มนัส สัตยารักษ์ | นิติศาสตร์สามพราน

เปิด MATICHON ONLINE ในเฟซบุ๊ก พบช่าว “ประกาศตั้ง นิติศาสตร์สามพราน”

คิดถึง “อาจารย์แผ้ว” พล.ต.ต.แผ้ว โสตถิพันธุ์ (อดีต ผบก.กองวิจัยและวางแผน) ทันที เพราะอาจารย์แผ้วเป็นคนเริ่มต้นคิด “นิติศาสตร์สามพราน” ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของท่าน แม้ในที่สุดแล้วจะไม่บรรลุผลตามที่หวังไว้ นรต.หลักสูตร 4 ปี ได้รับปริญญา “รัฐประศาสนศาสตร์” (รปบ.ตร.) ไม่ใช่นิติศาสตร์

ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์แผ้วมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจปีที่ 1 พ.ศ.2498 อาจารย์แผ้วไม่เพียงแต่เป็นอาจารย์เท่านั้น แต่ท่านอยู่ในตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ซึ่งก็คือ เป็นผู้ปกครองของรุ่นเราด้วย ดังนั้น อีกชื่อหนึ่งที่เราเรียกกันจนติดปากก็คือ “หมวดแผ้ว”

อาจารย์แผ้วเป็น นรต.รุ่น 8 แต่รับปริญญานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2496 ก่อนรับกระบี่จาก ร.ร.นรต. 1 ปี (2497) ขัอเท็จจริงนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าอาจารย์แผ้วไม่ได้ดิ้นรนเพื่อตัวท่านเอง (และเพื่อนอีกหลายท่านที่รับปริญญานิติศาสตร์มาด้วยกัน เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ พล.ต.ต.สง่า ดวงอัมพร พล.ต.ต.อำนวย อุดมเดช เป็นต้น) นอกจากนั้น ท่านยังจบปริญญาโทในสาขาอื่นด้วย เท่าที่จำได้คือ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มธ.

ผมยังจำวันที่ท่านมาแจ้งข่าวนี้ให้พวกเรา นรต.ได้รับทราบ พวกเราส่วนใหญ่ต่างดีใจที่เรียน 4 ปี ได้รับปริญญาเท่ากับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอื่น พวกเพื่อนตำรวจของผมส่วนหนึ่งใช้ศักดิ์และสิทธิ์จากปริญญานี้ไปต่อปริญญาโทในต่างประเทศได้ทันทีโดยไม่เสียเวลา

แต่อาจารย์แผ้วผิดหวัง เพราะท่านได้ทุ่มเทแรงงานและแรงใจไปมากเพื่อจะให้ นรต.ได้รับปริญญานิติศาสตร์ซึ่งเหมาะกับอาชีพตำรวจในภารกิจหน้าที่ของต้นธารกระบวนการยุติธรรม

ถ้าท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะหายผิดหวัง แม้จะต้องใช้เวลาถึงกว่า 64 ปีก็ตาม!

ความจริงมี นรต.ที่มีปริญญานิติศาสตร์มาก่อนหรือไล่เลี่ยกับปีที่รับพระราชทานกระบี่ ตอนที่ผมเรียนเข้าเรียน นรต.สามพรานปีแรก มีรุ่นพี่เป็นรองหัวหน้า นรต. ชื่อ ประดับ เกิดอินทร์ (พล.ต.ต.) พี่เขามีปริญญา “ธรรมศาสตรบัณฑิต” (ธบ.) ต่อท้ายชื่อ ซึ่งต่อมาก็คือ “นิติศาสตร์” นี่แหละ เป็นที่รู้กันว่าเป็นนักกฎหมายรุ่นเก่ากว่านั่นเอง

อีกท่านหนึ่ง (ก่อนพี่ประดับ) ก็คืออาจารย์ พล.ต.อ.สุพาสน์ จิระพันธุ นรต.รุ่น 9 ท่านจบปริญญานิติศาสตรบันฑิตและเนติบัณฑิตไทย ท่านไปเป็นผู้พิพากษาอยู่ 5 หรือ 6 ปี (2510-2516) แล้วโอนกลับมาด้วยความรักชีวิตตำรวจ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผบช.สอบสวนกลาง และ ผบช.สำนักวิทยาการ กรมตำรวจ

หลังเกษียณได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) หลายสมัย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ

อาจารย์แผ้วตลอดจนนายตำรวจที่ผมเอ่ยนามข้างต้น ล้วนเป็นแรงบรรดาลใจให้ นรต.รุ่นต่อๆ มาพยายามไขว่คว้าปริญญานิติศาสตร์ตามความเชื่อและความฝันของอาจาย์แผ้ว และที่ประสบความสำเร็จไปก็หลายท่าน

ในเชิงส่วนตัวผมมีความหลังกับอาจารย์แผ้วไม่มาก แต่แปลกที่ผมจำได้เหมือนมีคลิปขาวดำ ภาพมัวและขาดวิ่น ผนึกอยู่ในห้วงมโนภาพให้เห็นมาจนถึงวันนี้

บ่ายแก่ๆ วันหยุดเรียนวันหนึ่ง เรา-นรต. 4 หรือ 5 นาย ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ร.ร.นรต. ออกนอกบริเวณโรงเรียน ไปเดินเตร่เที่ยวชมร้านค้าและผู้คนในตลาด อำเภอสามพราน

ยังไม่ทันได้ส่ายหรือส่องมองอะไรเท่าไหร่ ก็มีเสียงกระซิบชวนขนหัวลุกจากเพื่อนคนหนึ่ง

“เฮ้ย!… หมวดแผ้วว่ะ!!”

ผมหันมองไปตามสายตาของเพื่อนผู้ส่งเสียง แล้วก็เห็นหมวดแผ้วนอกเครื่องแบบยืนคร่อมรถจักรยาน 2 ล้ออยู่บนถนนสายหนึ่งห่างไปประมาณ 100 เมตร อุปาทานหรือเปล่าก็ไม่ทราบ…ดูเหมือนท่านกำลังมองมาทางเราอย่างเงียบๆ ไม่เคลื่อนไหว ผมเบือนหน้าหลบแล้วพร้อมกับเพื่อนต่างหันหลังกลับ ครึ่งวิ่งครึ่งเดินไปทางโรงเรียน กะว่าพ้นสายตาท่านแล้วค่อยจ้ำอ้าวไปอย่างเร็ว

เมื่อเข้าไปในบริเวณโรงเรียนแล้วเรารีบวิ่งไปกองร้อย 1 อาคาร “ขันตีอุตสาหะ” ทำเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้ไปไหนทั้งๆ ที่หอบหายใจแทบไม่ทัน

คาดไว้ไม่มีผิด หมวดแผ้วปั่นจักรยานมาที่กองร้อยและสั่ง นรต.ปี 1 ที่มีชื่อต้องอยู่กองร้อยเข้าแถวเพื่อเรียกตรวจจำนวน!

ผลการตรวจอยู่กันครบเรียบร้อยดี หมวดแผ้วไม่เอาผิดใคร ได้แต่คำรามขู่หน้าแถวทำนองว่า “วันนี้ยังจับคาหนังคาเขาไม่ได้ ระวังวันต่อไปให้ดีก็แล้วกัน”

แต่ผมคิดว่าท่านคงเมตตามากกว่า เพราะถ้าจะเอาเรื่องกันจริงๆ เพียงเดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วสังเกตอาการหอบประกอบกับจับชีพจรดูการเต้นของหัวใจก็สามารถกล่าวหาได้แล้ว เพราะพวกหนีโรงเรียนต่างหอบซี่โครงบานและหัวใจเต้นถี่กว่าปกติ

ผมได้รับคำสั่งแต่งตั้งย้ายไปเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ระโนด จังหวัดสงขลา ได้รู้จักกับ “พี่เจือ” เจือณรงค์ โสตถิพันธุ์ พี่ชายคนโตของอาจารย์แผ้ว พี่เจือขี่เรือติดเครื่องเหมือนคนกรุงเทพฯ ขับรถยนต์สปอร์ต ตลอด 3 ปีที่อำเภอระโนด เราคุยกันถึงอาจารย์แผ้วแทบทุกครั้งที่เจอกันหรือนั่งเรือไปด้วยกัน ราวกับว่าผมเป็นคนหนึ่งในครอบครัวอันใหญ่โตของโสตถิพันธุ์

เมื่อผมได้ย้ายมาป็น รอง สว.กองปราบปราม ผมไปเยี่ยมคารวะอาจารย์แผ้ว ท่านไม่ได้ถามถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของอำเภอระโนดเลย ท่านถามถึงผลการเรียนนิติศาสตร์ของผม!

ผมตอบไปตามความจริงว่า ผมก็ไปขอถอนทะเบียนออกจากการเป็นนักศึกษาเสียแล้ว เพราะคิดว่าไม่มีโอกาสได้กลับมาเรียนอยู่กรุงเทพฯ อีกแล้ว

“คนอื่นเขาอยากเรียนแต่ไม่มีทั้งปัญญา ไม่มีทั้งโอกาส แต่มึงมีทั้งปัญญา มีทั้งโอกาส ดันไม่เรียน!” อาจารย์แผ้วเอ็ดตะโรใส่ด้วยความโกรธและผิดหวัง

ขอขอบคุณ พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. (กำกับดูแลโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) อดีต ผบช.ร.ร.นรต. ผู้ดำเนินการและผลักดันให้ตั้งคณะนิติศาสตร์ ปรับปรุงหลักสูตร ร.ร.นรต. เป็นหลักสูตร 2 ปริญญา หรือ Dual degree คือรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรบัณฑิต ซึ่งเริ่มใช้กับ นรต.ชั้นปีที่ 1 (รุ่น 75) แล้วเป็นรุ่นแรก

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ในอนาคตคณะนิติศาสตร์จะเปิดสอนแก่ผู้ที่จบจาก ร.ร.นรต. สามารถเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ของ ร.ร.นรต.ได้ และระยะต่อไปจะเปิดรับบุคคลภายนอกเข้าศึกษา

ผมคิดถึงอาจารย์แผ้ว…ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านคงบอกกับผบว่า “โอกาสมีแล้ว มึงยังมีปัญญาไหม?”