Royal Bangkok Symphony Orchestra ในรัชกาลที่ 10 แสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ “Romantic Variations”

เป็นคอนเสิร์ตแรกของปี 2019 ที่วง Symphony Orchestra “Royal Bangkok Symphony Orchestra” ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นำเสนอเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2019 ในรายการ

“Romantic Variations”

ความพิเศษของคอนเสิร์ต Romantic Variations นั้นคือ เป็นคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเป็นคอนเสิร์ตแรกของปี 2019 แล้ว

ยังเป็นคอนเสิร์ตที่ไม่มีการขายบัตรเก็บเงิน แต่เป็นคอนเสิร์ตที่ออกบัตรเชิญแขกวีไอพีทั่วฟ้าบางกอกเข้าชมฟรี

ค่ำคืนนั้นจึงเป็นการกระทบไหล่ของบรรดาคนดังที่คุ้นหน้าคุ้นตาทั่ววงการ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเป็นประธานการแสดง

แต่เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งวงบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตราเมื่อ 36 ปีก่อนหน้านั้น โดยวิทยา ตุมรสุนทร วง Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ได้อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระยศขณะนั้น)

ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อวงใหม่ว่า Royal Bangkok Symphony Orchestra

พร้อมทั้งให้วง RBSO มาอยู่ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

การแสดงของวง RBSO ครานั้นอยู่ภายใต้การอำนวยเพลงของมิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยเพลงชาวเบลเยียมที่มีความสามารถสูงพร้อมด้วยผลงานและประสบการณ์มากมาย เขาอำนวยเพลงให้วงออร์เคสตราในยุโรปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990

ทิลคินมีผลงานอำนวยเพลงให้กับวงในเบลเยียมหลายวง เช่น วง Belgian National Orchestra, Royal Flemish Philharmonic Orchestra, Orchestra Philharmonique de Liege และ Royal Symphonic Band of the Belgian Guides etc

ระหว่างปี 2013-2017 เขาดำรงตำแหน่งเป็น Chief Conduct ประจำวง Thuringen Philharmonic Gotham วงออร์เคสตราชื่อดังของเมืองก็อตแทม ในเยอรมนี

ทิลคินเริ่มอาชีพนักดนตรีด้วยการเป็นนักดนตรีในวงออร์เคสตรา จนได้รับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มผู้เล่นทรอมโบน (Principle Trombonist) ประจำวงชื่อดังคือ Rotterdam Philharmonic Orchestra

จุดเปลี่ยนที่ทิลคินหันมาเป็นผู้อำนวยเพลงเกิดจากแรงบันดาลใจจาก Valery Gergiev ผู้อำนวยเพลงที่ยิ่งใหญ่ชื่อดังชาวรัสเซีย

มิเชล ทิลคินได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อำนวยเพลงที่มีความสามารถที่โดดเด่นมากในการตีความบทเพลงทั้งหลาย โดยเฉพาะงานซิมโฟนีชิ้นใหญ่

ทิลคินเป็นผู้อำนวยเพลงรับเชิญให้กับวง RBSO มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2010 ด้วยความสามารถ บุคลิกและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เขาจึงเป็นที่ยอมรับของสมาชิกวงและผู้ร่วมงานทุกคน

ผลงานของทิลคินกับวง RBSO คือการอำนวยเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 (ชูมันน์), ซิมโฟนีหมายเลข 4 (ไชคอฟกี), ซิมโฟนีหมายเลข 2 (ชูมันน์) ซึ่งบรรเลงเมื่อปี 2013 ในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งวง

และการอำนวยเพลงในการแสดงของวง RBSO ณ โรงคอนเสิร์ต Tokyo Opera City Concert Hall ในเทศกาลดนตรี Asian Orchestra Week ปี 2016 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มิเชล ทิลคิน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการด้านดนตรี (Music Director) ประจำวง RBSO ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018

ศิลปินรับเชิญอีกคนในค่ำคืนนั้นคือ ฟานนี คลามาฌีร็องด์ (Fanny Clamagirand) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น และเป็นดาวรุ่งในบรรดาศิลปินรุ่นเดียวกัน

เธอได้รับการยกย่องว่า “เล่นได้อย่างสร้างสรรค์ มีโทนเสียงสดใสมาก” ฟานนีมีพรสวรรค์ในการตีความทางดนตรี ด้วยพลังอันน่าทึ่งและด้วยอารมณ์ที่อ่อนไหว

ฟานนีเริ่มออกแสดงเดี่ยวคอนเสิร์ตเมื่ออายุเพียง 9 ขวบ ปัจจุบันเธออายุ 35 ปี เธอได้แสดงเดี่ยวตามหอคอนเสิร์ตดังๆ ของโลก เช่น Wigmore Hall, Royal Festival Hall, Berlin Konzerthaus, Musikverein

เธอร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงของยุโรป ได้แก่ Verbier Festival, Lucerne Festival, Menuhin Festival

ฟานนียังเคยออกแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับวงออร์เคสตราสำคัญๆ ของโลก เช่น London Philharmonic, Radio French Philharmonic และได้ร่วมงานกับศิลปินดังๆ ของโลก เช่น Anne Sophie Mutter, Gidon Kremer, Fabieu Gabel

ผลงาน CD ของเธอมีมากมาย และมีหลายชุดที่ได้รับรางวัลจากนิตยสารดนตรีของฝรั่งเศส Classica

เมื่อเล่าถึงศิลปินเดี่ยวไวโอลินแล้วก็ต้องรู้ว่าเธอใช้ไวโอลินของใคร ในการแสดงร่วมกับ RBSO ครั้งนี้ ฟานนีใช้ไวโอลินชั้นยอดของ Matteo Goffriller (1659-1742) ช่างทำไวโอลินชาวอิตาเลียนจากเมืองเวนิส ซึ่งเป็นช่างที่มีชื่อเสียงมากในศ9วรรษที่ 18

การแสดงเริ่มด้วยการบรรเลงบทโหมโรงเรื่อง “Romeo and Juliet” จากบทละครอมตะของ Shakespeare ซึ่งต่อมา Tchaikovsky คีตกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซียได้ประพันธ์บทเพลงประกอบบัลเลต์ในปี 1869 นำออกแสดงครั้งแรกปี 1970 และต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงจนสมบูรณ์ เป็นผลงาน master-piece ชิ้นแรกของ Tchaikovsky

บทโหมโรง Romeo and Juliet จึงตราตรึงผู้ชมให้ดื่มด่ำไปตามบทเพลง และสิ้นสุดลงด้วยเสียงปรบมือกึกก้อง

ฟานนี คลามาฌีร็องด์ งามสง่ามากับไวโอลินคลาสสิคของอิตาลี นำเสนอบทเพลง Violin Concerto No.3 in B minor, op. 61 ของคามิลล์ แซงท์-ซองศ์ (1835-1921)

คอนแชร์โตบทนี้แบ่งออกเป็น 3 ท่อน แต่งให้วงดนตรีมีกลุ่มเสียงประสานสอดรับกับการเดี่ยวไวโอลิน ดนตรีจะเริ่มตื่นเต้น มีอารมณ์ เร้าใจ สลับเปลี่ยนไปมา บางขณะก็มีทำนองอ่อนไหว และราบเรียบโดยใช้รูปแบบของโซนาต้า

ท่อนที่สองแต่งเป็นทำนองเต้นรำแบบ barcarolle โดยให้ไวโอลินและเครื่องเป่าเล่นโต้ตอบกัน ท่อนนี้แต่งขึ้นด้วยลีลาอันสง่างาม ช่วงท้ายของเพลงใช้นิ้วไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยจนสูงสุด แล้วไต่ระดับเสียงลงเรื่อยจนกระทั่งเลือนหายไปในที่สุด

ท่อนที่สามคีตกวีประพันธ์ไว้อย่างวิจิตรบรรจง มีทั้งให้วงบรรเลงจังหวะช้าแล้วเพิ่มเป็นปานกลาง สอดรับกับการเดี่ยวไวโอลินอย่างมีชีวิตชีวา เป็นการประชันของวงออร์เคสตรากับไวโอลิน ตอนท้ายให้วงออร์เคสตราบรรเลงเสียงยาวแบบนักร้องประสานเสียง เพื่อเข้าสู่ท่อนจบที่ศิลปินเดี่ยวไวโอลินบรรเลงบรรเลงอย่างโลดโผนพิสดาร

เมื่อการบรรเลงสิ้นสุดลง มีเสียงปรบมือกึกก้องถล่มทลาย ผู้ชมทั้งโรงต่างพากันยืนขึ้นปรบมือ Standing ovation ให้ศิลปินเดี่ยวไวโอลิน ฟานนี คลามาฌีร็องค์ อย่างยาวนาน

แล้วฟานนีกำนัลผู้ชมด้วยการเดี่ยวไวโอลินอีก 2 เพลงโดยไม่มีวงออร์เคสตราบรรเลงประกอบ เป็นการเดี่ยวไวโอลินล้วนๆ

ชื่นมื่นหัวใจยิ่งนัก

การแสดงช่วงหลัง RBSO และผู้อำนวยเพลงมิเชล ทิลคิน นำเสนอบทเพลง “ENIGMA VARIATIONS”, Op. 36 ของเซอร์ เอ็ดเวิร์ด วิลเลียม เอ็ลการ์ (1857-1934) ที่ประพันธ์ให้เป็นที่ระลึกถึงเพื่อนและคนรู้จักโดยบรรยายบุคลิกลักษณะเป็นเสียงเพลง แบ่งเป็นแวริเอชั่น 14 ท่อน หมายถึงคนรู้จัก 14 คน (Enigma แปลว่า ปริศนาที่ลึกลับ)

คีตกวีผู้แต่งคือศิลปินที่บรรยายเล่าเรื่องราวด้วยบทเพลงอันลึกซึ้ง

งานคอนเสิร์ต Romantic Variations ของ RBSO เฉลิมพระเกียรติ ร.10 ยิ่งใหญ่ อลังการ สมพระเกียรติยิ่งนัก