ฉัตรสุมาลย์ : ตกลงภิกษุณีลงคะแนนเสียงได้ไหม

มันมีวิธีคิดสองระบบที่มันเกยทับกันอยู่ คือคิดตามพระธรรมวินัย หรือคิดตามกฎหมาย

หากคิดตามพระธรรมวินัย ภิกษุณีได้รับการบวชถูกต้องเป็นนักบวช ก็ไม่ควรจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะตามกฎหมายว่าไว้อย่างนั้น ห้ามมิให้นักบวชลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ภิกษุณีสมัยนี้ ในประเทศไทยก็มีอย่างต่ำ 270 รูป กระจายกันอยู่ในอย่างน้อย 30 จังหวัด ทั้ง 4 ภาคของประเทศแล้ว

แต่ที่เกิดเป็นปัญหาก็คือ ภิกษุณียังไม่มีฐานะของการเป็นนักบวชตามกฎหมายของไทย เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุณีก็ยังเป็นประชาชน ต้องไปเลือกตั้ง

ท่านธัมมนันทาต้องการทดสอบรัฐ โดยเฉพาะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีจุดยืนอย่างไร และจะปฏิบัติต่อภิกษุณีอย่างไร เมื่อภิกษุณีไปเลือกตั้งตามสิทธิของประชาชน ในเมื่อรัฐยังไม่ให้สิทธิของการเป็นนักบวชตามกฎหมาย

ปรากฏว่า ลงล็อกเลยค่ะ ภิกษุณีและสามเณรีจากวัตรทรงธรรมกัลยาณี บางรูปก็ได้หย่อนบัตรลงคะแนนเสียง บางรูปก็ไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้ง

ทุกรูปที่ออกไปลงคะแนน มีจดหมายไปจากวัตรด้วยว่า ท่านบวชมาอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่มาลงคะแนนเพราะกฎหมายยังไม่ยอมรับว่าท่านเป็นนักบวช

หากที่ศูนย์หย่อนบัตรใดไม่อนุญาตให้ท่านหย่อนบัตร ก็ลงนามและบอกสาเหตุด้วยว่าไม่ให้หย่อนบัตรเพราะเหตุใด

 

ที่นครปฐมและสุพรรณบุรี ภิกษุณีได้ใช้สิทธิการลงคะแนนเสียง เพราะมีจดหมายเรียกตัว มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีสิทธิในการลงคะแนน ได้รับการดูแลดี เจ้าหน้าที่จัดคิวเป็นสองแถว ไม่ใช่เพราะเป็นพระ แต่เพราะอายุมากเกิน 60 กลัวจะไปเป็นลมใส่ศูนย์เลือกตั้งจะเกิดความโกลาหลโดยใช่เหตุ

เขต 1 บางปลาม้า วัดสวนหงส์ ภิกษุณีไม่ได้ลงคะแนน เจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นนักบวช ต้องโทรศัพท์ไปถามปลัดและนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อภิกษุณีดีมากด้วยความเคารพ แต่ไม่ให้ลงคะแนนเพราะถือว่าเป็นพระเป็นนักบวช และยินดีลงนามกำกับมาในจดหมายว่า ไม่ให้ลงคะแนนเสียง เพราะเป็นนักบวช

หน่วย 41 เขต 20 เขตประเวศ ลงคะแนนที่ ร.ร.ราชดำริ สามเณรีได้ลงคะแนนเสียงเรียบร้อยดี

หน่วย 34-35-36 บางแค เจ้าหน้าที่ต้องระดมสมองช่วยกัน ทั้งสามศูนย์ คิดว่าเป็นนักบวชไม่น่าจะลงได้ ขณะที่กำลังปรึกษากัน ก็เชิญให้สามเณรีนั่งอย่างสุภาพ โทรศัพท์ไปคุยกับ สนง.เขต อึกอักอยู่เป็นพักใหญ่ แล้วก็ยอมลงนามให้ ในหนังสือที่ลงนามให้นั้นยืนยันว่า ไม่ให้ลงคะแนนเสียง เพราะปรากฏกายเหมือนพระ

ที่หน่วย 30 เจริญกรุง 85 สามเณรีของเราหน้าตาน่ารัก อายุ 75+ เจ้าหน้าที่ก็งุนงง ไม่ได้แต่งตัวอย่างประชาชน จะให้ลงคะแนนไหม แต่เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งว่า “มีชื่อนี่ น่าจะลงได้นะ”

เจ้าหน้าที่จากศูนย์โทร.เข้าไปหาเขตที่บางคอแหลม ทางโน้นตอบมาว่าไม่ได้อยู่ดี ทางศูนย์ก็เลยจะให้สามเณรีสูงอายุของเราเดินทางเข้าไปพูดคุยที่เขตเอง สามเณรีก็แย้งว่า ถ้าจะให้เดินทางไปที่เขต แล้วหากเขตอนุญาต ก็กลับมาไม่ทันลงคะแนนเลือกตั้ง แล้วจะให้ทำอย่างไร

สามเณรีก็ว่า ไม่เป็นไร ไม่ให้ลงคะแนนเสียงก็ได้ แต่ขอให้ลงชื่อกำกับในจดหมายที่ถือไปว่า ไม่ให้ลงคะแนน

เจ้าหน้าที่ผู้หญิงท่านหนึ่งบอกว่าไม่ได้ ไม่ลงชื่อ จะเป็นการผูกมัด เจ้าหน้าผู้หญิงอีกท่านหนึ่งว่า โซเชียลมีเดียกำลังแรง อย่าไปผูกมัดอะไรทั้งนั้น

ตกลงสามเณรีก็เดินข้ามถนนไปจะขึ้นรถกลับ เลือกตั้งก็ไม่ได้ จดหมายก็ไม่ยอมเซ็นให้

ปรากฏว่าก่อนที่รถโดยสารจะมา เจ้าหน้าที่ผู้หญิงคนเดียวกันนั้นวิ่งข้ามถนนมา ประคองคุณยายสามเณรีให้กลับไปหย่อนบัตร

ตกลงหน่วยนี้ให้คุณยายสามเณรีหย่อนบัตรค่ะ

 

คําถามก็คือ ภิกษุณีและสามเณรีรวม 9 รูปจากวัตรเดียวกัน ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งตามสิทธิของประชาชนคนไทยที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง 7 รูปได้ใช้สิทธิ แต่อีก 2 รูปไม่ได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้ง

หน่วยที่ไม่ได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งนั้น มีความเคารพในภิกษุณีมาก ทราบเรื่องการต่อสู้ตั้งแต่ครั้งที่ภิกษุณี 72 รูปไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าวัง จนในท้ายที่สุด 6 เดือนต่อมาเจ้าหน้าที่คนเดิมที่สกัดไม่ให้เข้าวังนั้น ลงนามในหนังสือนิมนต์ภิกษุณีให้เข้าวังได้ หน่วยดังกล่าวถือว่าภิกษุณีเป็นนักบวช จึงให้สิทธิเช่นเดียวกับภิกษุ คือเป็นนักบวช ไม่ต้องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

คำถามก็คือ กกต. หน่วยงานเดียวกัน ควรมีมาตรฐานเดียวกันในการปฏิบัติต่อภิกษุณี

ท่านธัมมนันทาไม่ได้เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง เพราะท่านเป็นภิกษุณีที่อุปสมบทถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่กฎหมายยังเลือกปฏิบัติโดยอ้างว่า ท่านไม่ใช่นักบวช ในกรณีที่ท่านจะได้ประโยชน์ แต่จะยกให้ท่านเป็นนักบวชในกรณีที่ท่านจะใช้สิทธิของประชาชน เช่นในการมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

เป็นการกระทำที่เรียกว่าสองมาตรฐานอย่างชัดเจน

 

ท่านวิษณุ เครืองาม คราวที่เป็นรองนายกฯ ในสมัยของนายกฯ ทักษิณ (2545) ออกมาตอบคำถามของคุณระเบียบรัตน์ ในสมัยที่ท่านเป็น ส.ว. ที่ท่านเสนอให้มีการรับรองภิกษุณีว่าเรื่องภิกษุณี เป็นเรื่องของสงฆ์ จึงต้องให้มหาเถรสมาคมเป็นคนตัดสิน

ตรงนี้ก็ผิดแล้วค่ะ

พ.ร.บ.สงฆ์นั้น ให้นิยามคำว่าสงฆ์ หมายถึงภิกษุสงฆ์เท่านั้น หมายถึงภิกษุสงฆ์ไทยที่บวชโดยคณะสงฆ์ไทย ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ไปอธิบายขยายความในมาตรา 5 ทวิ ก็รวมเอาจีนนิกาย และอานัมนิกาย (ญวน) เข้าไปด้วย ไม่มีภิกษุณีสงฆ์เช่นกัน

ผู้หญิงชาวพุทธส่วนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นจะสืบพระศาสนา ออกบวชเป็นภิกษุณีสายเถรวาทถูกต้องตามพระวินัย แม้ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ไทย ในฐานะที่เป็นประชาชนไทย รัฐบาลต้องให้การดูแล

อาจจะจัดตั้งหน่วยงานเล็กๆ ในกรมการศาสนา เพื่อรวบรวมรายชื่อภิกษุณีเหล่านี้ จะได้สืบที่มาที่ไป รู้สังกัดชัดเจน ในขั้นแรก อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวหรือสองคนก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี รัฐต้องดูแลค่ะ เพราะผู้หญิงเหล่านี้ นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาแล้ว ยังเป็นผู้เสียภาษีตัวจริงที่กลับไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ภาษีของรัฐเลย

รัฐจัดสรรงบประมาณ 5 พันล้านในแต่ละปีให้คณะสงฆ์ดำเนินงาน เป็นภิกษุสงฆ์ทั้งหมด

รัฐจึงต้องพิจารณาใหม่ ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนน้อยที่จะเป็นกำลังแก่พระศาสนาที่แท้จริงเช่นกัน