ตั้ง “ปิยะ อุทาโย” แก้หนี้นอกระบบ เมื่อ “สายบุ๋น” รับไม้ต่อจาก “สายบู๊” กาลเวลาพิสูจน์ฝีมือ

ต้องยอมรับว่าผลงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นมีความโดดเด่น

เพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต ผบช.สตม. สมัยสวมหมวกรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) มีผลงานออกสื่อตลอด

เนื่องจากปัญหานี้ฝังลึกในสังคมไทย เพราะคนเวลาร้อนเงิน การได้เงินมาใช้ ทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน ก็ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ แม้ดอกเบี้ยสูงแค่ไหนก็สู้ แต่พอกู้ไปแล้ว ไม่มีระเบียบวินัย ปัญหาก็ตามมา

อย่างกรณีสดๆ ร้อนๆ นายณัฐศักดิ์ คำเขิน อายุ 46 ปี อาสาสมัครมูลนิธิแห่งหนึ่ง ฆ่าปาดคอเมียและลูกเล็กอีก 2 คนเสียชีวิต แล้วเจ้าตัวพยายามใช้มีดปาดคอตัวเองเพื่อหนีความผิดด้วย เพราะอยากจบปัญหาหนี้นอกระบบ เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาคืนได้

รัฐบาลเล็งเห็นว่าปัญหานี้นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น

หลัง “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์โดนคำสั่ง ม.44 ย้ายฟ้าผ่า พ้นจาก ผบช.สตม. ไปนั่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนแก้หนี้นอกระบบ ทำให้ไม่มี “โต้โผ” รันงานนี้ต่อ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้มีคำสั่งมอบหมายให้ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าชุดแทน เพื่อสานงานต่อ สะสางและแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านที่หลวมตัวตกเป็นเหยื่อ

สำหรับที่มาของการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เริ่มมาจาก พล.อ.ประวิตรในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จัดตั้ง ศปอส.ตร. ขึ้น มี พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการ ศปอส.ตร. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ขณะนั้น) เป็นรอง ผอ.ศปอส.ตร.

แต่ดูเหมือน “บิ๊กโจ๊ก” จะเป็นผู้มีบทบาทสั่งการขับเคลื่อนทั้งหมดอยู่ผู้เดียว

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ อยู่ใน 13 หน้างานของ ศปอส.ตร. ที่มีอำนาจปราบปราม

1. การกู้ยืมเงินโดยไม่เป็นธรรม

2. ชาวต่างชาติทำผิดกฎหมาย หรืออยู่เกินกำหนดอนุญาต

3. การพนัน

4. ยาเสพติด/อาวุธปืน

5. ทรัพย์สินทางปัญญา

6.เจ้าหน้าที่รัฐถูกร้องเรียน

7. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

8. สถานบริการ

9. แข่งรถในทางสาธารณะ

10. เร่งรัดกฎหมายจับ/ติดตามการดำเนินคดี

11.รถเถื่อน ป้ายปลอม

12. การท่องเที่ยว

13. อื่นๆ (อาชญากรรมทั่วไป)

ดังนั้น เมื่อเห็นภารกิจแล้ว จึงไม่แปลกใจ ทำไม “บิ๊กโจ๊ก” จึงมีผลงานแถลงมากกว่าใครในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปฉช.ตร.) ด้วย

ผลงานที่ปรากฏคือ ลงพื้นที่ปฏิบัติการ 37 ครั้ง ตรวจค้น 44 จังหวัดทั่วประเทศ 271 จุดตรวจค้น ดำเนินคดี 171 คน แบ่งเป็นหมายจับ 127 คน แจ้งข้อหา 44 คน ยึดทรัพย์ 29,000 ล้านบาท (สองหมื่นเก้าพันล้านบาท) ไกล่เกลี่ยคืนโฉนดทั่วประเทศทั้งหมด 10 ครั้ง โดยลูกหนี้ที่ได้รับคืนโฉนดทรัพย์สิน 22,082 ราย จำนวนโฉนดที่ดิน 18,558 ฉบับ รวม 52,000 ไร่ 3 งาน 68.3 ตร.ว.

รวมมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท

โฟกัส พล.ต.ท.ปิยะ หรือ “บิ๊กเบิ้ม” ที่มารับไม้ต่อจาก “บิ๊กโจ๊ก” นั้น เปิดโปรไฟล์ดูแล้วพบว่าส่วนใหญ่จะคร่ำหวอดอยู่ใน “สายบุ๋น” งานวิชาการ

ประวัติการรับราชการ เริ่มงานครั้งแรก รอง สว.ส. สน.ชนะสงคราม หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 17 ปี นั่งในกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จนเลื่อนเป็นผู้บังคับการอำนวยการ บช.น.

จากนั้นสไลด์นั่งผู้บังคับการกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมา พ.ศ.2555 เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ใช้เวลา 3 ปี เป็นผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และโยกไปนั่งตำแหน่ง ผบช.รร.นรต. ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ผู้ช่วย ผบ.ตร.

ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ประสบการณ์เชี่ยวชาญงานปราบปราม อยู่ “สายบู๊” เริ่มตั้งแต่ ร.ต.ต. เลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2547 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พ.ต.อ. ปี 2551 นั่ง ผกก.ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายน ขึ้นเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ก่อนขึ้นรองผู้บังคับการ ถูกส่งไปเป็น ผกก.สภ.หาดใหญ่ จนเลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น “พื้นที่สีแดง” เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้

วันที่ 15 มกราคม 2558 พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พล.ต.ต. ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ “บิ๊กป้อม” ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต่อมากรกฎาคม 2558 เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2559 เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2560 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 จนวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็น พล.ต.ท. และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบช.สตม.

อย่างไรก็ตาม การรับไม้ต่อจาก “บิ๊กโจ๊ก” นั้น “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” วัดฝีมือ “บิ๊กเบิ้ม” ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มีผลงานเป็นรูปธรรมหรือไม่