สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนตาย ‘ขวัญ’ ไม่ตาย พิธีศพนานหลายวัน เรียกขวัญคืนร่าง

งานศพในไทยมีมหรสพสนุกสนาน บางงานมีต่อเนื่องยาวนานหลายวันหลายคืน ล้วนเป็นพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญ ในศาสนาผีของอุษาคเนย์

ไม่มีไว้ทุกข์ และไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ เพราะในอินเดียไม่ทําพิธีศพนานหลายวัน

คนมีขวัญ

คนพื้นเมืองอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี มีความเชื่อเกี่ยวกับขวัญตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว สืบจนทุกวันนี้

เชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหายจากร่างของคน ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืน ขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง (แต่ไม่สําเร็จ)

หลังรับศาสนาพุทธจากอินเดียและลังกา มีความเชื่อเปลี่ยนไปเป็นเรื่องวิญญาณ แต่พิธีศพแบบพุทธก็ถูกปรับเป็นแบบศาสนาผี มีพิธีกรรมใช้เวลานานมาก อาจนานที่สุดในโลกก็ได้

[ความเชื่อแบบศาสนาพุทธว่าเวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วไม่ฟื้น เพราะวิญญาณที่มีดวงเดียวจะออกจากร่างของคนตาย แล้วไม่กลับร่างเดิม แต่ไปหาที่เกิดใหม่]

ขวัญ คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคน จึงเป็นสิ่งมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้

โดยมีลักษณะเป็นหน่วยๆ แล้วเคลื่อนไหวได้ แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และมีความสําคัญมากเท่าๆ กับส่วนที่เป็นร่างกาย

[คนมีส่วนประกอบสําคัญอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนที่เป็นตัวตนคือร่างกาย กับ 2.ส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือขวัญ]

ขวัญแต่ละคนมีจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับความเชื่อของกลุ่มชนนั้นๆ เช่น

ไทดําในเวียดนามเชื่อว่า “มีราว 80 ขวัญ อยู่ข้างหน้า 30 อยู่ข้างหลัง 50 ขวัญ” และ “ขวัญเป็นองค์ประกอบสําคัญอันจะขาดไม่ได้ของชีวิต มีขวัญจึงมีชีวิต” [ชาติพันธุ์นิพนธ์การตาย โดย ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ในหนังสือ ทฤษฎีบ้านเมืองฯ สํานักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 150]

ขวัญบนหัวตรงกลางกระหม่อม เรียกจอมขวัญ (หรือขวัญกก) นอกนั้นเรียกตามชื่ออวัยวะ เช่น ขวัญหู, ขวัญตา, ขวัญใจ, ขวัญมือ, ขวัญแขน, ขวัญขา ฯลฯ

ขวัญเป็นอํานาจกําหนดและกํากับการมีชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นคนหรือผี

หากขวัญสิงสู่อยู่ตามอวัยวะในร่างกายครบถ้วน ผู้นั้นเป็นคน หากขวัญแยกตัวหนีออกไป ผู้นั้นเป็นผี เรียกผีคน ขวัญที่แยกตัวหนีไป เป็นผีขวัญ

[ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์คําจอง โดย พิเชฐ สายพันธ์ ในหนังสือ ทฤษฎีบ้านเมืองฯ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 31]

ผีกับคน

มีผู้รู้ระบบความเชื่อนี้อธิบายว่า ผี (ทั้งผีคนกับผีขวัญ) จะขึ้นบนฟ้า ไปรวมพลังกับผีบรรพชนที่สิงสถิตอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว เพื่อเป็นพลังปกป้องคุ้มครองชุมชนกับคนเครือญาติยังมีชีวิตในโลกมนุษย์

จึงมีกิจกรรมเซ่นผีเลี้ยงผี แล้วไปมาหาสู่ระหว่างผีกับคนไม่ขาด

ดังมีข้อความตอนเริ่มต้นนิทานลุ่มน้ำโขง เรื่องกําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง กล่าวถึงกำเนิดจักรวาลมีดินหญ้าฟ้าแถน โดยผีกับคนไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ ดังนี้

“ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”

%e0%b8%96%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%87

ภาพเขียนงานศพ 2,500 ปีมาแล้ว

ภาพเขียนถ้ำลายแทง อ.ภูกระดึง จ.เลย โดยรวมเป็นภาพแสดงพิธีกรรมสำคัญมาก ในขณะนี้คิดว่าน่าจะเป็นงานศพ หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายยุคดึกดำบรรพ์

รูปคนทั้งแบบเงาทึบและแบบโครงร่าง ตั้งใจวาดไม่เข้าสัดส่วนคนจริงยุคนั้น (ทั้งๆ ทำได้) เพราะเป็นรูปบรรพชนตายไปเป็นผีขวัญสิงสู่อยู่เมืองบนเมืองฟ้า (หรือที่ใดที่หนึ่ง) ซึ่งไกลมากอีกฟากหนึ่งของน่านน้ำกว้างใหญ่

มีรูปคนแนวนอน น่าจะหมายถึงคนที่ขวัญหาย แล้วขวัญไม่คืนร่าง หมายถึงตาย

หมาเป็นสัตว์นำทางผีขวัญใหม่ที่ต้องเดินทางไกลมากไปอยู่กับบรรพชนเมืองฟ้า ผีขวัญใหม่ไปโดดเดี่ยวไม่ถูก

มีรูปคนทำท่าเป่าเขาสัตว์ หรือเป่าอะไรสักอย่างให้มีเสียงดัง กับมีรูปคนสวมหน้ากากเขาสัตว์และคนอื่นๆ ทำท่าคล้ายร้องรำทำเพลงในพิธีเรียกขวัญคืนร่าง (คนตาย)

ทั้งหมดนี้อาจมีผู้อธิบายเป็นอย่างอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องงานศพเท่านั้น