จรัญ มะลูลีม : ปฏิวัติอิสลามอิหร่าน 40 ปี ต่อมา

จรัญ มะลูลีม

การเมืองและเศรษฐกิจ
ของอิหร่าน
ตั้งแต่ ค.ศ.1980 ถึงปัจจุบัน

ในช่วงต้นของการปฏิวัติอิสลาม ค.ศ.1979 รัฐบาลตกอยู่ในภาวะชะงักงันทางการเมือง ในเดือนพฤศจิกายน สถานทูตสหรัฐถูกยึดและผู้ที่อยู่ในสถานทูตถูกจับเป็นตัวประกันยาวนานถึง 444 วัน ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าสถานทูตสหรัฐสนับสนุนชาฮ์ของอิหร่าน และเป็นที่รวมของการจารกรรมข้อมูลของอิหร่าน

สงครามแปดปีระหว่างอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคนและทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินจำนวนนับพันล้านเหรียญสหรัฐ

ในตอนกลาง ค.ศ.1982 อำนาจทางการเมืองได้ตกมาอยู่ในมือของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติและผู้สนับสนุนเขา

การท้าทายหลายด้านที่อิหร่านต้องเผชิญหลังการปฏิวัตินั้นจะรวมไปถึงการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านของสหรัฐอันเนื่องมาจากวิกฤตตัวประกัน การให้การสนับสนุนอิรักและการกล่าวหาอิหร่านว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายโดยสหรัฐและประเทศอื่นๆ

รวมทั้งการอพยพของผู้คนทำให้อิหร่านต้องสูญเสียผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ นักเทคนิค แรงงานที่มีฝีมือและเงินทุนจำนวนมหาศาลไป

 

สาเหตุข้างต้นรวมทั้งสาเหตุอื่นๆ ทำให้อิหร่านประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 45 ระหว่าง 6 ปีแรก นับจากอิรักเข้ามารุกรานอิหร่าน ในปี 1980 และเมื่อการรุกรานของอิรักสิ้นสุดลงในปี 1988 รายได้ต่อหัวของประชาชนก็ลดลงไปในระดับใกล้เคียงกับช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติ

พรรคการเมืองพรรคเดียวที่ปกครองอิหร่านหลังการปฏิวัติคือพรรคสาธารณรัฐอิสลาม (Islamic Republic Party) ซึ่งต่อมาได้ยุบตัวลงใน ค.ศ.1987 อิหร่านจึงไม่มีพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ของตนเอง

จนกระทั่งพรรคบริหารเพื่อการก่อการร่างสร้างตน (Exucutives of Construction Party) ก่อตัวขึ้นใน ค.ศ.1994 และลงแข่งขันการเลือกตั้งสภาสมัยที่ 5 แล้วเท่านั้น ที่พบว่าพรรคการเมืองอิหร่านได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในรัฐสภาอย่างเห็นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อการก่อร่างสร้างตนไม่ได้เป็นกลุ่มบริหารของฝ่ายรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีอักบัร ฮาเชมิ-รัฟซันญานี (Akbar Hashemi-Rafsanjani) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในเวลานั้นแต่อย่างใด

 

หลังจากประธานาธิบดีมุฮัมมัด คอตามี (Muhammad Khatami) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีพรรคต่างๆ จึงทำงานได้มากขึ้น ส่วนใหญ่พรรคเหล่านี้จะเป็นพรรคของนักปฏิรูปและได้รับการต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม

การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้นำไปสู่การร่วมมือและการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นทางการของหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มอนุรักษนิยม

หลังจากสงครามอิรัก-อิหร่านจบลงใน ค.ศ.1988 นักปฏิรูปและสมาชิกหัวก้าวหน้าได้รับชัยชนะ 7 ครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านจนถึงปัจจุบัน (2019) 8 ครั้ง

โดยพรรคฝ่ายขวาชาตินิยมของมะห์มูด อะห์มะดีเนญอด ได้รับชัยชนะสองครั้งติดต่อกัน

 

รัฐบาลอิหร่านได้รับการต่อต้านจากกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มมุญาฮิดีนนีคัลก์ (Mujahedin-e-Khalq) กลุ่มประชาชนแห่งฟิดายีน (People”s Fidayeen) และพรรคประชาธิปไตยชาวเคิร์ด (Kurdish Democratic Party)

ก่อน ค.ศ.1979 อิหร่านมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากการเกษตรแบบดั้งเดิม อิหร่านได้เปลี่ยนสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและความทันสมัยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นไป

การปฏิวัติใน ค.ศ.1979 และการเกิดขึ้นของสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำให้ร้อยละ 80 ของเศรษฐกิจตกมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

สงคราม 8 ปีกับอิรักทำให้ชาวอิหร่านอย่างน้อย 300,000 คนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 500,000 คน

ค่าใช้จ่ายในสงครามทำให้อิหร่านต้องสูญเสียเงินไปจำนวนห้าแสนล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากความขัดแย้งว่าด้วยเรื่องดินแดนกับอิรักจบสิ้นลงใน ค.ศ.1988 รัฐบาลได้พยายามพัฒนาการคมนาคม การขนส่ง การผลิต การดูแลสุขภาพ การศึกษา การพลังงาน (รวมทั้งการจัดหาเครื่องมือเพื่อก่อตั้งโรงงานพลังงานนิวเคลียร์)

และเริ่มต้นบูรณาการระบบการคมนาคมและขนส่งกับรัฐเพื่อนบ้าน

 

จุดมุ่งหมายระยะยาวของรัฐบาลนับตั้งแต่การปฏิวัติก็คือการเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม ในตอนปลายของศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจของประเทศต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ นานา ประชากรอิหร่านเพิ่มมากกว่าสองเท่าในระหว่าง ค.ศ.1980 และ ค.ศ.2000 และคนที่อยู่ในวัยกลางคนมีจำนวนลดลง

แม้ว่าชาวอิหร่านจำนวนมากจะเป็นชาวนา แต่ผลผลิตทางการเกษตรได้ตกต่ำลงนับจากทศวรรษ 1960

ปลาย ค.ศ.1990 เป็นต้นไปอิหร่านเป็นผู้นำเข้าอาหารเป็นส่วนใหญ่ ในเวลานั้นความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในเขตชนบทเป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากอพยพเข้าสู่ตัวเมือง

เศรษฐกิจของอิหร่านเป็นเศรษฐกิจผสมและเป็นเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนผ่าน โดยมีเศรษฐกิจภาคสาธารณะขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจได้รับการวางแผนมาจากส่วนกลาง โดยการผลิตน้ำมันและก๊าซ จะเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 40 แห่งจะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับตลาดหุ้นเตหะราน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดของโลก

เมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยจำนวนร้อยละ 10 ของน้ำมันสำรองที่ได้รับการยอมรับและร้อยละ 15 ของก๊าซ อิหร่านได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านพลังงาน (energy superpower) ของโลก

 

อิหร่านเป็นประเทศที่มีพลังซื้อที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 18 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์รวมอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก เป็นสมาชิกของกลุ่ม 11 ประเทศที่รวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันในชื่อ Nex Eleven อันเนื่องมาจากศักยภาพและการพัฒนาที่ก้าวหน้า ลักษณะเด่นของเศรษฐกิจของอิหร่านก็คือการมีอยู่ของมูลนิธิทางศาสนาต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่มีชื่อว่าบอนยาด (Bonyad) โดยมีงบประมาณร่วมกันมากกว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางถึงร้อยละ 30

การควบคุมราคาและควบคุมการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาหารและพลังงานทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ การควบคุมโดยฝ่ายบริหารและปัจจัยที่เข้มงวดอื่นๆ เป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาฝ่ายนิติบัญญัติได้ผ่านแผนการปฏิรูปเพื่อการช่วยเหลือของรัฐบาลออกมา นับเป็นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุดนับจากรัฐบาลได้นำเอาระบบการแจกจ่ายก๊าซมาใช้ใน ค.ศ.2007

การส่งออกน้ำมันและก๊าซถือเป็นการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด และเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ใน ค.ศ.2010 รายได้จากการส่งออกน้ำมันทำให้อิหร่านมีเงินสำรองต่างประเทศกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2010 อิหร่านเติบโตด้านวิทยาศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งของโลกใน ค.ศ.2011 และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนารวดเร็วที่สุดของโลกในด้านการติดต่อสื่อสาร

อันเนื่องมาจากการโดดเดี่ยวในเชิงเปรียบเทียบกับตลาดการเงินของโลก ทำให้ในเบื้องต้นอิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงความตกต่ำทางเศรษฐกิจการเงินของโลกใน ค.ศ.2008 ได้

 

การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในทางเศรษฐกิจของอิหร่านได้แก่การยุติการแซงก์ชั่นจากนานาประเทศ ทั้งนี้ การแซงก์ชั่นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจากนานาประเทศได้ยุติลงเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.2016

หลังจากทบวงปรมณูสากล (International Atomic Energy Agency) หรือ IAEA ประกาศว่าอิหร่านได้ทำตามข้อตกลงทุกข้อที่มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 กับสมาชิกถาวร 5 ชาติของสหประชาชาติ (P5) กับอีกหนึ่งประเทศหรือที่เรียกว่า P5+1 ซึ่งก็ได้แก่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนและเยอรมนี

การยกเลิกการแซงก์ชั่นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านดังกล่าวทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้อย่างครอบคลุมอีกครั้งใน ค.ศ.2016

การลงทุนในประเทศ การส่งออกที่จะทำให้อิหร่านเลี้ยงตัวเองได้และปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ต่อไป

แม้ว่าอิหร่านจะมีประชากรเป็นผู้มีการศึกษา มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับสูง แต่การที่อิหร่านมีเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดและมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อย เป็นผลให้ชาวอิหร่านจำนวนมากขึ้นแสวงหางานทำในต่างประเทศ

จนทำให้เกิดปัญหา “สมองล่อง” ในที่สุด

ปัจจุบันการแซงก์ชั่นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ยุติลงแล้ว อันเนื่องมาจากการบรรลุข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับกลุ่มที่เรียกว่า P5+1 ทั้งนี้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม การขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของซาอุดีอาระเบียที่กำลังแข่งอำนาจกับอิหร่านอยู่ในตะวันออกกลาง สหรัฐภายใต้ทรัมป์ได้ยกเลิกข้อตกลงการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ของยุโรปยังปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับอิหร่านอย่างไม่เปลี่ยนแปลง