห่กันลาออก เพื่อเปลี่ยนฐานะมาเป็นวุฒิฯ มี สนช.ถึง 60 รายที่ลาออก เพื่อมาเป็น ส.ว.

ก็คือ ยกเครือข่ายอำนาจจากยุค คสช. เข้ามาสวมบท ส.ว.ในสภาชุดหน้า

แล้ว ส.ว. ก็คือผู้ที่จะมาโหวตนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.

“ดังที่มีการสรุปให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คสช.เป็นผู้ตั้ง ส.ว. เพื่อให้มาโหวตให้ผู้นำ คสช.เป็นนายกฯ”

รวบรัดเบ็ดเสร็จเช่นนี้ แล้วกระบวนการที่จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาล เพื่อให้ผู้นำ คสช.เป็นนายกฯ ต่อไปก็คงจะต้องรวบรัดให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ได้

ดูจากหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว การเมืองก็คงเดินไปตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ก็คงต่อสู้บนแนวทางปกติแบบยิบตา สู้ได้หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป

“แต่จะเป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมได้ศึกษาเรียนรู้การเมืองไทยให้กระจ่างแจ้ง เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย และเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า”

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนตื่นตัวอย่างมาก

ประชาชนก็ยังจับตามองการเมืองในช่วงตั้งรัฐบาลนี้อย่างจริงจังด้วย

ความชอบธรรมในสายตาประชาชนจะเป็นแรงกดดันอีกประการ

เสียงจากกองเชียร์พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีความเห็นกันไม่น้อยเลยว่า ถ้าพรรคฝ่าย คสช.จะทำทุกทางเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ ก็น่าจะปล่อยให้เป็นรัฐบาลไปเลย เพราะอาจจะมีผลดีตามมาอีกด้านหนึ่งอย่างน่าสนใจ

“นั่นก็คือ จะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้สภาผู้แทนฯ ไม่ใช่ภายใต้สภาแบบ สนช. เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา”

คราวนี้จะได้รู้ซึ้งถึงลีลาของนักการเมืองที่เป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง

จะเป็นบททดสอบความอดทนของอดีตผู้นำทหาร อดีตนายกฯ ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร เมื่อมาเป็นนายกฯ ในยุคมีสภาผู้แทนฯ จะต้องผ่านบทพิสูจน์เรื่องสติความอดทนอดกลั้นครั้งสำคัญ

“ถ้าไม่ผ่าน ก็จะเป็นการเปิดเผยตัวตนต่อหน้าประชาชนคนดูครั้งใหญ่!”

ขณะเดียวกันสภาพที่เสียงของ ส.ส.ทั้ง 2 ฟากไม่เหนือกว่ากันมาก ที่เรียกกันว่าปริ่มๆ น้ำเช่นนี้

อายุของรัฐบาลก็ไม่น่าจะยืดยาวมากนัก

การตั้งนายกฯ โดยอาศัยเสียง ส.ว.มาร่วมโหวต ทำได้ไม่ยาก

แต่เมื่อต้องทำงานเฉพาะในสภาผู้แทนฯ ไม่มี 250 ส.ว.มาช่วยนั้น จะเป็นอีกปัญหาใหญ่ของรัฐบาลแน่นอน

“อีกทั้งหากมีการก่อเกิด “งูเห่า” มาร่วมโหวตนายกฯ ร่วมตั้งรัฐบาล ก็จะเป็นภาระของเจ้าของฟาร์มงูเห่าในการเลี้ยงดูกันยืดยาวอย่างมหาศาล”

รวมๆ แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองใหญ่ส่งสัญญาณภายในพรรคกันแล้วในขณะนี้ว่า ให้เตรียมตัวเลือกตั้งใหม่ด้วย

“ประมาณกันว่าไม่เกิน 1 ปี ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกหน!”

โดยพร้อมๆ กัน บทพิสูจน์นายกฯ ในรัฐบาลหน้า ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลผสม 20 พรรคจะออกมาอย่างไร จะมีเรื่องไม่ดีไม่งามมากมายหรือไม่

จะเป็นที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน แล้วมีผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน

จึงทำให้มีเสียงเชียร์จากฝ่ายประชาธิปไตยว่า น่าจะให้ขั้ว คสช.จัดตั้งรัฐบาลไปเลยดีกว่า!!