สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/หนาวเดือนห้า

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

หนาวเดือนห้า

 

ไม่ได้ประชดประชันอากาศร้อนสุดๆ ของเดือนเมษายนปีนี้

แต่กำลังจะพูดถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้แก้ไข้ของเดือนห้าในประเทศไทยที่ร้อนจนทำให้จับไข้

อาการไข้ในเดือนร้อนๆ นี้มักมีอาการหนาวสั่นมาด้วย

หมอพื้นบ้านอีสานจะนำเอาสมุนไพรชื่อ ต้นหนาวเดือนห้า มาเข้ายาดับพิษไข้ จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องสมุนไพรนี้เอง

แต่จากการศึกษาสมุนไพรที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ พบว่า “หนาวเดือนห้า” มีถึง 3 ชนิด

ดังนี้

 

1)หนาวเดือนห้า ที่แพทย์แผนไทยเรียกว่า พระขรรค์ไชยศรี ซึ่งมีลักษณะกิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในบางพื้นที่จึงเรียกว่า เครือเขาเหลี่ยม (ลำปาง) ส่วนของเถามีมือเกาะที่เหนียวมากจึงเป็นที่มาของชื่อท้องถิ่นว่า “เถาวัลย์ปลิง” (ตราด)

ในภาคกลางเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ฝนแสนห่า” คาดว่าน่าจะมาจากลักษณะของใบที่ดกหนา ปลายเรียวแหลมเหมือนหยดน้ำ ในแถบจังหวัดเลยเรียกว่า “พูพ่อค้า” เพราะใบคล้ายใบพลูและมีการนำมาจำหน่ายเป็นการค้า

หนาวเดือนห้าชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myxopyrum  smilacifolium subsp. smilacifolium เป็นไม้เลื้อย มีการกระจายอยู่ในอินเดีย (แถบอัสสัม เมกฮาลายา) สปป.ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม มีการใช้เป็นสมุนไพรได้หลายส่วน คือ ลำต้นและใบ แช่น้ำ ทาแก้อาการชาตามแขนขา

ถ้าใช้ทั้งห้า ผสมเปลือกต้นตูมกาขาว (Strychnos nux-blanda A.W. Hill) และผักบุ้งร้วม (Enydra fluctuans DC.) ทั้งต้น นำสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็งตับ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นยาอันตราย หากใช้มากเกินไป จะทำให้เหงื่อออกมากจนอาจถึงเสียชีวิตได้

เถา รสเบื่อ เมา เย็น ขับเหงื่ออย่างแรง แก้ไข้ ลดความร้อน ใช้มากเป็นยาอันตรายเนื่องจากขับเหงื่อมากอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน

การแพทย์พื้นบ้านจีนและอินเดียใช้เป็นยาแก้หอบหืดและแก้ไอ มีการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลมได้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากส่วนของใบยังใช้เป็นสารช่วยลดการเกิดสภาวะเครียดในร่างกาย สารที่พบคือ iridoid glycoside สารสกัดจากใบมีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

 

2)หนาวเดือนห้า ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า ช้างสารซับมัน (นครศรีธรรมราช) ซึ่งใช้เป็นชื่อทางราชการไทยว่า ดังอีทก (นครราชสีมา) หนาวเดือนห้า (หนองคาย) โหรา (ปัตตานี) หนาวเดือนห้าชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erycibe elliptilimba Merr. & Chun เป็นไม้รอเลื้อย

มีการกระจายอยู่ในแถบจีนตอนใต้ (กว่างตง เกาะไหหลำ) กัมพูชา สปป.ลาว ไทย เวียดนาม

จากงานวิจัยของโรงพยาบาลศิริราชพบว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้รักษาการติดเชื้อและมะเร็งมาเป็นเวลานาน

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสารสกัดน่าจะมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งเต้านมและทำให้เกิดการหยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็ง

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาในเรื่องกลไกการต้านมะเร็งต่อไป

การแพทย์ดั้งเดิมของจีนใช้ส่วนของลำต้นและรากเป็นยากระจายลมและลดการเจ็บปวด หมอพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยาแก้ไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ

สำหรับงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากหนาวเดือนห้าชนิดนี้สามารถต้านแบคทีเรียได้หลายชนิดด้วย

 

3)หนาวเดือนห้า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erycibe subspicata Wall. ex G. Don มีรายงานว่าพบมากที่ จ.หนองคาย เป็นไม้รอเลื้อยมีการกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย สิกขิม ภูฏาน เมียนมา ไทย เวียดนาม กัมพูชา จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบสารสกัดคือ coumarins สองชนิด ชื่อ scopoletin และ scopolin การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารทั้งสองนี้ โดยอาศัยข้อมูลทางสเปคโตรสโคปิ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในพืชชนิดนี้มาก่อน จึงน่าสนใจมาก

หนาวเดือนห้าที่ใช้กันในกลุ่มหมอยาพื้นบ้านภาคอีสาน น่าจะเป็นชนิด Erycibe elliptilimba Merr. & Chun และชนิด Erycibe subspicata Wall. ex G. Don

การใช้ประโยชน์ทางยาปรากฏให้เห็นมากในกลุ่มหมอพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น ตำรับยาของนายสำอาง วงจันทะเลียง ประกอบด้วย เครือผีผ่วน เข็มแดงดง เครือตาปลา เม็ดขาม หมากบ้า จันแดง-ดำ หอม ไค่ จำปาเหลือง ข่าไก่ป่า ดูกแห้ง ดูกไก่ดำ กำแพงเจ็ดชั้น เครืองูเง่า ฮังฮ้อน หนาวเดือนห้า หอยขม หอยทะเล รากเอี่ยนด่อน แก่นจำปาขาว เขากวาง หางกระเบน ขี้นกอินทรีย์ รากพังคี แฮนทำทาน แฮนจงอาง แฮนงูเห่า ก่องก่อยลอดขอน รากข้าวกี่ ทรายเดน นางหวาน รากพิลา รากจำปาน้ำ

นำสมุนไพรทั้งหมดมาฝนรวมกันด้วยน้ำสะอาด ให้ผู้ป่วยกิน ยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมากชนิดเช่นนี้เรียกว่า “ยาซุมใหญ่” มักใช้เป็นยารักษาโรคที่เรียกว่าไข้หมากไม้ ซึ่งจัดว่าเป็นโรคประจำถิ่นของคนอีสานซึ่ง เข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เจริญอยู่บนผลไม้ที่ตกและเน่าอยู่ใต้ต้นไม้ในป่า

เมื่อคนเข้าไปเดินในป่าได้รับเชื้อนี้มาก็จะแสดงอาการไข้ในรูปแบบต่างๆ

ตามภูมิปัญญาอีสานแบ่งอาการของไข้หมากไม้ไว้ถึง 55 อาการ เช่น อาการไข้ที่เรียกว่า “ออกกลอมนางนอน” เป็นอาการไข้ที่มีอาการเท้าเย็น มือเย็น เย็นตั้งแต่หัวถึงเท้า คลำดูที่ไหนก็เย็นไม่มีอุ่นเลย

ที่เรียกว่าไข้หมากไม้ เพราะเข้าใจว่าเชื้อจากหมากไม้หรือที่เรียกในภาษาไทยกลางว่าผลไม้ เป็นสาเหตุของโรค ดังนั้น ข้อคลำหรือข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หมากไม้ ห้ามกินผลไม้ทุกชนิด เป็นต้น

แต่จากการที่ได้มีโอกาสสำรวจข้อมูลกับแพทย์แผนไทยหลายท่านพบว่า ในตำรายาดั้งเดิมก็กล่าวไว้ว่าหนาวเดือนห้าเป็นไม้ยืนต้น ไม่ใช่ไม้เถา ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าหนาวเดือนห้าในตำรับดั้งเดิมอาจไม่ใช่พระขรรค์ไชยศรีในทุกตำรับ คำถามและการไขปัญหาเหล่านี้ยังควรทำให้กระจ่างชัดหรือศึกษากันต่อไป