การศึกษา / เร่งคลอด ‘พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ’ ทางออกแผนปฏิรูป…??

การศึกษา

 

เร่งคลอด ‘พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ’

ทางออกแผนปฏิรูป…??

 

ยังเถียงกันไม่จบ สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … หลังส่อแววประกาศใช้ไม่ทันในรัฐบาลนี้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โต้โผหลักในการยกร่าง เกิดความกังวลว่า จะส่งผลให้แผนปฏิรูปการศึกษาที่ร่างแผนไว้ไปไม่ถึงฝั่ง…

ล่าสุดรัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับแก้เป็นร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เพราะถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้มีการปรับปรุงแก้ไข

ทำให้เกิดเสียงคัดค้าน เพราะยังมีข้อถกเถียงหลายประเด็น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจาก ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ มาเป็น ‘ครูใหญ่’ และใช้ใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ซึ่ง นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. ให้เหตุผลการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ให้ความสำคัญและยกย่องความเป็นครู ไม่ใช่ยกย่องเรื่องการบริหาร ที่ผ่านมาสังคมให้ความสำคัญกับการบริหาร ที่เน้นการบริหารเงิน บริหารคน โดยไม่ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จึงถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง อีกทั้งคำว่าครูใหญ่ ไม่ได้เล็กกว่าผู้อำนวยการ แต่เป็นการกำหนดหน้าที่ของครูใหญ่ให้ชัดว่าต้องทำให้นักเรียนมีความรู้ มีความสามารถ เป็นคนดี ตรงนี้คือวิธีคิด

เช่นเดียวกันกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจุดสำคัญคือ จิตวิญญาณความเป็นครู ไม่ใช่เห็นครูเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น การรับรองความเป็นครูจึงมีระดับที่สูงกว่าเรื่องของใบอนุญาตฯ การปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นการคืนศรัทธาและยกย่องครู ไม่ใช่ครูเป็นลูกน้องผู้บริหาร…

 

ฝ่ายค้านอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หากเร่งรีบประกาศใช้เป็น พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ อาจเป็นผลเสียระยะยาว ถ้าเป็นไปได้ควรชะลอไว้ก่อน แม้รอประกาศใช้ในรัฐบาลหน้าก็ไม่สายเกินไป เพื่อให้ได้ฉันทามติที่เป็นความเห็นพ้องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ยังมีคำถามและความเห็นที่ไม่ตรงกันในหลายมาตรา การออกเป็น พ.ร.ก. ต้องมีความรอบคอบ รวมถึงมีความเห็นที่เป็นฉันทามติร่วมกันของทุกฝ่าย

ขณะที่สมาพันธ์ครูภาคใต้และเครือข่ายองค์กรครู 4 ภูมิภาค ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่ เกรงว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งในการปฏิบัติ และไม่ส่งผลดีต่อการจัดการศึกษาของประเทศโดยส่วนรวม ขอให้คงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตำแหน่งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า ขอให้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการศึกษา ทั้งครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนชุมชน ผู้ปกครอง โดยกระบวนการประชาพิจารณ์ ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จนกว่าจะได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

โดยนายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า ความรีบเร่งย่อมขาดความละเอียดรอบคอบ ก่อให้เกิดความผิดพลาดในบทบัญญัติของกฎหมายได้ ซึ่งย่อมเกิดผลเสียกับการศึกษาของชาติมหาศาล ขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จนกว่าจะทำประชาพิจารณ์

ด้านนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กังวลว่า หากรอไปรัฐบาลหน้า อาจจะเกิดปัญหา อย่างน้อยคือ เรื่องระยะเวลา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดูรายละเอียดมาแล้ว ก็อาจมีการเสนอปรับแก้ ทำให้กฎหมายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

โดยเห็นว่าควรเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ก็มีศักดิ์ศรีทางกฎหมายเท่าเทียมกัน เพียงแต่ พ.ร.ก. รัฐบาลประกาศใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา

 

ส่วนกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน และนักวิชาการออกมาคัดค้านเรื่องนี้นั้น ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่ค้าน ไม่ใช่หลักการใหญ่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีการกำหนดชื่อตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องแล้วว่า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถกำหนดชื่อตำแหน่งอื่นได้ เพียงแต่ในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ จะใช้ชื่อตำแหน่งครูใหญ่

ขณะที่ข้อดี นอกจากเดินหน้าเรื่องปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต่อไปไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารทางการศึกษา แต่กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ประสบการณ์เข้าทำงาน เช่น กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติเป็นครูใหญ่ หรือผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเคยเป็นครู หรือทำงานบริหาร หรือมีตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่มาก่อน เป็นต้น

“การกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตฯ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยที่ผ่านมามีครูกว่า 80% ทิ้งการสอนในห้องเรียน ไปเรียนปริญญาโท บริหารการศึกษา เพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ รอสอบเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร แต่ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ กำหนดชัดเจนว่า ต้องเคยเป็นครูและผ่านงานบริหารมาก่อน ที่สำคัญยังทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทบริหารการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อหากินลดลง ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ หรือคนที่ทำงานฝ่ายงานบัญชีการเงิน มีช่องทางเติบโต สามารถเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ได้ ซึ่งหากไม่ใช่ครูก็ไม่มีสิทธิขึ้นเป็นครูใหญ่ และในอนาคตจะให้ครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน สามารถเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียนได้เอง เพื่อแก้ปัญหาการย้ายรองผู้อำนวยการโรงเรียน อีกทั้งยังทำให้ครูใหญ่สามารถเลือกคนที่จะทำงานร่วมกันได้ ไม่เกิดปัญหา” นายเอกชัยกล่าว

   ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว เพราะหากยังเถียงกันไม่จบ เชื่อว่าแผนปฏิรูปการศึกษาที่วางไว้คงล้มเหลวไม่เป็นท่าอีกเช่นเคย…