วิรัตน์ แสงทองคำ : พิชญ์ โพธารามิก (5)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราว พิชญ์ โพธารามิก ผู้นำธุรกิจรุ่นที่ 2 ในยุคเปลี่ยนผ่าน เป็นแบบฉบับการใช้เวลาหาประสบการณ์ เตรียมตัวเข้ารับช่วงกิจการ อย่างแตกต่างและน่าสนใจ

ปี 2551 พิชญ์ โพธารามิก ในวัย 36 ปี ถึงเวลาเสียที เขาได้เข้าบริหาร (ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ) กลุ่มจัสมินฯ กิจการที่บิดาสร้างไว้ ทิ้งภาระไว้

เขาเป็นผู้ถือหุ้นจัสมินฯ รายใหญ่ที่สุด (ถือหุ้นในสัดส่วน 25.85%–ข้อมูลสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดเมื่อ 7 กรกฎาคม 2559) มานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงบิดา (อดิศัย โพธารามิก) เข้าสู่การเมืองโดยมีตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง (2543-2548) ว่ากันว่าเป็นแผนการถอยฉากธุรกิจอย่างน่าติดตาม ช่วงเวลานั้นกลุ่มจัสมินฯ กำลังใช้เวลาปรับโครงสร้างหนี้ (30 กันยายน 2546 – 26 กรกฎาคม 2450) และเป็นเวลาเดียวกันกับติดตาม สนับสนุน และเฝ้ามอง (เชื่อว่ารวมให้คำปรึกษาด้วย) บุตรชายก่อร่างสร้างธุรกิจตนเอง

ในทันที พิชญ์ โพธารามิก เข้าเป็นผู้บริหารจัสมินฯ ได้ดำเนินแผนการใหม่ๆ อย่างกระฉับกระเฉง อย่างน่าสนใจ ประหนึ่งได้เตรียมตัวมาอย่างดี

ถือเป็นการนำพาจัสมินฯ ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

“การเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มบริษัทจัสมินฯ หลังจากการเปลี่ยนผู้นำองค์กรในเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา บริษัทได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายเรื่อง เช่น ในด้านทิศทาง กลยุทธ์ธุรกิจ ได้จัดหมวดหมู่กลุ่มธุรกิจใหม่เป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต และธุรกิจอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และการ synergy ระหว่างบริษัทต่างๆ ในจัสมิน กรุ๊ป ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในการกำหนดทิศทางธุรกิจดังกล่าว บริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเป็นผู้นำในการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ บนพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต” รายงานประจำปี 2551 กล่าวไว้ หลังจากผ่านไปกว่าทศวรรษ โครงสร้างและแผนการธุรกิจของกลุ่มจัสมินฯ ยังดำเนินไปตามแนวทางข้างต้นอย่างมั่นคง

“บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Business) 2.ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม (Telecom Network & Service Provider Business) 3.ธุรกิจงานจัดหา ออกแบบและวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (System Integration Business) 4.ธุรกิจอื่นๆ (Other Businesses)” เปรียบเทียบกับข้อมูลมสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันแล้ว ถือว่าไม่แตกต่างกันเลย

ทว่า แตกต่างจากยุค อดิศัย โพธารามิก พอสมควร

ยุค อดิศัย โพธารามิก เป็นช่วงโลดโผนช่วงสั้นๆ ( 2534-2540) ในฐานะ “ผู้มาใหม่” และ Deal maker ที่โดดเด่น

“สามารถคว้าสัมปทานสำคัญๆ 2 อย่าง ในช่วงปี 2534 ในระยะไล่เลี่ยกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร และ บุญชัย เบญจรงคกุล นั่นคือระบบสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียมเพื่อบริการธุรกิจ (INTEGRATED SATTELITE BUSINESS NETWORK หรือ ISBN) และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ เป็นแผนการดำเนินธุรกิจเชิงรุก แสวงหาโอกาสครั้งใหญ่ เข้าสู่สถานการณ์ใหม่ อย่างกระชั้นชิด ก่อนจะมาร่วมคว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด…การเข้าร่วมโครงการโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด เป็นจังหวะสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นความ “ยิ่งใหญ่” ของกลุ่มจัสมินฯ กลุ่มธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอย่างครึกโครม และรวดเร็ว เรียกกันว่าเป็นจังหวะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในธุรกิจสื่อสาร”

ผมเคยเสนอไว้ตอนก่อนๆ สะท้อนแบบแผนกิจการที่แตกต่างกันอย่างมาก

หากไม่นับความเคลื่อนไหวว่าด้วยดีล และไม่นับรวมกรณี “โครงการโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด” ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่ยังไม่เริ่มให้บริการ โมเดลธุรกิจจัสมินฯ ในขณะนั้น มุ่งไปสู่ลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจ บริการเป็นจริงที่สำคัญในเวลานั้น ได้แก่ ระบบสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียมเพื่อบริการธุรกิจ (ISBN)

ว่าไปแล้ว ธุรกิจหลักกลุ่มจัสมินฯ ในช่วงเวลานั้นสอดคล้องความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย เป็นช่วงเวลาธุรกิจไทยขยายเครือข่ายระดับประเทศ (ผมเคยเรียกว่า Nationalization) อย่างขนานใหญ่ เท่าที่จำได้ บริษัท อคิวเมนท์ในกลุ่มจัสมินฯ ผู้ให้บริการ ISBN เคยอ้างว่า มีลูกค้ารายใหญ่ๆ หลายราย อย่างเช่นเครือซิเมนต์ไทย (หรือเอสซีจี ในปัจจุบัน) บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ธนาคารกรุงไทย และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นต้น

แต่จัสมินฯ ในยุค พิชญ์ โพธารามิก นั้น มุ่งเป้าหมายหลักสู่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะการบุกเบิกให้ความสำคัญบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Business) โดยภาพรวมเป็นความเชื่อมโยง ว่าด้วยแนวทางธุรกิจใหม่ ผสมผสานระหว่างบริการโทรศัพท์มือถือกับอินเตอร์เน็ต เป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

และผมเองยังเชื่อด้วยว่า มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ของ พิชญ์ โพธารามิก ในการสร้างอาณาจักรธุรกิจกลุ่มโมโนฯ ด้วย

“ประกอบธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อและการให้บริการข้อมูล ประกอบด้วยธุรกิจโมบายอินเตอร์เน็ต ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจสื่อทีวี ธุรกิจสื่อวิทยุ และกลุ่มธุรกิจการให้บริการด้านบันเทิง ประกอบด้วยธุรกิจเพลง และธุรกิจภาพยนตร์” ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยลักษณะธุรกิจบริษัท บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) สรุปไว้อย่างเห็นภาพ และเมื่อพิจารณารายงานประจำปีล่าสุด (2558) พบว่า ธุรกิจโมบายอินเตอร์เน็ต (Mobile internet business) เป็นธุรกิจหลักของโมโนฯ อย่างแท้จริง เนื่องจากให้ข้อมูลว่า มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 70% ทีเดียว

“ธุรกิจโมบายอินเตอร์เน็ต–ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยให้บริการข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสื่ออินเตอร์เน็ต ประกอบด้วยบริการที่หลากหลายทั้งบริการ Short Message Service (SMS) บริการ Interactive Voice Response (IVR) และบริการเสียงเพลงรอสาย บริการ Mobile Site สำหรับรองรับการเข้าชมเว็บไซต์ผ่านมือถือ และบริการแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ตโฟน” โมโนฯ เองได้ขยายความธุรกิจดังกล่าวไว้ (www.mono.co.th) ภาพใหญ่ดังกล่าวย่อมสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจัสมินฯ กับกลุ่มโมโนฯ อย่างมีนัยสำคัญ มากกว่าเป็นกิจการมีผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารคนเดียวกัน

แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบขนาดธุรกิจแล้ว กลุ่มโมโนฯ เล็กกว่ากลุ่มจัสมินฯ อย่างมาก (โปรดพิจารณา “ข้อมูลทางการเงินสำคัญ” ประกอบ) แต่ในแง่ประสบการณ์ธุรกิจสำหรับ พิชญ์ โพธารามิก แล้ว เชื่อว่ามีความสำคัญ มีอิทธิพล สามารถส่งต่อและเชี่อมกันได้อย่างดี

เมื่อ พิชญ์ โพธารามิก เข้าบริหารกลุ่มจัสมินฯ เป็นช่วงเดียวกันกับกลุ่มโมโนฯ ได้เฉลิมฉลองครบรอบทศวรรษ หลังจากนั้นมีความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จากตลาดรอง (MAI) ในปี 2556 แล้วขยับขึ้นสู่ตลาดหลัก (SET) อย่างรวดเร็ว ในปี 2558 พร้อมกับความเคลื่อนไหว ในจังหวะก้าวสำคัญ เข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอล

เมื่อ กสทช. เปิดให้ประมูลทีวีดิจิตอล (24 มกราคม 2557) กลุ่มโมโนฯ ได้เข้าร่วมด้วย โมโนทีวีช่อง 29 เกิดขึ้นอย่างไม่ยากนัก ถือว่าเป็นไปตามแผนการใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มโมโนฯ เลยทีเดียวก็ว่าได้ และเชื่อกันด้วยว่าเป็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจ” ที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

“บริษัทและบริษัทย่อยมีขาดทุนสุทธิรวมในปี 2558 จำนวน 486.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2557 มีจำนวน 12.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 474.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3,817.63 เนื่องจากในปี 2558 บริษัทย่อยได้ลงทุนในคอนเทนต์ระดับพรีเมียม และมีการประชาสัมพันธ์ช่อง “MONO 29″ ให้ผู้ชมรู้จักมากขึ้น” เหตุผลที่อ้างในรายงานประจำปีล่าสุด อันเนื่องมาจากการขาดทุนครั้งสำคัญ (โปรดพิจาณา “ข้อมูลทางการเงินสำคัญ” อีกครั้ง) แม้ถือเป็นเรื่องปกติในการเริ่มต้นแผนการใหญ่ แต่ก็ควรบันทึกไว้

ที่จริงแล้วเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “เดิมพัน” ใหม่ เมื่อพิจารณาภาพใหญ่ ทั้งจัสมินฯ และโมโนฯ เชื่อว่าเป็นโมเดลอ้างอิง มาจากทั้งกลุ่มทรูฯ และเอไอเอส ล้วนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลกันทั้งสิ้น

พิชญ์ โพธารามิก กำลังคิดการณ์ใหญ่กว่านั้นอีก เป็นแผนการซับซ้อนและย้อนแย้ง นั่นคือการช่วงชิงและทิ้งใบอนุญาต 4G

โปรดติดตามตอนจบ