สมหมาย ปาริจฉัตต์ : กองทุน 10 บาท… คนเชียงใหม่ไม่ทิ้งกัน (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ออกตัวก่อน เกิดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสระดับชาติ และก่อนเกิดเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา

จึงเป็นแรงจูงใจให้หลวงพ่อพระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวสัมโมทนียกถา ชื่นชมจิตใจจาวเจียงใหม่ อยากให้เป็นวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่สืบเนื่องต่อไป

ไพรัช ใหม่ชมพู รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ในฐานะเลขาธิการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เลยกล่าวย้ำและแจกแจงกับผู้ร่วมประชุมเต็มห้อง

แนวทางดำเนินงานของกองทุนได้รับบริจาคมาเท่าไหร่มอบให้ผู้ขอทุนหมด เริ่มจาก 1 มกราคมของทุกปีเปิดขอรับบริจาคจากชาวเชียงใหม่และต่างจังหวัดที่มีจิตศรัทธา กุมภาพันธ์เดือนแห่งการรับขอทุน มีนาคม เมษายน กรรมการจะลงไปบ้านผู้ขอทุนทุกหลังคาเรือน พื้นที่ห่างไกลทรุกันดารเราก็จะไป กรรมการภาคีที่เกษียณแล้วไปช่วยกันพูดคุย หาข้อมูล ดูสภาพจริง เหตุผลความจำเป็น ปลายเมษายนประเมินผลและประกาศรายชื่อผู้รับทุนภายใน 30 เมษายน

กำหนดมอบทุนวันที่ 8 พฤษภาคม

 

นับตั้งแต่มกราคมถึงวันแจกทุน เราเก็บเงินที่ได้รับบริจาคไว้ 4 เดือน 8 วัน โดยเปิดบัญชีจ่ายไปที่ตัวเด็กเลย ให้ไปจัดซื้อหาสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้เอง เราไม่ได้ซื้อให้

“การขอรับทุนปีแรกปรากฏว่านักเรียนบางคนขอถอนตัว เขาบอกว่าเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ขอทุนด้วยกันแล้ว เขายังมีช่องทางช่วยตัวเองได้”

การให้ทุนครั้งที่ 1 ปี 2561 มีทั้งหมด 11 ประเภท ได้แก่

1. ทุนการศึกษาสายสามัญ

2. ทุนการศึกษาสายอาชีพ

3. ทุนประกอบสัมมาชีพระหว่างเรียน

4. ทุนประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา

5. ทุนสนับสนุนบุคลากร สื่อการเรียน อาคารเรียน อาคารประกอบ

6. ทุนสนับสนุนจัดตั้งและพัฒนาสภาการศึกษาอำเภอ

7. ทุนสนับสนุนพัฒนาและสนับสนุนเชิดชูเกียรติบุคคล ครู บุคลากร อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ดูแลเด็ก ศูนย์การเรียนรู้

8. ทุนสนับสนุนหมู่บ้านหรือชุมชนที่จัดภูมิทัศน์ทางสังคม

9. ทุนสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ สถานประกอบการที่สนับสนุนการศึกษา

10. ทุนสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา

11. ทุนสนับสนุนการบริหารจัดการ คณะกรรมการบริหารภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา

ปีแรกได้รับบริจาครวมทั้งสิ้น 2,717,156.81 บาท ผู้รับบริจาคทั้งบุคคลและหน่วยงาน 126,760 ราย ผู้ส่งคำขอทุน 621 ราย มีคุณสมบัติครบ 557 ราย ผู้ที่ได้รับทุน 230 ราย

ทุกประเภทมีหลักเกณฑ์ การขอ การพิจารณา ประกาศชัดเจน เช่นเดียวกับรายชื่อผู้บริจาค ผู้รับทุน เป็นใคร เปิดเผยโปร่งใส ลงชื่อในเว็บไซต์ www.donateforedu.chiangmaipao.go.th สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

แบบคำขอทุนมีคำรับรองหรือความเห็นของครูประจำชั้น อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำชุมชน ฯลฯ เพื่อความรัดกุม รอบคอบ เป็นธรรม

 

การรับบริจาคครั้งที่ 2 ปี 2562 เปิดรับวันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงวันงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 4 วันที่ 30-31 มกราคม 2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,018,189.16 บาท

“มีอาสาสมัคร นักเรียน ครู อาจารย์ ผู้นำชุมชน ออกไปรับบริจาคตามที่ต่างๆ ตามโรงเรียน ชุมชน เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานในพื้นที่สังคม แต่ก่อนโรงเรียนระดมเน้นไปสร้างวัตถุ เดิมเน้นสอนในห้อง ไม่ได้ออกไปสัมผัสความเป็นไปภายนอก ปัจจุบันช่วยยกระดับจิตใจเด็ก ได้ช่วยเพื่อน ช่วย ผอ.โรงเรียน ช่วยคนยากจน ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียน เป็นส่วนหนึ่”ของหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่”

“กองทุน 10 บาทให้การเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์และทักษะของนักเรียนซึ่งไม่มีในหลักสูตรปกติ” เลขาฯ ภาคีทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปพบกับเด็กทุน เตรียมตัวมาเล่าเรื่องราวชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังรับทุน

ขณะที่คุณพายัพ สราภิรมย์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดลำพูน ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครประเมินผู้รับทุนกองทุน 10 บาท เล่าต่อว่า ที่ลำพูนมีกองทุนเหมือนกัน ชื่อกองทุนเพชรลำพูน อบจ.ตั้งงบฯ ล่ำซำให้ทุกปี แต่ให้นำเฉพาะดอกผลไปใช้ ถ้าสร้างกฎเกณฑ์ที่มีคุณภาพ ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็ทำต่อเนื่องได้ทุกปี

“การมอบทุน เราให้ตามจริง ตามความจำเป็น ด้วยความยุติธรรม เด็กมีฐานะก็มี เราอธิบายให้เขาฟัง ยังมีคนที่เดือดร้อน ยากลำบากกว่าอีกมาก เด็กมีคุณธรรม ยอมรับ ก่อนเปลี่ยนใจไม่ขอก็มี”

 

ทีมงานกรรมการกลั่นกรองผู้ขอรับทุนหลายคน หลายสาย ได้พบเห็นสภาพจริง ได้ฟังเรื่องราวชีวิตแสนเศร้าสะเทือนใจต่างๆ กันไป

“ที่บ้านแม่สะต๊อป ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม เด็กขอทุนเรียนสายอาชีพสองรายเป็นปกากะญอ ลงจากดอยตั้งแต่เล็กๆ เรียนมัธยมที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อำเภอแม่แจ่ม ตอนนี้พี่เรียนการโรงแรม มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา น้องเรียน ปวส. คหกรรมวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เช่าหอพักในเมืองเชียงใหม่อยู่ด้วยกัน ทำงานช่วงเลิกเรียนตอนเย็น และวันเสาร์ อาทิตย์ หาเงินเรียนหนังสือ ยังมีน้องอีก 2 คน เรียนอยู่มัธยม”

พ่อทำไร่ ส่งเงินให้ลูกบ้าง ครั้งละ 300-500 บาท ลูกประทับใจและขอบคุณพ่อแม่ที่อนุญาตให้เรียนหนังสือ พี่น้องมีความฝันจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง”

“พ่อบอกกับผมว่า ถ้าไม่ให้ลูกเรียน ลูกก็ต้องทำไร่ แต่งงานอยู่บนดอย ยากจนต่อไป ผมเห็นความมุ่งมั่นของเด็กทั้งสองแล้วก็น้ำตาคลอ”

บทบันทึกจากการเดินทางไปสัมภาษณ์นักเรียนด้วยตนเองของไพรัช ใหม่ชมพู รวบรวมข้อมูลไว้อย่างละเอียดทุกคนที่ไปสัมภาษณ์เพื่อเสนอกรรมการพิจารณาทุน 10 บาทในการช่วยเหลือต่อไป

 

ผมอ่านแล้วพลอยน้ำตาซึมไปด้วย ก่อนดอดไปสุ่มการให้ทุนกับหน่วยงานทางการศึกษาประเภททุนวิจัยและพัฒนา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอโครงการวิจัยและพัฒนาทักษะชีวิตแบบมีส่วนร่วม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในหอพักนอนโรงเรียนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ สาระน่าสนใจทีเดียว

ภาพหอพักนอนที่โรงเรียนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผุดขึ้นมาในความทรงจำทันที

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุน 135,000 บาท มีข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ขาดแคลนยากลำบากอย่างไร คณะทีมนักวิจัยเป็นใคร ต้องติดตาม