คนมองหนัง | 2 คอนเสิร์ตใหญ่ ของวง “ทริโอ” ยอดฝีมือ

คนมองหนัง

ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน จะมีคอนเสิร์ตใหญ่ของสองวงดนตรี “ทริโอ” ระดับยอดฝีมือในวงการเพลงไทยสากล ถูกจัดขึ้นติดต่อกันชนิดวันชนวัน

“ทริโอ” ในที่นี้ อาจมิได้หมายถึงสถานภาพของการเป็นวงที่ประกอบด้วย “เครื่องดนตรี 3 ชิ้น” ดังนิยามมาตรฐานทั่วไป หากหมายถึงการเป็นวงดนตรีที่มีสมาชิกหลักจำนวน 3 ราย

วงทริโอแรก คือ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ศิลปินกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุคปลายทศวรรษ 2530 ถึงกลางทศวรรษ 2540 ซึ่งห่างหายจากเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ไปนาน

วงทริโอลำดับถัดมา คือ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ศิลปินกลุ่มอันเกิดจากการรวมตัวของนักร้อง-นักแต่งเพลงรุ่นเก๋าวัยใกล้ 70 ปี ซึ่งขยันขันแข็งในการแสดงสดมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 2-3 ปีหลัง

“โซลอาฟเตอร์ซิกส์” คือหนึ่งใน (อดีต) กลุ่มศิลปินยังบลัดของค่ายเบเกอรี่มิวสิค ซึ่งก่อตัวขึ้นในยุค “อัลเทอร์เนทีฟครองเมือง” แม้แนวทางดนตรีของพวกเขาจะไม่ใช่ “อัลเทอร์เนทีฟร็อก” หากเป็น “โซลแจ๊ซ” ที่แข็งแรงด้วยแผงเครื่องเป่า

สามสมาชิกหลักของวงประกอบด้วย สองพี่น้อง “ณรงค์ฤทธิ์-วิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช” ซึ่งรับบทบาททั้งร้องนำ-ร้องประสาน-แต่งเพลง-เล่นเปียโน และ “ศรุต (วิทย์) วิจิตรานนท์” ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากงานแสดงละครโทรทัศน์ (เช่น การรับบทเป็น “ออกพระเพทราชา” ใน “บุพเพสันนิวาส”) ซึ่งรับหน้าที่เดินเบสด้วยลีลาอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ถ้าเทียบกับวงดนตรีร่วมสังกัดที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” อาจโด่งดังน้อยกว่า “พอส” หรือ “โยคีเพลย์บอย” ทว่าพวกเขาก็มีเพลงฮิตระดับอมตะนิรันดร์กาล ซึ่งเคยถูกขนานนามให้เป็น “เพลงชาติประจำแหล่งท่องราตรี” ในยุคสมัยหนึ่ง นั่นคือ “ก้อนหินละเมอ”

ขณะเดียวกัน “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ก็ดูจะล้ำหน้าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในเบเกอรี่มิวสิค หากวัดความสำเร็จจากรางวัลทางด้านดนตรีที่พวกเขาได้รับ

สตูดิโออัลบั้มชุดแรกที่มีชื่อเดียวกับวง ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2539 ส่งผลให้ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ได้รับรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 9 ไปถึง 3 สาขา ได้แก่ ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม, ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (“อีกทีได้ไหม”)

สตูดิโออัลบั้มชุดต่อมา ชื่อ “เดอะ ริธึ่ม” ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2545 ส่งผลให้ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ทำแฮตทริกบนเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 15 อีกคำรบ โดยพวกเขาได้รับรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม, ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (“ยังไม่พร้อม”)

หลังจากนั้น “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ออกอัลบั้มพิเศษชื่อ “เมลโลว์ มู้ดส์” ใน พ.ศ.2546 โดยนำเพลงไทยสากลยุค 80-90 มาคัฟเวอร์ใหม่ มีผลงานดังๆ อาทิ “รักเก่าเก่า” (ต้นฉบับโดยวง “สามหน่อ”) และ “หากคิดจะรัก…ก็รัก” (ต้นฉบับโดย “อิทธิ พลางกูร”)

ที่ผ่านมา ดูเหมือน “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” จะเคยมีคอนเสิร์ตใหญ่อยู่แค่สองครั้ง ในระหว่างการออกสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองกับอัลบั้มพิเศษ นอกนั้น พวกเขาก็ตระเวนแสดงสดในรูปแบบมินิคอนเสิร์ตเป็นครั้งคราว ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ได้ร่วมชมต่างตระหนักคล้ายคลึงกันว่าโชว์ของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” นั้นมีความเนี้ยบอยู่เสมอ และมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับการนั่งฟังเพลงจากแผ่นซีดี

น่ายินดีว่าหลังจากผลิตซิงเกิลใหม่ออกมารวม 5 เพลง ระหว่างปี 2555-2561 “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ก็ได้ฤกษ์จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Soul After Six ความทรงจำของก้อนหิน”

ในวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์

แม้จะมีแกนกลางเป็นสมาชิกหลัก 3 คน แต่ทุกๆ การแสดงสดของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” นั้นต้องการทีมนักดนตรีสนับสนุนคุณภาพสูงจำนวนมาก รวมถึงคอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ตำแหน่งกลอง หน้าที่หลักจะตกเป็นของ “สู ดรัมเทค” มือกลองบันทึกเสียงมากประสบการณ์ ที่ร่วมงานกับ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” มาตลอดในช่วงหลัง

สมทบด้วยมือกลองเก๋ากึ้กวัยย่าง 70 ปี ที่เคยร่วมงานกับ “บางกอก คอนเนคชั่น” และ “อินฟินิตี้” และเคยตีกลองบันทึกเสียงในอัลบั้มชุดแรกของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” นั่นก็คือ “วรรณยศ มิตรานนท์” ซึ่งเพิ่งเรียกเสียงฮือฮาจากการไปร่วมรายการ “ซูเปอร์ 60+ อัจฉริยะพันธุ์เก๋า” เมื่อปลายปี 2561

แม้จะมีสมาชิกหลักอย่าง “บิ๊ก ศรุต” รับบทบาทมือเบสชั้นดีอยู่แล้ว แต่เสียงเบสบันทึกเสียงในบางเพลงของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์ ก็เป็นฝีมือของ “วิโรจน์ สถาปนาวัตร” นักดนตรีระดับครูของวงการ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ศรุตจึงเชื้อเชิญอาจารย์ของเขามาร่วมแจมเบสด้วยกันบนเวที

ที่ประจำการตรงตำแหน่งคีย์บอร์ด คือ “ปธัย วิจิตรเวชการ” หรือ “อั๋น บางกอก คอนเนคชั่น” ซึ่งนอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งทำนอง-เรียบเรียงเพลงในสังกัดแกรมมี่ เขายังบันทึกเสียงและร่วมแสดงสดกับ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” มาอย่างยาวนาน

มือกีตาร์หลักในการแสดงสดทุกครั้งและงานบันทึกเสียงส่วนใหญ่ของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” คือ “ธีรพงษ์ สวาสดิ์วงศ์” อดีตสมาชิกวง “บางกอก คอนเนคชั่น” ผู้เคยออกอัลบั้มเดี่ยวในนาม “กัปตันโลมา”

มือกีตาร์อีกรายที่เคยร่วมบันทึกเสียงในผลงานเพลงบางส่วนของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” อีกทั้งเคยร่วมแสดงในคอนเสิร์ตใหญ่หนแรกสุด ซึ่งจะกลับมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งนี้ด้วย ก็คือ “ธนภัทร มัธยมจันทร์” ผู้จบการศึกษาจาก “เบิร์กลี” วิทยาดนตรีชื่อดังในสหรัฐอเมริกา

มือกีตาร์รุ่นอาวุโสอีกคนที่จะมาร่วมสร้างสีสัน คือ “โอสถ ประยูรเวช” หัวหน้าวง “บางกอก คอนเนคชั่น” เจ้าของฉายา “จอร์จ เบนสัน เมืองไทย” ซึ่งเคยมาอวดฝีมือและสร้างเสียงหัวเราะเมื่อคราวคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์”

ที่แผงเครื่องเป่าทองเหลือง จะนำทีมมาโดย “มารัต ยุลดีบาเยฟ” นักแซ็กโซโฟนรุ่นเก๋าชาวรัสเซีย ซึ่งลูกค้า “แบมบู บาร์” แห่งโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ คงคุ้นเคยหน้าตาและฝีไม้ลายมือเป็นอย่างดี มิสเตอร์มารัตเล่นดนตรีบันทึกเสียงให้ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” มาตั้งแต่สตูดิโออัลบั้มชุดแรก ทว่าเป็นเวลานานถึง 16 ปีแล้ว ที่เขาไม่ได้ร่วมขึ้นเวทีแสดงสดกับทางวง

มือแซ็กโซโฟนหลักอีกคน คือ “พิสุทธิ ประทีปเสน” อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร และอดีตสมาชิกวง “ทีโบน”

มือทรัมเป็ตสองคนที่จะมาร่วมเล่นกับ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ได้แก่ “สุรสีห์ ชานกสกุล” ที่จบปริญญาเอกด้านดนตรี จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ “พีรพัฒน์ บัวนิลเจริญ” สมาชิกของ “เดอะ บีกินส์ แกรนด์” (ทีมนักดนตรีประจำรายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์) ทั้งยังเล่นดนตรีให้วง “เดอะ กรูฟโตเมติกซ์ 11” ของ “นภ พรชำนิ”

นักดนตรีสนับสนุนรายสุดท้ายของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ที่มาจาก “เดอะ บีกินส์ แกรนด์” และ “เดอะ กรูฟโตเมติกซ์ 11” เช่นกัน คือ มือทรอมโบนอย่าง “จิรธิติกานต์ เหมสุวรรณ”

เมื่อผนวกกับรายชื่อนักร้องรับเชิญ ได้แก่ “บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์” “เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ” และ “มาเรียม เกรย์” แห่ง “บีไฟว์” แล้ว ก็ต้องบอกว่า “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” มีแนวโน้มจะจัดเต็มแบบครบเครื่องจริงๆ ในคอนเสิร์ตใหญ่ปลายเดือนพฤษภาคม

“ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” เกิดจากการรวมตัวกันของ “ชรัส เฟื่องอารมย์” นักร้อง-นักแต่งเพลงรุ่นเก๋า “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” นักร้องเพลงป๊อปชื่อดังรุ่นเดียวกับชรัส และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” โปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงคนสำคัญในยุค 80-90 ซึ่งเป็นเพื่อนรัก-เบื้องหลังความสำเร็จยุคแรกเริ่มของชรัสและไพบูลย์เกียรติ

คิดว่าคงไม่ต้องสาธยายอะไรมากมายกันอีกแล้วเกี่ยวกับภูมิหลังและผลงานของทั้งสามคน ตลอดจนกิจกรรมการบันทึกคลิปเล่นดนตรีและการแสดงสดของพวกเขาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

แต่ข่าวที่น่าทึ่งไม่น้อยในยุค “โรยรา” ของอุตสาหกรรมดนตรี ก็คือ ในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน (หนึ่งวันหลังโชว์ของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์”) “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” จะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่สามในรอบ 4 ปี ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ ภายใต้ชื่อ “ดึกดำบรรพ์ ปั่น แต๋ม ตุ่น ไลฟ์ @ สกาล่า”

หลังจากคอนเสิร์ต “อัศจรรย์…รัก” เมื่อปี 2559 และ “ดึกดำบรรพ์ # 201 ปั่น แต๋ม ตุ่น Concert” เมื่อต้นปี 2561

ในวัย 67-68 ปี ต้องนับว่าชรัส, ไพบูลย์เกียรติ และพนเทพ ถือเป็นคนดนตรีรุ่นเก่าที่ยังมีพลังสร้างสรรค์อยู่เต็มเปี่ยม

โดยเฉพาะกรณีของพนเทพ ที่แม้จะเกษียณอายุจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาแล้วหลายปี แต่ปัจจุบัน เขากลับกระตือรือร้นอย่างยิ่งในภารกิจลำลองซึ่งต้องสวมหมวกสองใบ

ทั้งการเป็นใจกลางหลักของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” และแกนนำวง “นั่งเล่น” ซึ่งประกอบด้วยเพื่อนๆ คนเบื้องหลังมากฝีมือ (อาทิ กมลศักดิ์ สุนทานนท์, ปิติ ลิ้มเจริญ, เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ และอิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นต้น)

ถ้า “ดึกดำบรรพ์ฯ” โด่งดังในโลกโซเชียลจากการนำเพลงฮิตเก่าๆ ของตนเองมาขับร้องบรรเลงใหม่ “นั่งเล่น” ก็สร้างชื่อบนพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านบทเพลงใหม่ๆ ที่ถูกแต่งขึ้นในยุค “หลังแกรมมี่”

น่าสนใจว่าก่อนหน้าจะมีข่าวคราวคอนเสิร์ตใหญ่หนที่สามของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” เผยแพร่ออกมา พนเทพและมิตรสหายวง “นั่งเล่น” ก็เพิ่งบันทึกเสียงผลงานเพลงของพวกตน เพื่อนำไปผลิตเป็นแผ่นไวนิลออกจำหน่าย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม

นี่คือศิลปินลายครามผู้ยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางภาวะผันผวนของธุรกิจดนตรีได้อย่างน่าชื่นชม

ผู้สนใจชมคอนเสิร์ตของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” และ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” สามารถซื้อบัตรได้ทาง http://www.thaiticketmajor.com/