วิเคราะห์ : ถึงคราวนายแบงก์ออกมาเตือนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ และนายฟรังซัวร์ วิเลรอย เด เกาฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส ร่วมกันเขียนบทความเรื่อง “ภาคการเงินคือหัวใจสำคัญในการฝ่าฟันกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ”

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ใน “เดอะ การ์เดียน” สื่อชั้นนำของอังกฤษ เป็นเสียงเตือนของนักการธนาคารชั้นนำแห่งยุโรปหวังให้ทั่วโลกเร่งปฏิรูประบบการเงินใหม่รับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอันเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและหลีกเลี่ยงมหันตภัยในอนาคต

” …ชาวโลกได้เห็นภาพความหายนภัยอันเป็นผลจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกันแล้ว ไล่เรียงจากทวีปอเมริกาเหนือเจอคลื่นความร้อน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับพายุไต้ฝุ่น ภัยแล้งแผ่ปกคลุมไปทั่วทวีปแอฟริกาและทวีปออสเตรเลีย”

ไม่มีประเทศหรือชุมชนใดรอดพ้นจากหายนภัยเหล่านี้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างสาธารณูปโภค ทรัพย์สินส่วนบุคคล มีผลร้ายกับสุขภาพ ผลผลิตลดลง ทำลายความมั่งคั่ง

บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ตลอดช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนบีบบังคับนานาประเทศ หันมาใช้กฎหมายคุมเข้ม และยังเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดข้อตกลงปารีสซึ่งรัฐบาลทั่วโลกต้องร่วมกันวางนโยบายไม่ให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงถึง 2 องศาเซลเซียส และถ้าทำได้ต่ำกว่า 1.5 ํc ยิ่งเป็นเรื่องดี

บางประเทศเริ่มหันมาวางแนวทางเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้กระจายสู่ชั้นบรรยากาศโลกต่ำกว่า 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซพิษในปี 2553 และภายในปี 2593 จะต้องปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจำเป็นต้องระดมเงินทุนมหาศาล

ถ้าบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ประเทศนั้นๆ จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหายนะ

ยังหมายรวมว่า รัฐบาลวางนโยบายและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อลดก๊าซพิษ

ขณะที่ภาคเอกชนต้องมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการปรับตัวเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

แต่ในเวลานี้ ปรากฏว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินเพิกเฉยกับความเสี่ยงที่เห็นอยู่ข้างหน้า

 

ธนาคารกลางและกลุ่มทุนการเงิน 34 แห่งจาก 5 ทวีปซึ่งเป็นที่ปรึกษาวางระบบการเงินของโลก และตัวแทนจากประเทศที่ปล่อยก๊าซพิษเกินครึ่งของปริมาณทั้งโลกจึงต้องร่วมผนึกกำลังตั้งแต่ปี 2560 สร้างเครือข่ายพันธมิตรการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในรายงานฉบับแรกของเครือข่ายพันธมิตรฯ วางเป้าหมายให้ธนาคารกลางและกลุ่มทุนทางการเงินของประเทศต่างๆ ทั้ง 34 แห่งร่วมกันช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นไปอย่างราบรื่นใน 4 ขั้นตอนด้วยกัน

1. ผนึกกำลังตรวจสอบความเสี่ยงทางการเงินที่มีผลจากภาวะโลกร้อน ในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ระดับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและฝ่ายตรวจสอบเสถียรภาพทางการเงิน นอกจากนี้แล้วยังร่วมวิเคราะห์ วางกลยุทธ์และกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

บริษัทที่เป็นลูกค้าจะได้รับการสนับสนุนแนวทางต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

2. ธนาคารกลางจะกำหนดแนวทางสนับสนุนให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างยั่งยืน

3. ร่วมกันเชื่อมและแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้การประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4. เสริมสร้างสมรรถภาพและการแบ่งปันความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงด้านโลกร้อนกับฝ่ายต่างๆ

กระบวนการทั้ง 4 ข้อนี้จะช่วยผลักดันให้ตลาดและผู้วางกฎระเบียบทางการเงิน ปรับตัวในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน

 

“เราตระหนักดีว่า ความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเร่งด่วนและการคาดเดาวิเคราะห์ผลให้เกิดความแม่นยำเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันระดมสรรพกำลัง จะช่วยป้องกันหรือลดความสูญเสียทรัพย์สิน ตราบใดที่อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลยังเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางและบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายต้องช่วยสกัดกั้น เพราะปรากฏการณ์โลกร้อนเป็นปัญหาของโลก คนทั้งโลกต้องร่วมกันหาทางออก…”

เสียงเตือนของผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

แต่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่การวางเป้าหมายขับเคลื่อนให้ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะมีเสียงขานรับจากหน่วยงานซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและวางแผนปฏิบัติการได้แค่ไหน

แน่นอนว่าถ้านายธนาคาร นักการเงิน หน่วยงานของรัฐบาลทั่วโลกผนึกพลังในการวางมาตรฐานการปล่อยเงินกู้ใหม่อย่างที่กลุ่มพันธมิตรการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมกำหนด จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างแน่นอน

ทุกวันนี้นายแบงก์หรือสถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการปล่อยเงินให้โรงงานอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง คำนึงแค่ลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่

โรงงานปล่อยควันดำโขมง แต่มีผลประกอบการสวยหรู นายแบงก์ปล่อยกู้สบายใจ

ส่วนโรงงานที่เจ้าของรักใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้เครื่องยนต์ไร้ควันพิษ มีเครื่องบำบัดน้ำเสีย ไม่ทำลายสภาพธรรมชาติรอบๆ แต่สินค้าขายไม่ออก นายแบงก์ลังเลในการให้กู้หนี้

 

ก่อนหน้านี้ “มาร์ก คาร์นีย์” เคยออกมาเตือนว่า เมื่อทั่วโลกปรับเปลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยควันพิษและการปรับเปลี่ยนฐานภาษีรถใหม่ จะทำให้ปริมาณการขายรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลลดลงอย่างมาก

ผลการเตือนเป็นที่ประจักษ์ชัดหลังจากหลายประเทศออกกฎหมายห้ามรถดีเซล อุตสาหกรรมรถยนต์ปั่นป่วน อย่างเช่นโรงงานรถยนต์จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ของอังกฤษ ยอดขายตก ต้องปลดพนักงานออกหลายพันคน

ล่าสุดสภาเทศบาลนครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศแผนลดปริมาณมลพิษในอากาศด้วยการขีดเส้นห้ามรถเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลวิ่งแล่นในเมืองในปี 2573

ปีหน้ารถดีเซลอายุ 15 ปีขึ้นไปห้ามวิ่งในถนนวงแหวนรอบอัมสเตอร์ดัม ส่วนรถบัสโดยสารที่ปล่อยควันพิษ ห้ามเข้าในใจกลางเมืองตั้งแต่ปี 2565

สมาชิกสภาให้เหตุผลว่า ชาวอัมสเตอร์ดัมอายุสั้นเพราะสดก๊าซพิษจากควันรถยนต์

และมีแผนสนับสนุนให้ชาวเมืองเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า

กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ออกมาโต้แย้งว่า คนในเมืองไม่ได้ร่ำรวยมีเงินมากพอไปซื้อรถพลังงานไฟฟ้า

เมื่อปีที่แล้ว กรุงมาดริด ประเทศสเปน ควบคุมการใช้รถเบนซินในเมือง และรถดีเซลโดนสั่งห้ามวิ่งตั้งแต่ปี 2549

ส่วนกรุงโรม ประเทศอิตาลี ออกกฎหมายห้ามรถดีเซลวิ่งในใจกลางเมือง มีผลตั้งแต่ปี 2567

รัฐบาลเดนมาร์ก จะห้ามขายรถเบนซินและดีเซลในปี 2573 อีก 5 ปีถัดไปเลิกรถประเภทไฮบริด

จากนี้ไปอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกเจอภาวะเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ถ้าปรับตัวไม่ทัน จะถึงขั้นล้มระเนระนาดไม่ต่างกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และทีวี

คำเตือนของนายแบงก์ทั้งสองคนน่าจะช่วยปลุกให้นักการเงิน นักการธนาคารทั่วโลกตื่นจากภวังค์