หน้า 8 : มาตรฐานเดียว

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “เส้นมาตรฐาน” แห่งต่อมคุณธรรมและจริยธรรมของรัฐบาลถูกตั้งคำถาม

เมื่อ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แจ้งบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า ได้รับค่าที่ปรึกษาจากบริษัทไทยเบฟฯ เป็นเงินเดือนละ 50,000 บาท

ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีมีอยู่ 2 คำถาม
1. ผิดกฎหมายหรือไม่
2. ควรทำหรือไม่

คำถามแรกนั้นมีการเทียบเคียงกับกรณีของ นายสมัคร สุนทรเวช ตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปรับเงินค่าพิธีกรจากรายการ “ชิมไปบ่นไป”

ครั้งนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ “พจนานุกรม” ตีความ คำว่า “ลูกจ้าง” แทนที่จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายภาษีอากร

เสมือนว่า “พจนานุกรม” มีศักดิ์และสิทธิ์ เหนือกว่า

พจนานุกรมระบุว่า “ลูกจ้าง” หมายถึง “ผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร”

นายสมัคร จึงกลายเป็น “ลูกจ้าง” ของเจ้าของรายการ “ชิมไปบ่นไป”

พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คําถามแรก คงต้องตีความตามกฎหมายต่อไป

แต่คำถามที่สองน่าสนใจกว่า

สมควรหรือไม่ที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะรับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทเหล้า

“ไทยเบฟฯ” เป็นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

เพียงแต่สินค้าของเขาคือ “เหล้า” และ “เบียร์” ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

และ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้ “ตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล” เป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ กทม. ด้วย

คำว่า “สมควรหรือไม่” เป็นคำถามทางจริยธรรม

อะไรควรทำ

และอะไรไม่ควรทำ

 

ถามว่ารัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไร

คำตอบไม่ได้ลอยอยู่ในสายลม

แต่อยู่ที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

ถ้าปลัดกระทรวงกลาโหมอนุมัติให้ลูกชายเป็นทหาร

ถ้าลูกชายอีกคนหนึ่งรับงานก่อสร้างจากกองทัพ

ถ้ารัฐมนตรีให้ “ผู้หญิงคนสนิท” และนักธุรกิจร่วมทริปไปต่างประเทศ

ถ้าเซียนพระรับ “ค่าหัวคิว”

ทำแบบนี้แล้วไม่ผิด

กรณีของ “ศานิตย์” จึงเป็นเรื่องจิ๊บ-จิ๊บ

และไม่สามารถกล่าวหาได้ว่ารัฐบาล “2 มาตรฐาน”

เพราะนี่คือ “มาตรฐานเดียว”

มาตรฐานของ “พวกเรา”

…ได้หมด ถ้าสดชื่น