วิรัตน์ แสงทองคำ : ชีวิตหลายบทของ “อานันท์ ปันยารชุน”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

นักอุตสาหกรรม

อานันท์ ปันยารชุน เปิดฉากเส้นทางชีวิตใหม่ เข้าเป็นรองประธานกรรมการบริษัทสหยูเนี่ยน(ปี 2522) ขณะธุรกิจกำลังเติบโต มีบุคลิกน่าสนใจ

หนึ่ง-สหยูเนี่ยนก่อตั้งขึ้นโดยดำหริ ดารกานนท์ ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจในฐานะ “หลงจู๊” สหพัฒนพิบูล และในฐานะน้องภรรยา เทียม โชควัฒนา “ความแตกต่างระหว่างดำหริกับเทียมก็คือ ดำหริจะมีความใฝ่ฝันเป็น “นักอุตสาหกรรม” ยิ่งกว่าเป็น “นักการค้า” แบบเทียม เพราะเชื่อว่าเส้นทางอุตสาหกรรมจะไปได้ไกลกว่า…” (จากหนังสือ “Untold story ประธานเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” โดยสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล)

สอง-สหยูเนี่ยนปรับตัวสู่โมเดลใหม่ สร้างสายสัมพันธ์ใหม่ ดึงอดีตข้าราชการระดับสูงเข้ามาบริหารงานอย่างจริงจัง เริ่มจากกรณีอำนวย วีรวรรณ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง (เข้ามาปี 2520) แล้วตามมาด้วยอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้ผลดีทีเดียว กลายเป็นบริษัทยุคใหม่ และเติบโต

อานันท์ ปันยารชุน มีบทบาทกว้างขึ้นเป็นลำดับ สู่ภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศ ขณะอุตสาหกรรมไทยกำลังพัฒนา จาก “ทดแทนการนำเข้า” สู่บทบาทกว้างขึ้นๆ ไม่ว่า “รับจ้างผลิต” หรือเป็นห่วงโซ่ซัพพลายเชนระดับโลก

อานันท์ ปันยารชุน เป็นอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย (2523) ขณะนั้นยังไม่ได้ยกฐานะเป็นสภาอุตสาหกรรม และเป็นประธาน ASEAN TASK FORCE (2525-2526) เป็นจุดเริ่มต้นความพยายามหลอมรวมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมขึ้น เขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภา

ภาพ “นักการทูต” ผู้โดดเด่น ค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “นักอุตสาหกรรม “ใหม่ ท่ามกลางเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทย เป็นแรงดึงดูดให้เขามีบทบาทเชื่อมโยงจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเติบโตไปสู่ธนาคาร แกนกลางสังคมธุรกิจไทย

โดยเข้าเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งแรก (2527) ในช่วงจังหวะธนาคารเก่าแก่ของไทยกำลังก้าวกระโดดสำคัญ กับทีมบริหารรุ่นใหม่ นำโดย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ผู้จัดการใหญ่ 2527-2535)

 

นายกรัฐมนตรี

แต่แล้วบทบาทของเขาได้พลิกผันและมีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ถือว่าเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ได้ใช้โอกาสนั้นดำเนินแผนการทางยุทธศาสตร์ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นโยบาย “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ยุคชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (2531-2534) สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปี 2531 อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (GNP) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 13.2% ในปี 2533 ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะลุ 1,000 จุดเป็นครั้งแรก มีบริษัทจดทะเบียนถึง 214 บริษัท และ 3 ปีจากนั้นดัชนีหุ้นไทยพุ่งทะลุ 1,500 จุด

ธุรกิจไทยก้าวเข้าสู่เวทีโลกเป็นครั้งแรกๆ ยูนิคอร์ด ระดมทุนจากตลาดหุ้นไทย เข้าซื้อกิจการผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ายักษ์ใหญ่ระดับโลก-Bumble Bee (ปี 2532) ดุสิตธานี เครือข่ายโรงแรมแรกๆ ของไทยเข้าซื้อเครือข่ายโรงแรมยุโรป-Kempinski (ปี 2534) รวมทั้งเอสซีจี ลงทุนกิจการเซรามิกในสหรัฐ-TileCera Inc ในปี 2533 และธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มเปิดสาขาทั่วภูมิภาคอินโดจีนในปี 2534

ไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะสะดุดช่วงสั้นๆ จากการรัฐประหาร แต่หักมุมด้วยมีนายกรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับการยอมรับ

 

มีคำอธิบายบางแง่มุมถึงสาเหตุการรัฐประหาร ควรบันทึกไว้

“ทหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารในเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ท่านชาติชายคงเดินหมากผิด ท่านคิดว่าทหารมีเสียงฮึ่มๆ มาก ท่านก็ไปนำคนที่ท่านคิดว่าคุมเขาได้คือ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทหารเขายิ่งกลัวใหญ่ ว่าจะไปปลดเขา เลยคุมตัวท่านและ พล.อ.อาทิตย์ ขณะที่กำลังบินไปถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่” อมเรศ ศิลาอ่อน เล่าไว้ในหนังสือของเขา (“ทำดีแล้ว อย่าหวั่นไหว” อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 2556)

เรื่องเล่าอมเรศ ศิลาอ่อน น่าสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้เล่าเป็นรัฐมนตรี ทั้งในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2532-2534) และต่อเนื่องตลอดช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2534-2535)

อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลซึ่งมีบุคลิกเฉพาะ (รัฐบาลอานันท์-หนึ่ง 6 เมษายน 2535-24 พฤษภาคม 2535 และรัฐบาลอานันท์-สอง 10 มิถุนายน 2535-23 กันยายน 2535) อยู่ในช่วงเวลาและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สามารถการเดินแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ ภายใต้สิ่งแวดล้อม สามารถทำงานได้อย่างรวบรัดและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองแบบปกติ

โดยเฉพาะออกกฎหมายหลายฉบับ เชื่อว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ในแนวทางผ่อนคลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนระดับธุรกิจ รัฐบาลมีบทบาทโดยตรงในกระบวนการจัดสรร สร้างความสมดุลใหม่ ให้ธุรกิจสำคัญก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างราบรื่น ปรากฏกรณีสำคัญๆ

ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นยังไม่มีใครสนใจเขามากนัก แม้มีธุรกิจจากระบบสัมปทานสื่อสารถึง 8 โครงการ(ในช่วงปี 2533-2534)โดยปิดท้ายด้วยโครงการดาวเทียม ดีลที่จบลงอย่างพอใจในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ความสนใจเกี่ยวกับตัวทักษิณ ชินวัตร เริ่มขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่เวลานั้น เมื่อ Asian Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ธุรกิจของสหรัฐยกเขาเป็นนักธุรกิจดาวรุ่ง

กรณีทรูคอร์ปอเรชั่น เกิดขึ้นในยุคนั้นเช่นกัน ซีพี-เครือข่ายธุรกิจใหญ่และทรงอิทธิพล พยายามก้าวข้ามจากธุรกิจดั้งเดิมสู่ธุรกิจใหม่ เป็นเจ้าของสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานในเขตเมืองหลวง ด้วยกระบวนการเจรจาต่อรองโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี (อานันท์ ปันยารชุน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นุกูล ประจวบเหมาะ) เรื่องราวการเจรจาวงในบางส่วน ระหว่างรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน กับธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ได้เปิดเผยในหนังสือ “ชีวิตที่คุ้มค่า” ฉบับสมบูรณ์ อัตชีวประวัติของนุกูล ประจวบเหมาะ สำนักพิมพ์นานมี 2555)

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ริเริ่มโครงการใหม่ที่น่าทึ่ง-ทีวีเสรี มาจากแรงจูงใจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จากเสียงเรียกร้องให้เปิดสถานีโทรทัศน์ใหม่ให้ผู้คนมีโอกาสรับรู้ข่าวสารได้อย่างเสรี มากกว่าฟรีทีวี 4 ช่องเดิม

แม้โครงการมิได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในรัฐบาลอานันท์ แต่ด้วยมีแผนการอย่างชัดเจน รัฐบาลต่อมา (ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์) จึงได้ดำเนินจนเป็นผล

ในปี 2538 กลุ่มสยามทีวี โดยแกนหลักคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สหศีนิมา (มีสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่) และสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ชนะการประมูล

สยามทีวีไม่เพียงมีกิจการทีวีเสรีในระบบ UHF ยังมีธุรกิจสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เป็นเครือข่ายธุรกิจสื่อที่เติบโตและขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ในกระแสหลักสังคมธุรกิจในเวลานั้น

 

นายธนาคาร

เมื่ออานันท์ ปันยารชุน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้กลับเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้ง (ตั้งแต่ปี 2535) ในช่วงเวลาการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยิ่งใหญ่ของเครือข่ายธุรกิจข้างเคียงธนาคารแต่แล้วตามมาด้วยความผันแปรอย่างรวดเร็วในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 (รวมทั้งกรณีสยามทีวีและทีวีเสรีด้วย) ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างไรเสีย ธนาคารก็สามารถปรับตัว สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาได้

ภาพลักษณ์อานันท์ ปันยารชุน เคยผูกกับสหยูเนี่ยน (กรรมการ 2522-2533 และประธานกรรมการ 2533-2544) มานานได้คลายตัว มาอยู่กับธนาคารไทยพาณิชย์อย่างแนบแน่น ธนาคารซึ่งมีบทบาทอย่างโลดโผนในสังคมธุรกิจไทยตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงเดียวกันกับเขาเป็นกรรมการธนาคารอย่างยาวนานถึง 22 ปี ก่อนก้าวขึ้นเป็นนายกกรรมการในปี 2550

“ตลอดระยะเวลา 22 ปี อานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำพาธนาคารผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในหลายยุค” ถ้อยแถลงสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งที่ประกาศแต่งตั้งนายกกรรมการคนใหม่แทนจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (มีนาคม 2550)

ภาพอานันท์ ปันยารชุน ผูกติดกับธนาคารไทยพาณิชย์เป็นพิเศษมากขึ้น ด้วยเขาไม่มีบทบาทในธุรกิจอื่นที่สำคัญๆ ขณะธนาคารไทยพาณิชย์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกครั้ง

ดูเหมือนเขาเป็นบุรุษอ้างอิงคนสำคัญในสังคมไปแล้วอย่างแท้จริง ด้วยบทบาทสาธารณะที่กว้างขึ้นด้วย โดยเฉพาะในองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย (2539-ปัจจุบัน) กรรมการ U Thant Institute (2546-ปัจจุบัน) และประธานกรรมการที่ปรึกษา The Carlos P. Romulo Foundation (2539-ปัจจุบัน)

คงมีเพียงตำแหน่งที่ปรึกษาธุรกิจ (Consultant) Chevron Asia South (2549-ปัจจุบัน) เท่านั้นที่น่าสนใจ แตกต่างออกไป

ทว่า Chevron เครือข่ายธุรกิจพลังงานระดับโลกแห่งสหรัฐ ดูเหมือนกำลังลดบทบาทธุรกิจในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยในระยะใกล้ๆ นี้พอดี แม้ว่า Chevron (ต่อเนื่องมาจาก Unocal ด้วย) จะเคยมีบทบาทสำคัญด้านพลังงานไทยมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ สะท้อนผ่านกรณีล่าสุด เพิ่งแพ้ประมูลต่อสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งสำคัญในอ่าวไทยให้กับกลุ่ม ปตท.

อานันท์ ปันยารชุน กับวาระสิ้นสุดบทบาทในธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานถึง 34 ปี จะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านในระดับกว้าง อย่างไร หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม