ยุคแห่งการสูญเสีย “ศรัทธา”

การเลือกตั้งที่รอคอยกันมา 8 ปี ประชาชนต้องจำยอมให้ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.ที่มาจากการทำรัฐประหาร 5 ปีเต็มในชะตากรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ชวนให้คิดว่าอำนาจรัฐคืนสู่ความเป็นรัฐราชการกับทุนใหญ่ผูกขาด โดยนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจประชาชนถูกจัดการให้เป็น “พวกน่ารังเกียจ” และ “จำกัดบทบาท” ลง

แต่ทั้งที่กติกาการเลือกตั้ง และการขึ้นสู่อำนาจเอื้ออำนวยระดับ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” การจัดการกลับยิ่งดูเหมือนสิ่งก่อความยุ่งยากขึ้น

เรื่องที่น่าหนักใจคือความเสื่อมศรัทธาเกิดขึ้นกับกลไกที่จะนำพาการบริหารจัดการประเทศอย่างรุ่นแรงและกระจายไปทั่ว

การเลือกตั้งที่ควรจะเป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟู เพราะเป็นเรื่องทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันได้ง่ายที่สุดถึงสิทธิที่เท่าเทียม และเริ่มต้นที่อำนาจของประชาชน

ทว่า ถึงวันนี้เรื่องราวที่ทุบความเชื่อมั่น ความชอบธรรมของการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

คำถามที่มีไปถึงการทำหน้าที่ของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีอยู่ตลอดเวลา ในทางที่กังขาต่อการใช้อำนาจ โดยมีความสงสัยเรื่องวาระซ่อนเร้นเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ล่วงหน้า กลายเป็นกระแสที่ประชาชนรับรู้กันทั่วไป

ความถูกต้องถูกทำให้เป็นเรื่องที่ตัดสินกันด้วยพวกใครพวกมัน ความชอบธรรมที่ยอมรับได้ด้วยสามัญสำนึกปกติกลายเป็นเรื่องถูกละเลยที่จะพูดถึง เหมือนไม่มีความหมายอะไร

เป็นการเลือกตั้งที่น่าเสียดายที่สุด

เมื่อ “สวนดุสิตโพล” ถามถึง “สถานการณ์การเมืองที่ประชาชนคิดว่าดี” ร้อยละ 38.44 บอกว่า มีการเลือกตั้ง ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิของตัวเอง, ร้อยละ 24.73 ชอบที่จะได้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง, ร้อยละ 19.36 รู้สึกดีว่า คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัว สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น, ร้อยละ 11.29 ชอบที่ได้นักการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำงาน, มีร้อยละ 7.80 ชอบที่บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียร้อย

จะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่โหยหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีความหวังกับนักการเมืองหน้าใหม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี

ร้อยละ 36.47 ชี้ว่าเป็นปัญหาการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ, ร้อยละ 24.27 ไม่ชอบสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน, ร้อยละ 21.37 มองไปที่การโจมตีทางการเมือง ความขัดแย้งของนักการเมือง, ร้อยละ 14.40 มีความรู้สึกกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใส และร้อยละ 12.54 รู้สึกไม่ดีกับเสถียรภาพทางการเมือง และทิศทางทางการเมืองที่ไม่ชัด

สถานการณ์ของประเทศที่กดดันให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน การได้มาซึ่งคนรุ่นใหม่ ทำให้มีความหวัง

แต่ที่ทำลายความหวัง เป็นการดำเนินการของกลไกอำนาจ โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้ง และความพยายามที่หาเรื่องทำลายซึ่งกันและกันเพื่อช่วงชิงโอกาสแห่งอำนาจ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สวนทางกับความหวัง

เรื่องที่หวังให้เป็นจริงไม่ได้ ย่อมนำสู่ความเสื่อมศรัทธา

ยิ่งเป็นความหวังในเรื่อง “ความชอบธรรม” ที่สัมผัสได้ด้วยสามัญสำนึก เมื่อเห็นแค่ความพยายามทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

ยิ่งสูญเสียศรัทธาของการยอมรับ และสะเทือนถึงแรงยึดเหนี่ยวในการอยู่ร่วมกัน