เพ็ญสุภา สุขคตะ : เบญจภาคี ตรียัมปวาย หมุดหมายคู่แห่งวงการพระเครื่อง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

นามปากกาสะท้านโลกันตร์

ในวงการเซียนพระทราบกันดีว่า จะไม่มี “พระเบญจภาคี” ได้เลย หากปราศจากบุคคลที่ชื่อ “ตรียัมปวาย” อันเป็นนามปากกาของปรมาจารย์ด้านพระเครื่องผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระหว่างช่วงทศวรรษ 2490-2520 จวบจนปัจจุบันก็ยังคงครองความเป็น “นักเลงพระระดับพระกาฬ” แห่งสยาม แม้จะวายชนม์ไปนานแล้ว

เนื่องจากเขาผู้นี้เอง เป็นผู้รวบรวมพระพิมพ์รุ่นเด่นๆ 5 สกุลมาบัญญัตินามเฉพาะขึ้นว่า “พระเบญจภาคี”

นามจริงของตรียัมปวายคือ พันเอกพิเศษประจญ กิตติประวัติ (หมายเหตุ เมื่อค้นข้อมูลจากเว็บต่างๆ พบการสะกดชื่อแตกต่างกันออกไป มีทั้ง ประจน – ประจญ – ผจญ มีทั้ง กิติ – กิตติ แถมบางลิงก์ยังเรียกว่า “ผู้กองสันทัด” อีกชื่อด้วย)

ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลผู้มีคุณูปการอย่างสูงในลำดับต้นๆ ต่อวงการพระเครื่อง น่าประหลาดใจว่า กลับไม่มีข้อมูลเชิงลึกของบุรุษผู้นี้มากไปกว่าชื่อสกุลที่เขียนแบบสับสน เราแทบไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับท่านเลย ไม่ว่าวันเดือนปีชาตะ-มรณะ การศึกษา ครอบครัว ภาพถ่าย หน้าที่การงานตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ

เราพอจะทราบเพียงแค่ว่า นิวาสสถานของท่านอยู่แถววัดกัลยาณ์ ฝั่งธนบุรี เหตุที่ทราบก็เพราะว่ามีการระบุแผนที่การเดินทางไป “สำนักตรียัมปวาย” ในหน้าท้ายๆ ของหนังสือชุด “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” ทุกเล่มที่ท่านเขียน เผื่อว่าผู้ใดต้องการให้ท่านช่วยตรวจสอบพระเครื่องว่าแท้-ไม่แท้ (ในหนังสือท่านบอกว่าดูให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย)

คล้ายว่าคุณประจญ (ประจน-ผจญ) จงใจจะฝากชื่อของ “ตรียัมปวาย” ฝากไว้ในแผ่นดินให้คนรุ่นหลังรู้จักมากกว่าที่จะให้จดจำชื่อสกุลจริงกระนั้น แม้แต่ในคำนำหนังสือทุกเล่มก็ไม่มีการวงเล็บชื่อจริงต่อท้าย “ตรียัมปวาย”

เมื่อพิเคราะห์นามปากกา ก็รู้ทันทีว่าเจ้าของนามมีกึ๋นขนาดไหนถึงกล้าใช้ พระราชพิธีโล้ชิงช้าของศาสนาพราหมณ์จากอินเดียใต้ที่เกี่ยวข้องกับเทพตรีมูรติ สะท้อนถึงองค์ความรู้ของผู้ตั้งนามฉายานี้ว่าคงต้องเป็น “ผู้คงแก่เรียนแลเจนจัดเรื่องลัทธิพิธี” พอตัว

 

พุทธ ไสย วิทยาศาสตร์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นักเขียนบทความแนวพระเครื่องที่ร่วมสมัยกับตรียัมปวาย ก็มี ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ร.อ. หลวงบรรยุทธชำนาญ และพินัย ศักดิ์เสนี

มีข้อสังเกตว่า นักเขียนพระเครื่องรุ่นบุกเบิกทั้งหมดนี้ มีชีวิตอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นยุคที่ทั่วทุกหัวระแหงผู้คนอดอยากยากแค้น ระคนเคล้าด้วยความเขลาขลาดหวาดระแวง

ความจนของคนรากหญ้าบีบคั้นให้ต้องลักลอบขุดกรุขโมยพระเครื่องมาขายผู้ดีบางกอกเพื่อประทังชีพ ความเกลียดกลัวสงครามของชายชาติทหารที่ต้องถูกเกณฑ์ไปออกรบ ก็จำเป็นต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “พระเครื่อง” อันมีรากศัพท์มาจาก “พระเครื่องราง”

จุดร่วมของเหล่าเกจิยุคนั้นคือ ล้วนมองพระเครื่องว่า มีสภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง “พุทธศาสตร์” กับ “วิทยาศาสตร์” ส่วนเรื่อง “อิทธิปาฏิหาริย์” (ไสยศาสตร์) นั้น ถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล

โดยเฉพาะตรียัมปวายนี่ กว่าจะสรุปคุณค่าความโดดเด่นของพระรอดได้องค์หนึ่ง ต้องปูพื้นความรู้ทางศาสนาเปรียบเทียบ สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองลำพูน พรรณนาเรื่องโบราณคดีทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี หริภุญไชย อย่างละเอียดลออ

ใช้เอกสารอ้างอิงมากกว่า 100 เล่ม ทั้งตำนานฝ่ายล้านนา เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา ฯลฯ ภาคภาษาไทยยังไม่พอ ยังลงทุนอ่านแปลหนังสือโบราณคดีภาษาฝรั่งเศสระดับ ปิแยร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) เลอเมย์ (Le May) ฯลฯ อีกด้วย

ที่น่าตื่นเต้นสุดๆ คือเขาเขียนจดหมายไปขอความรู้จากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล รวมถึงศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ เพื่อให้ช่วยขยายเพดานความรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัยและลพบุรีว่าส่งมาให้ศิลปะหริภุญไชยบ้างหรือไม่และมากน้อยเพียงไร

ท่านเซเดส์ตอบกลับว่า เรื่องที่ถามนั้นค่อนข้างเฉพาะด้านและเป็นศิลปะท้องถิ่นมากๆ ยังไม่เคยศึกษาเจาะลึกมาก่อน หากวันหน้าศึกษาถึงจุดนั้นจะตอบคำถามตรียัมปวายอีกที

จดหมายที่เซเดส์ตอบตรียัมปวาย ได้มีการตีพิมพ์ในหนังสือเรื่อง “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่ม 3” ชุด “พระรอด พระเครื่องสกุลลำพูน” พิมพ์ปี 2503 (หนังสือหนากว่า 640 หน้า)

เห็นได้ว่า การทำงานของคนรุ่นตรียัมปวาย ได้อุทิศทุ่มเทค้นคว้ากันด้วยชีวิต ไม่ใช่ปั่นกระแสซื้อๆ ขายๆ หรือลวงโลกอวดอ้างไสยศาสตร์เหนือองค์ความรู้ เฉกเช่นเหลือบพระเครื่องบางคนในยุคหลังๆ

 

ลึกเนื้อหา ภาษาสวย รุ่มรวยศาสตร์ศิลป์

งานเขียนทุกชิ้นของตรียัมปวายเต็มไปด้วยคุณภาพคับแก้ว 3 ด้านที่โปรยหัวมา หนึ่ง แน่นวิชาการมาก ไม่ยอมปล่อยผ่านแม้จุดคลุมเครือเล็กๆ น้อยๆ

ข้อสอง ภาษาที่ตรียัมปวายใช้นั้น เป็นภาษาที่สละสลวยมาก เขาบัญญัติศัพท์แสงขึ้นมาใหม่มากมาย ไม่เคยจนถ้อยคำ อาทิ ประดิษฐ์คำว่า “พระศักรปฏิมา” ขึ้นมาใช้เรียก สิ่งที่กรมศิลป์เรียกว่า “พระพิมพ์” แต่นักเลงพระกับชาวบ้านเรียกว่า “พระเครื่อง” เพื่อพบกันครึ่งทาง ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด

น่าเสียดายที่คำว่า “พระศักรปฏิมา” (พระบูชาองค์จิ๋ว) ไม่มีใครขานรับต่อจากเขาเลย ไม่ว่าฟากกรมศิลป์ หรือฝั่งเซียนพระ

ข้อสุดท้าย ความคิดสร้างสรรค์ของเขา สามารถเอาศาสตร์และศิลป์ที่ซุกซ่อนในพระศักรปฏิมาแต่ละองค์มาตีแผ่ให้เราเรียนรู้ได้อย่างรอบด้าน วิธีการศึกษาของปรมาจารย์พระเครื่องนั้นต่างจากนักวิชาการสาย Academy คือไม่ได้มุ่งเน้นแค่ Style ศิลปะยุคต่างๆ ตามแนวทางประวัติศาสตร์ศิลป์

หากแต่ยังเน้นศาสตร์แห่งองค์ประกอบที่ว่า กว่าช่างยุคก่อนจักสร้างพระศักรปฏิมาสำเร็จได้องค์หนึ่งนั้น เขาต้องมีผัสสะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย + ใจ) ที่ลุ่มลึกยิ่ง ฉะนั้น เราผู้เสพก็ต้องรู้เท่าทันในศาสตร์แห่งอายตนะเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ภาษาบ้านๆ ที่พวกเราคุ้นหู ก็คือการจำแนกเนื้อดิน เม็ดผด ผิวสี รอยราน รอยตำหนิ กลิ่นว่าน เป็นต้น แต่ว่าตรียัมปวายสามารถสาธยายรายละเอียดทุกซอกทุกมุมของพระพิมพ์ทุกสกุล ออกมาเป็นทฤษฎีหนาปึ้ก จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ที่เราต้องทึ่ง ดังนี้

หลักทางทัศนีย์วิทยา ว่าด้วยมิติความตื้นลึกหนาบาง, หลักสกายทฤษฎี ว่าด้วยองคาพยพของพระปฏิมา, รงคทฤษฎี ว่าด้วยเรื่องวรรณะสี, หลักฉัพยทฤษฎี ว่าด้วยแสง-เนื้อผิว, หลักมิญชทฤษฎี ว่าด้วยชนิดของคราบ เอาพอหอมปากหอมเท่านี้ดีกว่า ดิฉันเชื่อว่าเมื่อท่านอ่านถึงสองทฤษฎีสุดท้ายก็แทบเบือนหน้าหนี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อ่านสนุกและน่าตื่นเต้นมาก เห็นชื่อบาลี-สันสกฤตแบบนี้ก็เถอะ

ความหมายแห่งเบญจภาคี

ตอนแรกตรียัมปวายเคยกำหนดว่าบรรดาพระเครื่องที่โดดเด่นในสยามนั้น ที่สุดของที่สุดมีแค่ 3 พิมพ์ทรง ได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง พระนางพญาพิษณุโลก และพระรอดลำพูน รวมเรียกว่า “ไตรภาค” หรือ “ไตรภาคี”

แต่แล้วจากนั้นไม่นานก็เพิ่มมาอีก 2 สกุลคือ พระซุ้มกอกำแพงเพชร กับพระผงสุพรรณ บัญญัตินามใหม่ว่า “เบญจภาคี” ราวต้นทศวรรษ 2490

สำหรับการเลือกพระพิมพ์ 5 สกุลนี้มาเป็น “เพชรในเรือนมงกุฎ” นั้น ตรียัมปวายให้เหตุผลว่า เพราะมีความโดดเด่นทั้งด้านประวัติผู้สร้าง ด้านพุทธคุณ ด้านสุนทรียศาสตร์ บริบทแวดล้อม และปลอมยาก ฯลฯ

มีหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกเชิดชูพระเครื่องเบญจภาคีตามแนวคิดของตรียัมปวาย เนื่องจากอาจทำให้พระเครื่องพิมพ์ทรงสกุลอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คล้ายกับว่าถูกลดทอนคุณค่าให้ต่ำลงไปกลายเป็น “พระเครื่องชั้นรอง” ทั้งด้านความนิยมยกย่อง ทั้งคุณค่าความงาม และราคาซื้อขาย

ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามแต่ เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เพราะอันที่จริง ตรียัมปวายเองก็ไม่ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือมีหัวโขนในฐานะนายกสมาคมพระเครื่อง ประธานชมรมพระบูชาอะไรแต่อย่างใดที่ผู้คนต้องมาเดินตามต้อยๆ

ก็น่าคิดไม่น้อยว่าทำไมข้อเสนอของตรียัมปวายจึงทรงพลานุภาพยิ่งนัก หรือว่าพระเครื่องชุดเบญจภาคีที่ตรียัมปวายคัดสรรมานั้นเหมาะสมแล้ว เพราะแฝงนัยบางประการที่ครอบคลุมศิลปะหลากยุคสมัยอย่างรอบด้านอยู่แล้ว คือมิได้ผูกขาดสกุลช่างใดสกุลหนึ่งเพียงสกุลเดียว

กล่าวคือ มีทั้งยุคทวารวดี (พระรอดหริภุญไชย) ยุคอู่ทอง (พระผงสุพรรณ) ยุคสุโขทัย (พระนางพญา) ยุคอยุธยา (พระซุ้มกอ) ยุครัตนโกสินทร์ (พระสมเด็จ)

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงไม่มียุคศรีวิชัย หรือตัวแทนของภาคใต้ กับพระพิมพ์อีสาน เช่น พระพิมพ์ศรีจำปานาดูน หรือพระยอดขุนพลศรีเทพ ประตูสู่อีสานเหนือ เรื่องนี้ดิฉันเคยศึกษาไว้พอสมควร ได้คำตอบว่า พระพิมพ์ศรีวิชัยส่วนมากเป็นพระพิมพ์ดินดิบ (ไม่เผา) มีส่วนผสมกระดูกเถ้าของพระอุปัชฌายาจารย์ปะปนอยู่ด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมนำมาห้อยคอ

ส่วนกรณีภาคอีสานนั้น คำตอบกลับเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง กล่าวคือ ยุคที่พระเครื่องกำลังบูมอยู่นั้น (2490-2520) ภาคอีสานถูกมองว่าเป็นเขต “คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด” ถึงขนาดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศว่า “ภาคอีสานนี้อันตรายมาก แม้แต่พระก็ลุกขึ้นถือปืน ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าสนับสนุนให้วัดเติบโตสักระยะ”

ตรียัมปวายจึงกล่าวออกตัวไว้เล็กน้อยว่า การศึกษาเรื่องพระเครื่องแบบเจาะลึกนั้น เขาค่อนข้างเน้นหนักไปแค่พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ เนื่องจากเป็นเขตที่สามารถลงไปขลุกตัวกับชาวบ้านในพื้นที่นานๆ ได้แรมเดือนอย่างปลอดภัยไม่เจอคอมมิวนิสต์ (?)

กาลเวลาผันผ่าน หากจะมีเซียนพระท่านไหนพิจารณาว่าเราควรเพิ่มพระเครื่องชิ้นเยี่ยมของบางภูมิภาคที่ขาดหายไป มาผนวกรวมใหม่ให้เป็น “สัตตภาคี” “อัษฎาภาคี” (อัฏฐาภาคี) “นวภาคี” หรือ “ทศภาคี” ให้รอบด้านกว่านี้ก็ย่อมน่าจะทำได้ เราควรจัดวงเสวนากันสักครั้งนะคะ

สุดท้าย ขออนุญาตประชาสัมพันธ์โครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หน่อยค่ะ “หลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องพระเบญจภาคี” จะมีขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เวลา 13.00-17.30 น. ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยากร คุณศุภชัย สายัณห์ และคุณนิพนธ์ สุขสมมโนกุล (น้อยไอยรา) มีค่าลงทะเบียนคนละ 1,500.- โทร.สอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-1531-3435 หรือ 08-9955-9899 รับจำนวนจำกัดเพียง 25-30 คนเท่านั้น

เป็นครั้งแรกที่ภาคเหนือเปิดให้มีการอบรมหลักสูตรนี้ค่ะ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับชาวล้านนาที่เราคร่ำหวอดอยู่แค่พระรอด พระคง จักได้เรียนรู้และสัมผัส “พระเบญจภาคี” องค์เป็นๆ จากผู้เชี่ยวชาญกันเสียที